เซฟีพิม (Cefepime)

สารบัญ

บทความที่เกี่ยวข้อง

 

บทนำ: คือยาอะไร?

เซฟีพิม (Cefepime) คือ ยาปฏิชีวนะ โดยเป็นยารุ่นที่ 4 ของกลุ่มยาเซฟาโลสปอริน (Fourth-gene ration cephalosporin) มีฤทธิ์กว้างขวางในการต่อต้านเชื้อแบคทีเรียทั้งชนิดแกรมบวกและแกรมลบ (Gram positive and Gram negative bacteria)ได้ดีกว่ายาเซฟาโลสปอรินรุ่นที่ 3, ยาเซฟีพิมถูกพัฒนาขึ้นตั้งแต่ปี ค.ศ. 1994 (พ.ศ. 2537) และได้วางจำหน่ายและเป็นที่แพร่หลายทั่วโลกมาจนกระทั่งปัจจุบัน

รูปแบบของผลิตภัณฑ์ยาเซฟีพิมเป็นยาฉีดโดยสามารถฉีดยาเข้ากล้ามเนื้อหรือเข้าหลอดเลือดก็ได้ ตัวยาในกระแสเลือดจะถูกตับทำลายโครงสร้างประมาณ 15% จากปริมาณยาทั้งหมด ร่างกายต้องใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมงขึ้นไปเพื่อกำจัดยานี้โดยผ่านทิ้งไปกับปัสสาวะ

ยานี้ไม่เหมาะกับผู้ที่มีประวัติแพ้ยากลุ่มเซฟาโลสปอรินหรือแพ้ยากลุ่มเพนิซิลลิน และต้องระมัดระวังเป็นอย่างมากหากจะใช้ยานี้กับผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวบางโรค เช่น ผู้ป่วยโรคลำไส้อักเสบ, ผู้ที่มีปัญหาเรื่องการทำงานของเกล็ดเลือด, ผู้ป่วยโรคตับ, โรคไต รวมถึงผู้ที่ร่าง กายอยู่ในสภาพที่ขาดสารอาหาร

นอกจากนี้ต้องคอยหลีกเลี่ยงการใช้ยาเซฟีพิมร่วมกับยาปฏิชีวนะกลุ่มอะมิโนไกลโคไซด์ ด้วยการใช้ยาร่วมกันจะส่งผลให้เกิดพิษกับไตของผู้ป่วย

การใช้ยาเซฟีพิมช่วยรักษาอาการโรค ผู้ป่วยจะรู้สึกมีอาการดีขึ้นภายใน 2 - 3 วัน แต่ยังต้องใช้ยาต่อเนื่องให้ครบคอร์ส (Course) ของการรักษาเหมือนกับยาปฏิชีวนะอื่นทั่วไป

มีข้อมูลเพิ่มเติมที่ผู้บริโภคควรทราบเกี่ยวกับยาเซฟีพิมโดยอาจสรุปได้เป็นข้อๆ เช่น

  • ยาเซฟีพิมเป็นยาที่ใช้ต่อต้านเฉพาะเชื้อแบคทีเรีย ไม่สามารถนำมารักษาโรคที่มีสาเหตุจากโรคติดเชื้อไวรัสได้
  • การใช้ยานี้เป็นเวลานานๆหรือบ่อยครั้งจนเกินไป อาจทำให้ผู้ป่วยเกิดการติดเชื้อที่ยานี้ไม่สามารถต่อต้านได้ เช่น โรคเชื้อรา เป็นต้น
  • ผู้ที่ได้รับยาเซฟีพิมอาจมีอาการท้องเสียได้ หากพบอาการท้องเสียอย่างรุนแรง มีเลือดปนมากับอุจจาระ ควรต้องรีบแจ้งแพทย์/ไปโรงพยาบาล ไม่แนะนำให้ผู้ป่วยไปซื้อยาแก้ท้องเสียมารับประทานเอง
  • ยาเซฟีพิมอาจทำให้การรวมตัวของเกล็ดเลือดช้าลงกว่าปกติ ระหว่างการใช้ยานี้จึงควรหลีก เลี่ยงกิจกรรมที่เสี่ยงต่อการเกิดบาดแผลและทำให้มีภาวะเลือดออกตามมา
  • กรณีผู้ป่วยเบาหวานที่ได้รับยาเซฟีพิม ตัวยานี้อาจทำให้ผลการตรวจน้ำตาลในปัสสาวะของผู้ป่วยผิดปกติ ควรแจ้งและสื่อสารกับแพทย์ที่รักษาอาการเบาหวานด้วยว่าผู้ป่วยได้รับยาเซฟีพิมมา ก่อน
  • การใช้ยานี้กับผู้สูงอายุต้องเพิ่มความระมัดระวังเป็นพิเศษด้วยเป็นกลุ่มที่เสี่ยงต่อการเกิดพิษ หรือการเกิดอาการข้างเคียง(ผลข้างเคียง)ได้มากกว่าผู้ป่วยกลุ่มอื่น
  • สตรีตั้งครรภ์, สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร เป็นกลุ่มที่ต้องระมัดระวังการใช้ยาแทบทุกชนิดซึ่งรวมถึงยาเซฟีพิมด้วยเช่นกัน

ปัจจุบันในประเทศไทยก็มีการใช้ยาเซฟีพิมในสถานพยาบาลต่างๆ และรู้จักกันในหลายชื่อการค้า ผู้บริโภค/ผู้ป่วยสามารถสอบถามข้อมูลการใช้ยานี้เพิ่มเติมได้จากแพทย์ผู้รักษาหรือจากเภสัชกรที่ประจำในสถานพยาบาลหรือที่ประจำร้านขายยาได้โดยทั่วไป

เซฟีพิมมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?

 

ยาเซฟีพิมมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ในการต่อต้านแบคทีเรียได้หลายชนิด อาทิ Pseudomonas, Escherichia, และ Streptococcus species   ในทางคลินิกได้นำยานี้มารักษาอาการป่วยจากโรคต่างๆ เช่น

  • ภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด /ภาวะพิษเหตุติดเชื้อ  
  • อาการไข้ที่มีภาวะเม็ดเลือดขาวชนิดนิวโตรฟิลต่ำ (Febrile neutropenia)
  • อาการติดเชื้อแบคทีเรียในช่องท้อง (Intra abdominal infection)
  • อาการปอดอักเสบ/ ปอดบวมที่สาเหตุเกิดจากในโรงพยาบาล (Nosocomial pneumonia) และปอดบวมทั่วไป
  • กรวยไตอักเสบ
  • รักษาโรคติดเชื้อผิวหนังและเนื้อเยื่ออ่อน
  • โรคติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะ

 เซฟีพิมมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

กลไกการออกฤทธิ์ของยาเซฟีพิม คือ ตัวยาจะออกฤทธิ์ยับยั้งการสร้างผนังเซลล์ของตัวแบคทีเรีย ส่งผลให้แบคทีเรียหยุดการเจริญเติบโต หมดความสามารถในการกระจายพันธุ์และตายลงในที่สุด ด้วยกลไกดังกล่าวจึงทำให้เกิดฤทธิ์ในการรักษาโรคตามสรรพคุณ

เซฟีพิมมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาเซฟีพิมมีรูปแบบการจัดจำหน่าย:

  • เป็นยาฉีดขนาด 1 และ 2 กรัม/ขวด

เซฟีพิมมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?

ยาเซฟีพิมมีขนาดการบริหารยา/ใช้ยาแตกต่างกันไปโดยขึ้นกับอาการจากแต่ละโรคและความรุนแรงของอาการ ดังนั้นขนาดการใช้ยาจึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษา ในที่นี้ขอยกตัว อย่างเช่น

ก. สำหรับภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด: เช่น

  • ผู้ใหญ่: ฉีดยา 2 กรัมเข้าหลอดเลือดดำทุก 8 ชั่วโมง ระยะเวลาในการใช้ยาขึ้นกับแพทย์ผู้ รักษา
  • เด็ก (นิยามคำว่าเด็ก) : ขนาดการใช้ยานี้ในเด็กอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีๆไป

ข. สำหรับบำบัดอาการไข้ที่มีภาวะเม็ดเลือดขาวชนิดนิวโตรฟิลต่ำ: เช่น

  • ผู้ใหญ่อายุมากกว่า 16 ปีขึ้นไป: ฉีดยา 2 กรัมเข้าหลอดเลือดดำทุก 8 ชั่วโมงเป็นเวลา 7 วัน หรือจนกระทั่งปริมาณเม็ดเลือดขาวกลับมาเป็นปกติ
  • เด็กอายุตั้งแต่ 2 เดือน - อายุ 16 ปี: ฉีดยาขนาด 50 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมเข้าหลอดเลือดดำทุก 8 ชั่วโมงเป็นเวลา 7 - 10 วัน ขนาดการใช้ยาสูงสุดต้องไม่เกินขนาดการใช้ยาของผู้ใหญ่

ค. สำหรับโรคติดเชื้อผิวหนังและเนื้อเยื่ออ่อน: เช่น

  • ผู้ใหญ่อายุมากกว่า 16 ปีขึ้นไป: ฉีดยา 2 กรัมเข้าหลอดเลือดดำทุก 12 ชั่วโมงเป็นเวลา 10 วัน
  • เด็กอายุตั้งแต่ 2 เดือน - อายุ 16 ปี: ฉีดยาขนาด 50 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมเข้าหลอดเลือดดำทุก 12 ชั่วโมงเป็นเวลา 7 - 10 วัน ขนาดการใช้ยาสูงสุดต้องไม่เกินขนาดการใช้ยาของผู้ใหญ่

*อนึ่ง:

  • การใช้ยานี้กับเด็กอายุต่ำกว่า 2 เดือนขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษาเท่านั้น ด้วยยังไม่มีข้อมูลทางคลินิกยืนยันความปลอดภัยและประสิทธิผลของการรักษากับผู้ป่วยกลุ่มนี้
  • อาการป่วยบางโรคอาจไม่มีขนาดการใช้ยานี้ของเด็ก การใช้ยานี้ของเด็กจึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีๆไป

*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัช กรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมถึงยาเซฟีพิม ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกร เช่น

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิดเช่น กินยา/ใช้ยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก/หอบเหนื่อย
  • มีโรคประจำตัวต่างๆรวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาเซฟีพิมอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่รับประทาน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประ เภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรกและเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

เซฟีพิมมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาเซฟีพิมสามารถก่อให้เกิดผล/อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกาย เช่น

  • ผลต่อลำไส้: เช่น มีอาการท้องเสียซึ่งมักจะพบได้กับผู้ที่ต้องใช้ยาขนาด 2 กรัมทุก 8 ชั่วโมง นอก จากนี้ยังอาจพบอาการคลื่นไส้อาเจียนตามมาได้ด้วย
  • ผลต่อระบบประสาท: เช่น มีอาการทางสมอง เช่น ปวดหัว ประสาทหลอน อาการชัก และ/หรือ กล้ามเนื้อกระตุกรัว
  • ผลต่อผิวหนัง: เช่น มีภาวะผด ผื่นคัน ลมพิษ มีภาวะผิวหนังร้อนแดง บางกรณีอาจพบภาวะ Redman syndrome (กลุ่มอาการแพ้ยาที่ทำให้เกิดผื่นผิวหนังทั่วตัวร่วมกับภาวะ Anaphylaxis)
  • ผลต่อระบบเลือด: เช่น อาจพบภาวะโลหิตจางจากเม็ดเลือดแดงแตก,   เกล็ดเลือดใช้เวลานานกว่าปกติในการรวมตัวเป็นลิ่มเลือดเพื่อหยุดอาการเลือดออกจึงอาจเกิดภาวะเลือดออกง่าย
  • ผลต่ออวัยวะตับ: เช่น ตับทำงานผิดปกติ จำนวนบิลิรูบินในเลือดเพิ่มขึ้น ระดับเอนไซม์อัลคาไลน์ฟอสเฟต (Alkaline phosphatase, เอนไซม์การทำงานของตับ)ในเลือดสูงขึ้น และ/หรือเกิดภาวะน้ำดีคั่งในเลือด/ตัว-ตาเหลือง
  • ผลต่อระบบการเผาผลาญพลังงานในร่างกาย: เช่น มีภาวะเกลือโพแทสเซียมในเลือดสูง, ระดับแคลเซียมในเลือดเพิ่มขึ้นหรือไม่ก็ลดลง
  • ผลต่อระบบสืบพันธุ์: เช่น มีภาวะช่องคลอดอักเสบ

มีข้อควรระวังการใช้เซฟีพิมอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาเซฟีพิม เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้แพ้ยากลุ่มเซฟาโซลินหรือกลุ่มเพนิซิลลิน
  • ห้ามใช้ยานี้กับสตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร เด็ก และผู้สูงอายุ โดยไม่มีคำสั่ง จากแพทย์
  • ระวังการใช้ยานี้กับผู้ที่มีภาวะลำไส้อักเสบ และตับ-ไตทำงานผิดปกติ
  • หากพบอาการเป็นลม รู้สึกสับสน ประสาทหลอน ระหว่างการใช้ยานี้ ควรต้องรีบปรึกษาแพทย์/ไปโรงพยาบาล/ไปโรงพยาบาลก่อนนัดเพื่อแพทย์พิจารณาปรับแนวทางการรักษา
  • ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ "ยา" ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาเซฟีพิมด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด  อาหารเสริม   ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร   และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

เซฟีพิมมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาเซฟีพิมมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น  เช่น

  • การใช้ยาเซฟีพิม ร่วมกับยาเม็ดคุมกำเนิดเช่น Ethinyl estradiol อาจทำให้ประสิทธิภาพ การคุมกำเนิดด้อยลงและเสี่ยงต่อภาวะตั้งครรภ์ตามมา หากไม่มีความจำเป็นใดๆควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน หรือใช้วิธีคุมกำเนิดชนิดอื่นร่วมด้วยเมื่อจำเป็นต้องใช้ยาเม็ดคุมกำเนิดร่วมกับยาเซฟีพิมเช่น การใช้ถุงยางอนามัยชาย
  • การใช้ยาเซฟีพิม ร่วมกับยา Probenecid อาจทำให้ระดับยาเซฟีพิมในเลือดเพิ่มสูงขึ้นจนทำให้ผู้ป่วยได้รับอาการข้างเคียงตามมา หากไม่มีความจำเป็นใดๆควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
  • ห้ามหรือหลีกเลี่ยงการใช้ยาเซฟีพิม ร่วมกับยา Amikacin, Gentamicin ด้วยอาจเป็นเหตุให้ไตได้รับความเสียหายตามมา

ควรเก็บรักษาเซฟีพิมอย่างไร?

ควรเก็บยาเซฟาโซลิน: เช่น

  • เก็บยาตามคำแนะนำในเอกสารกำกับยา/ ฉลากยา
  • เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อนและความชื้น
  • เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง

เซฟีพิมมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาเซฟาโซลิน มียาชื่อการค้าอื่น และบริษัทผู้ผลิต เช่น

ชื่อการค้า บริษัทผู้ผลิต
Cefamax (เซฟาแม็กซ์) Siam Bheasach
Maxipime (แม็กซิพิม) Bristol-Myers Squibb
Megapime (เมกะพิม) Alkem
Pime (ไพม์) MacroPhar
Sefpime (เซฟพิม) Shenzhen Zhijun Pharma

 

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Cephalosporin   [2022,Oct29]
  2. https://en.wikipedia.org/wiki/Cefepime   [2022,Oct29]
  3. https://www.drugs.com/dosage/cefepime.html  [2022,Oct29]
  4. https://www.mims.com/thailand/drug/info/cefepime?mtype=generic   [2022,Oct29]
  5. https://www.drugs.com/drug-interactions/cefepime-index.html?filter=2&generic_only=  [2022,Oct29]