เซฟูรอกซิม (Cefuroxime)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาเซฟูรอกซิม (Cefuroxime) เป็นยาปฏิชีวนะในกลุ่มเซฟาโลสปอรินรุ่นที่ 2 (Second-generation cephalosporin antibiotic) ถูกค้นพบโดยบริษัทยา GlaxoSmithKline วางตลาดครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ. 1978 (พ.ศ. 2521) ภายใต้ชื่อการค้าว่า Zinacef

ยาเซฟูรอกซิมสามารถออกฤทธิ์ต่อต้านเชื้อแบคทีเรียกลุ่มต่างๆดังนี้เช่น Haemophilus (ย่อว่า H.) influenzae, Neisseria gonorrhoeae, Streptococcus pneumoniae, Moraxella (ย่อว่า M.) catarrhalis, Streptococcus pyogenes และ Lyme disease ทางคลินิกจึงนำยานี้มารักษาการติดเชื้อแบคทีเรียตามอวัยวะต่างๆของร่างกายเช่น หูชั้นกลาง โพรงไซนัส หลอดลม ผิวหนัง ท่อปัสสาวะ เป็นต้น

รูปแบบยาแผนปัจจุบันของยาเซฟูรอกซิมมีทั้งชนิดยารับประทานและยาฉีด กรณียารับประทาน หากรับประทานยาตอนท้องว่างระบบทางเดินอาหารจะดูดซึมยาเข้าสู่กระแสเลือดได้ประมาณ 37% แต่การรับประทานยาพร้อมอาหารการดูดซึมยาจะเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 52% และร่างกายจะใช้เวลาประมาณ 80 นาทีเพื่อกำจัดยาเซฟูรอกซิมออกจากกระแสเลือดและผ่านทิ้งไปกับปัสสาวะ

ยาเซฟูรอกซิมถูกห้ามใช้กับผู้ป่วยที่เคยมีประวัติแพ้ยาเซฟูรอกซิมมาก่อน และระหว่างที่ผู้ป่วยได้รับยานี้ต้องระวังอาการท้องเสียจากเชื้อแบคทีเรีย Clostridium difficile หรือระวังการเจริญเติบโตของเชื้อราบริเวณอวัยวะบางส่วนของร่างกาย หรือแม้แต่การใช้ยานี้แบบผิดวิธีเช่น รับประทานยาไม่ครบคอร์ส (Course) การรักษาอาจทำให้เชื้อโรคพัฒนาตัวเองให้ดื้อยาและต้านทานฤทธิ์ของยาเซฟูรอกซิมได้

มีการรายงานทางคลินิกได้ระบุว่ายาเซฟูรอกซิมสามารถทำให้เกิดอาการข้างเคียง (ผลข้างเคียง) ต่างๆได้เช่น คลื่นไส้ ท้องเสีย อาเจียน เป็นต้น ส่วนการใช้ยานี้กับสตรีตั้งครรภ์นั้นจัดอยู่ในเกณฑ์ที่ปลอดภัยแต่ต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์เท่านั้น อย่างไรก็ตามยาเซฟูรอกซิมสามารถขับผ่านมากับน้ำนมของมารดาได้จึงต้องเพิ่มความระมัดระวังเป็นอย่างมากหากจะใช้ยานี้กับสตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร

คณะกรรมการอาหารและยาของไทยได้บรรจุให้ยาเซฟูรอกซิมเป็นอีกหนึ่งรายการยาในบัญชี ยาหลักแห่งชาติ โดยมีรูปแบบเป็นยารับประทานทั้งชนิดเม็ดและยาน้ำ โดยการใช้ยาเซฟูรอกซิมต้องเป็นไปตามเงื่อนไปดังนี้

1. ใช้สำหรับการติดเชื้อ H. influenzae ที่ดื้อต่อยา Ampicillin และสำหรับการติดเชื้อ M. catarrhalis

2. ใช้กับผู้ป่วยที่แพ้ยาหรือไม่สามารถใช้ยา Co-amoxiclav ได้หรือแพ้ยากลุ่ม Penicillins ชนิดไม่รุนแรง

ยาเซฟูรอกซิมจัดอยู่ในหมวดยาอันตราย การใช้ยานี้ต้องเป็นไปตามคำสั่งของแพทย์เท่านั้น เราสามารถพบเห็นการใช้ยานี้ได้ตามสถานพยาบาลทั้งของรัฐและเอกชน อีกทั้งยังมีจำหน่ายตามร้านขายยาขนาดกลางขึ้นไป ประชาชน/ผู้บริโภคสามารถสอบถามข้อมูลการใช้ยานี้เพิ่มเติมได้จากแพทย์ ผู้ที่สั่งจ่ายยานี้หรือจากเภสัชกรในสถานพยาบาลหรือตามร้านขายยาโดยทั่วไป

เซฟูรอกซิมมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?

เซฟูรอกซิม

ยาเซฟูรอกซิมมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้เช่น

  • บำบัดรักษาการติดเชื้อแบคทีเรียตามอวัยวะต่างๆของร่างกายเช่น ในโรคปอดบวม หลอดลมอักเสบ ข้ออักเสบติดเชื้อ หูชั้นกลางอักเสบ เยื่อบุช่องท้องอักเสบ ไซนัสอักเสบ การติดเชื้อในกระแสเลือด(ภาวะพิษเหตุติดเชื้อ) การติดเชื้อที่ผิวหนัง การติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ การติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบน ทอนซิลอักเสบ ถุงน้ำดีอักเสบ และ Lyme disease (การติดเชื้อแบคทีเรียชนิด Borrelia จากถูกตัวหมัดกัด)
  • ป้องกันการติดเชื้อแบคทีเรียในระหว่างการผ่าตัด

* อนึ่ง สามารถใช้ยาเซฟูรอกซิมได้ทั้งผู้ใหญ่และเด็ก

เซฟูรอกซิมมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยาเซฟูรอกซิมมีกลไกการออกฤทธิ์โดยตัวยาจะรบกวนการสังเคราะห์สารเปปทิโดไกลแคน (Peptidoglycan) ซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญของผนังเซลล์ในแบคทีเรีย ส่งผลให้แบคทีเรียหยุดการเจริญเติบโต ขาดคุณสมบัติในการแพร่พันธุ์และตายในที่สุด จากกลไกที่กล่าวมาจึงทำให้มีฤทธิ์การรักษาตามสรรพคุณ

เซฟูรอกซิมมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาเซฟูรอกซิมมีรูปแบบการจัดจำหน่ายเช่น

  • ยาเม็ดชนิดรับประทานขนาด 125, 250 และ 500 มิลลิกรัม/เม็ด
  • ยาแคปซูลชนิดรับประทานขนาด 250 มิลลิกรัม/แคปซูล
  • ยาน้ำชนิดรับประทานขนาด 125 และ 250 มิลลิกรัม/5 มิลลิลิตร
  • ยาฉีดขนาด 750 และ 1,500 มิลลิกรัม/ขวด

เซฟูรอกซิมมีขนาดรับประทานอย่างไร?

ยาเซฟูรอกซิมมีขนาดรับประทาน/ขนาดใช้ยาขึ้นกับข้อบ่งใช้ ชนิดของโรค ความรุนแรงของ อาการ ดังนั้นขนาดยาจึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษา ในบทความนี้ขอยกตัวอย่างเช่น

ก. สำหรับไซนัสอักเสบ (Sinusitis):

  • ผู้ใหญ่: รับประทานยาครั้งละ 250 มิลลิกรัมวันละ 2 ครั้งเป็นเวลา 10 - 14 วัน
  • เด็กอายุตั้งแต่ 3 เดือน - 12 ปี: ใช้ยาชนิดน้ำจะสะดวกต่อการรับประทานโดยคำนวณการใช้ยาที่ 15 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมแบ่งรับประทาน 2 ครั้งต่อวัน รับประทานยาติดต่อกัน 10 -14 วัน
  • เด็กอายุ 13 ปีขึ้นไป: ใช้ขนาดรับประทานเท่ากับผู้ใหญ่
  • เด็กอายุต่ำกว่า 3 เดือน: ยังไม่มีข้อมูลทางคลินิกที่แน่ชัดถึงผลข้างเคียงของยานี้ในเด็กกลุ่มนี้ การใช้ยานี้ในเด็กกลุ่มนี้จึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีไป

ข. สำหรับการติดเชื้อที่ข้อกระดูก (Joint infection):

  • ผู้ใหญ่: ฉีดยาขนาด 1.5 กรัมเข้าหลอดเลือดดำทุกๆ 8 ชั่วโมง การรักษาจะกระทำต่อเนื่อง 3 - 4 สัปดาห์ทั้งนี้ขึ้นกับความรุนแรงของโรค
  • เด็กตั้งแต่ 3 เดือน - 12 ปี: ฉีดยาเข้าหลอดเลือดดำขนาด 50 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโล กรัมทุกๆ 8 ชั่วโมง ขนาดการใช้ยาสูงสุดไม่เกิน 6 กรัม/วัน
  • เด็กอายุ 13 ปีขึ้นไป: ใช้ขนาดยาเท่ากับผู้ใหญ่
  • เด็กอายุต่ำกว่า 3 เดือน: ยังไม่มีข้อมูลทางคลินิกที่แน่ชัดถึงผลข้างเคียงของยานี้ในเด็กกลุ่มนี้ การใช้ยานี้ในเด็กกลุ่มนี้จึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีไป

ค. สำหรับหูชั้นกลางอักเสบ (Otitis media):

  • ผู้ใหญ่: รับประทานยาครั้งละ 250 มิลลิกรัมวันละ 2 ครั้งเช้า-เย็นเป็นเวลา 10 วัน
  • เด็กตั้งแต่ 3 เดือน - 12 ปี: รับประทานยาขนาด 15 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมแบ่งรับ ประทานวันละ 2 ครั้งและรับประทานยาติดต่อกัน 10 วัน
  • เด็กอายุ 13 ปีขึ้นไป: ใช้ขนาดรับประทานเดียวกับผู้ใหญ่
  • เด็กอายุต่ำกว่า 3 เดือน: ยังไม่มีข้อมูลทางคลินิกที่แน่ชัดถึงผลข้างเคียงของยานี้ในเด็กกลุ่มนี้ การใช้ยานี้ในเด็กกลุ่มนี้จึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีไป

ง. สำหรับป้องกันการติดเชื้อแบคทีเรียระหว่างการผ่าตัด:

  • ผู้ใหญ่:
    • ก่อนการผ่าตัด ฉีดยาเข้าหลอดเลือดดำ 1.5 กรัมก่อนการผ่าตัด 30 - 60 นาที
    • หลังการผ่าตัด ฉีดยาเข้าหลอดเลือดดำหรือเข้ากล้ามเนื้อ 750 มิลลิกรัมทุก 8 ชั่วโมง สำหรับการผ่าตัดหัวใจ ปอด การเปลี่ยนถ่ายอวัยวะของหัวใจและปอด แพทย์จะใช้ยา Cefazolin สลับกับยาเซฟูรอกซิมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการต่อต้านแบคทีเรียกลุ่มต่างๆ
  • เด็ก: ขนาดการใช้ยานี้กับเด็กที่ต้องเข้ารับการผ่าตัดให้เป็นไปตามดุลยพินิจของแพทย์

*อนึ่ง ควรรับประทานยานี้พร้อมอาหาร

*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้นไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาเซฟูรอกซิม ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิดเช่น กินยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆรวมทั้งกำลังกินยาอะไรอยู่ เพราะยาเซฟูรอกซิมอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรือเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กินอยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรกและเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาเซฟูรอกซิมสามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มขนาดรับประทานเป็น 2 เท่า

อย่างไรก็ตามเพื่อประสิทธิผลของการรักษาควรรับประทานยาเซฟูรอกซิมตรงเวลา

เซฟูรอกซิมมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาเซฟูรอกซิมสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์ (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกายดังนี้เช่น

  • ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น เกิดอาการท้องเสีย คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง อาหารไม่ย่อย เป็นตะคริวที่หน้าท้อง ท้องอืด เกิดแผลในปาก เบื่ออาหาร
  • ผลต่อการทำงานของตับ: เช่น ทำให้ระดับบิลิรูบิน (Bilirubin) ในเลือดสูงขึ้น มีภาวะตับอักเสบ ตัวเหลืองตาเหลือง
  • ผลต่อระบบประสาท: เช่น มีอาการปวดศีรษะ วิงเวียน ง่วงนอน มีอาการชัก
  • ผลต่อระบบเลือด: เช่น ก่อให้เกิดภาวะเม็ดเลือดขาวชนิด Eosinophil สูง (Eosinophilia) เม็ดเลือดขาวทุกชนิดต่ำ (Leukopenia) เม็ดเลือดทุกชนิดต่ำ (Pancytopenia) เกล็ดเลือดต่ำ (Thrombocyto penia) เม็ดเลือดขาวชนิด Neutrophil/Granulocyte ต่ำ (Neutropenia/Agranulocytosis)
  • ผลต่อการทำงานของไต: เช่น อาจทำให้ไตวาย
  • ผลต่ออวัยวะสืบพันธุ์: เช่น เกิดภาวะช่องคลอดอักเสบ เกิดการติดเชื้อราแคนดิดาในช่องคลอด มีภาวะตกขาว คันอวัยวะเพศ
  • ผลต่อผิวหนัง: เช่น มีผื่นคัน ลมพิษ
  • ผลต่อการทำงานของกล้ามเนื้อ: เช่น เกิดตะคริวและมีภาวะกล้ามเนื้อปวด/เกร็ง ข้อบวม
  • ผลต่อการทำงานของหัวใจ: เช่น หัวใจเต้นเร็ว

มีข้อควรระวังการใช้เซฟูรอกซิมอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาเซฟูรอกซิมเช่น

  • ห้ามใช้กับผู้แพ้ยานี้
  • ห้ามปรับขนาดรับประทานด้วยตนเอง
  • ห้ามใช้ยาที่มีสภาพเปลี่ยนไปจากเดิม
  • ห้ามใช้ยานี้กับสตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร เด็ก และผู้สูงอายุ โดยไม่มีคำสั่งจากแพทย์
  • การใช้ยานี้ต้องให้ครบคอร์สการรักษาตามแพทย์สั่ง
  • ยานี้ใช้รักษาการติดเชื้อแบคทีเรีย ไม่สามารถนำมารักษาการติดเชื้อไวรัสได้เพราะยานี้จะไม่ฆ่า/ต้านไวรัส
  • การใช้ยานี้เป็นเวลานานบ่อยๆซ้ำๆอาจทำให้เกิดการติดเชื้อโรคชนิดอื่นที่ยานี้ไม่สามารถต่อต้านได้เช่น เชื้อรา เป็นต้น
  • ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคเบาหวานด้วยตัวยาอาจส่งผลต่อการทดสอบระดับน้ำตาลในเลือดได้
  • ผู้ป่วยกลุ่มผู้สูงอายุมีความเสี่ยงที่จะได้รับอาการข้างเคียงหรือเกิดภาวะแพ้ยานี้ได้มากกว่าผู้ป่วยกลุ่มอื่น
  • หากเกิดอาการแพ้ยานี้ถึงแม้จะเป็นการแพ้เพียงครั้งแรกให้หยุดการใช้ยานี้ทันทีแล้วรีบพาตัวผู้ป่วยมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลโดยเร็วทันที/ฉุกเฉิน
  • กรณียารับประทานที่ผู้ป่วยใช้ไปตามระยะเวลาอันเหมาะสมแต่อาการยังไม่ดีขึ้น ต้องรีบพาผู้ป่วยกลับมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลอีกครั้งเพื่อแพทย์พิจารณาปรับแนวทางการรักษา
  • ปฏิบัติตัวตามคำสั่งแพทย์และมาพบแพทย์ตามนัดทุกครั้ง
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาเซฟูรอกซิมด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิดและสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

เซฟูรอกซิมมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

เซฟูรอกซิมมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นเช่น

  • การใช้ยาเซฟูรอกซิมร่วมกับยา Quinapril อาจรบกวนการดูดซึมของยาเซฟูรอกซิมจากระบบทางเดินอาหารส่งผลให้ฤทธิ์ในการต่อต้านแบคทีเรียด้อยลงไป หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกันและหลีก เลี่ยงการรบกวนการดูดซึมยานี้ดังกล่าวควรรับประทานยาทั้ง 2 ตัวให้ห่างกันประมาณ 2 - 3 ชั่วโมง
  • การรับประทานยาเซฟูรอกซิมร่วมกับยา Aluminium hydroxide จะทำให้ประสิทธิภาพการรักษาของยาเซฟูรอกซิมด้อยลง หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกันแพทย์จะปรับขนาดรับประทานให้เหมาะสมเป็นรายบุคคลไป
  • การใช้ยาเซฟูรอกซิมร่วมกับยาเม็ดคุมกำเนิดที่มีส่วนประกอบของ Ethinyl estradiol อาจทำให้ฤทธิ์ในการคุมกำเนิดด้อยลง หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกันควรต้องใช้วิธีการคุมกำเนิดแบบอื่นร่วมด้วยเช่น การใช้ถุงยาอนามัยชาย
  • ควรหยุดการใช้ยาเซฟูรอกซิมอย่างน้อย 3 วันขึ้นไปก่อนที่จะรับวัคซีนชนิดเชื้อเป็นที่ป้องกันโรคไทฟอยด์ด้วยเซฟูรอกซิมสามารถทำให้ฤทธิ์การกระตุ้นภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำลง

ควรเก็บรักษาเซฟูรอกซิมอย่างไร?

ควรเก็บยาเซฟูรอกซิมทุกรูปแบบตามคำแนะนำของแพทย์หรือตามคำแนะนำในเอกสารกำกับยา เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อนและความชื้น ไม่เก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น และไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์

เซฟูรอกซิมมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาเซฟูรอกซิมที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้าอื่นและบริษัทผู้ผลิตเช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
C-Tri T (ซี-ไตร ที)Emcure Pharma
Cefurim (เซฟูริม)General Drugs House
Cefurox (เซฟูร็อกซ์)Bangkok Lab & Cosmetic
C-Tri T (ซี-ไทร ที)Emcure Pharma
Farmacef (ฟาร์มาเซฟ)Farmaline
Furoxime (ฟูโรซิเม)Siam Bheasach
Magnaspor (แม็กนาสปอร์)Ranbaxy
Neurox-250 (นิวร็อกซ์-250)Nectar Lifesciences
Sefuxim (เซฟูซิม)Shenzhen Zhijun Pharma
Zinacef (ซินาเซฟ)GlaxoSmithKine
Zinnat (ซินแนท)GlaxoSmithKine
Zocef (โซเซฟ)Alkem

บรรณานุกรม

  1. http://www.drugs.com/pro/cefuroxime-axetil.html [2016,Feb27]
  2. https://en.wikipedia.org/wiki/Cefuroxime [2016,Feb27]
  3. http://www.mims.com/Thailand/drug/info/Avelox/?type=BRIEF [2016,Feb27]
  4. http://www.mims.com/THAILAND/Home/GatewaySubscription/?generic=Cefuroxime [2016,Feb27]
  5. http://drug.fda.moph.go.th:81/nlem.in.th/medicine/essential/list/85#item-8589 [2016,Feb27]
  6. http://www.mims.com/THAILAND/Home/GatewaySubscription/?generic=Cefuroxime [2016,Feb27]
  7. http://www.drugs.com/drug-interactions/cefuroxime-index.html?filter=2&generic_only= [2016,Feb27]