เซฟทาโรไลน์ (Ceftaroline)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาเซฟทาโรไลน์ (Ceftaroline หรือ Ceftaroline fosamil ) เป็นยากลุ่มเซฟาโลสปอริน(Cephalosporin)รุ่นที่ 5 จัดเป็นยาปฏิชีวนะที่ออกฤทธิ์กว้างขวาง โดยสามารถต่อต้านเชื้อแบคทีเรียประเภทดื้อต่อยา Methicillin (Methicillin resistant staphylococcus aureus) รวมถึงแบคทีเรียทั้งชนิดแกรมบวกและชนิดแกรมลบ ยาเซฟทาโรไลน์ถูกพัฒนาขึ้นโดยบริษัทยาญี่ปุ่น คณะกรรมการอาหารและยาของอเมริกาได้รับรองการใช้ยานี้เมื่อปี ค.ศ.2010 (พ.ศ.2553) ทางคลินิกจะใช้ยานี้ในการรักษาโรคปอดบวม (Community-acquired pneumonia) และการติดเชื้อของผิวหนัง

ยาเซฟทาโรไลน์มีรูปแบบเภสัชภัณฑ์เป็นยาฉีด ร่างกายต้องใช้เวลาประมาณ 2.5 ชั่วโมงในการกำจัดยานี้ออกจากกระแสเลือด โดยผ่านทิ้งไปกับปัสสาวะและอุจจาระ

การแพ้ยา เซฟทาโรไลน์ จะแสดงอาการออกมาทางผิวหนัง เช่น เกิดผื่นคันตามร่างกาย การหายใจขัดข้อง/หายใจลำบาก ซึ่งจะเช่นเดียวกับการแพ้ยาจากยาเซฟาโลสปอรินตัวอื่นๆ

การใช้ยา เซฟทาโรไลน์ ต่อเนื่องนานเกินกว่า 2 เดือน อาจทำให้เกิดอาการท้องเสียจากการติดเชื้อแบคทีเรียชนิด Clostridium difficile กรณีนี้ห้ามผู้ป่วยไปสรรหายาแก้ท้องเสียมาใช้รักษาตนเอง ควรให้แพทย์วิเคราะห์อาการและเป็นผู้บำบัดรักษาเท่านั้น

การใช้ยาเซฟทาโรไลน์กับผู้ป่วยบางกลุ่ม ต้องเพิ่มความระมัดระวังเป็นอย่างมาก เช่น สตรีมีครรภ์/ตั้งครรภ์ สตรีในภาวะให้นมบุตร ด้วยยังไม่มีข้อมูลทางการแพทย์ยืนยันความปลอดภัยของตัวยาชนิดนี้ที่อาจส่งผ่านจากมารดาไปถึงทารก หรือกลุ่มผู้ป่วย ที่มีภาวะอักเสบของระบบทางเดินอาหาร ผู้ที่มีสภาวะเลือดออกง่าย ผู้ป่วย โรคตับ ไต รวมถึงผู้ที่มีสภาพร่างกายขาดสารอาหาร(ทุโภชนาการ) ล้วนแล้วเป็นกลุ่มเสี่ยงที่อาจเกิดอาการ/ผลข้างเคียงรุนแรงขึ้นเมื่อต้องใช้ยาเซฟทาโรไลน์

อย่างไรก็ตาม การใช้ยาเซฟทาโรไลน์ มีข้อห้าม และข้อพึงปฏิบัติที่ผู้บริโภค/ผู้ป่วยควรทำความเข้าใจ ดังนี้ เช่น

  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยที่มีประวัติแพ้ยานี้ และแพ้ยากลุ่มเซฟาโลสปอริน และเป็นหน้าที่ที่ผู้ป่วยต้องแจ้งให้ แพทย์ พยาบาล เภสัชกร ทราบทุกครั้งที่เข้ารับการรักษาว่าตนเองมีประวัติแพ้ยาอะไรบ้าง
  • ระหว่างที่ได้รับยานี้ แล้วพบอาการผื่นคันขึ้นตามร่างกาย รู้สึกอึดอัดหายใจไม่ออก/หายใจลำบาก วิงเวียนรุนแรง ให้หยุดใช้ยา แล้วรีบแจ้ง แพทย์ พยาบาล ทันที เพราะอาการดังกล่าว อาจเป็นสัญญาณเตือนว่า ผู้ป่วยแพ้ยาชนิดนี้เข้าแล้ว
  • การใช้ยาเซฟทาโรไลน์เป็นเวลานานเกินไป และ/หรือหลายครั้งต่อเนื่อง อาจเปิดโอกาสทำให้ร่างกายโดนเชื้อแบคทีเรียชนิดที่ไม่ตอบสนองต่อยาเซฟทาโรไลน์เล่นงาน และก่อให้เกิดอาการโรคที่ใช้ยานี้รักษาแล้วไม่ได้ผล
  • ยาชนิดนี้เป็นยาต่อต้านเชื้อแบคทีเรีย ไม่สามารถนำไปรักษาการติดเชื้อโรคชนิดอื่น เช่น เชื้อไวรัส
  • การใช้ยานี้จะต้องอาศัยความต่อเนื่องตามแพทย์สั่ง ถึงแม้อาการป่วยจากการติดเชื้อแบคทีเรียจะดีขึ้นแล้ว ผู้ป่วยยังคงต้องรับยาให้ครบเทอมของการรักษา ทั้งนี้เพื่อเป็นการป้องกันการดื้อยาของเชื้อโรคนั่นเอง
  • ห้ามผสมยาเซฟทาโรไลน์ร่วมกับยาฉีดชนิดอื่นเพื่อฉีดให้ผู้ป่วยพร้อมกัน ทั้งนี้เพื่อป้องกันการเกิด ปฏิกิริยาระหว่างยา จนอาจเกิดผลข้างเคียงรุนแรงกับผู้ป่วย หรือไม่ก็ทำให้ยาด้อยประสิทธิภาพในการรักษา
  • ตัวทำละลายเพื่อเตรียมยาเซฟทาโรไลน์สำหรับฉีดให้ผู้ป่วย ได้แก่ 2.5 หรือ 5% Dextrose, หรือ Lactate ringer’s solution 0.45 หรือ 0.9% Normal saline โดยต้องผสมตัวทำละลายกับตัวยานี้ในสัดส่วนตรงตามคำแนะนำของเอกสารกำกับยา
  • สำหรับผู้ป่วยโรคไตที่จำเป็นต้องใช้ยาเซฟทาโรไลน์ แพทย์จะปรับลดขนาดการใช้ยานี้ โดยลดลงตามสภาพการทำงานของไต
  • เมื่อผู้ป่วยที่ได้รับยานี้ครั้งแรก แพทย์ พยาบาล จะเฝ้าระวัง และสังเกตว่าผู้ป่วยมีอาการแพ้ยานี้หรือไม่ รวมถึงตรวจสอบการทำงานของไต หากไม่เกิดข้อผิดพลาดหรือสิ่งผิดปกติกับผู้ป่วย แพทย์จึงจะดำเนินการสั่งจ่ายยานี้ได้อย่างต่อเนื่อง

ด้วยยาเซฟทาโรไลน์ถูกออกแบบเป็นยาชนิดฉีด เราจึงพบเห็นการใช้ยานี้แต่ในสถานพยาบาลเท่านั้น ยานี้สามารถใช้รักษาอาการติดเชื้อแบคทีเรียได้ทั้งในผู้ใหญ่และในเด็ก และหากผู้บริโภคมีข้อสงสัยการใช้ยาเซฟทาโรไลน์ สามารถสอบถามข้อมูลการใช้ยานี้เพิ่มเติมได้จาก แพทย์หรือจากเภสัชกร ในสถานพยาบาล ที่ผู้ป่วยเข้ารับการรักษาได้

เซฟทาโรไลน์มีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?

เซฟทาโรไลน์

ยาเซฟทาโรไลน์มีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น

  • รักษาการติดเชื้อ แบคทีเรีย ของผิวหนัง(Skin and Structure Infection)
  • รักษาโรคปอดบวม(Pneumonia)

เซฟทาโรไลน์มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ตัวยาเซฟทาโรไลน์ มีกลไกการออกฤทธิ์ ยับยั้งกระบวนการสังเคราะห์สารประกอบในตัวแบคทีเรียที่มีชื่อว่า เปปทิโดไกลแคน(Peptidoglycan) ซึ่งเป็นสารประกอบสำคัญที่แบคทีเรียนำมาใช้สร้างผนังเซลล์ของตัวเอง จากกลไกนี้เองทำให้แบคทีเรียไม่สามารถขยายพันธุ์ หยุดการเจริญเติบโตและตายลงในที่สุด

เซฟทาโรไลน์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยา เซฟทาโรไลน์ มีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น

  • ยาฉีดที่ประกอบด้วย Ceftaroline fosamil ขนาด 400 และ 600 มิลลิกรัม/ขวด(Vial)

เซฟทาโรไลน์มีขนาดการบริหารยาอย่างไร?

ยาเซฟทาโรไลน์มีขนาดการบริหารยา/การใช้ยา เช่น

ก. สำหรับรักษาการติดเชื้อ แบคทีเรียของผิวหนัง(Skin and Structure Infection):

  • ผู้ใหญ่: หยดยาเข้าหลอดเลือดดำขนาด 600 มิลลิกรัม ทุก 12 ชั่วโมง เป็นเวลา 5–14 วัน

ข. สำหรับรักษาโรคปอดบวม(Pneumonia):

  • ผู้ใหญ่: หยดยาเข้าหลอดเลือดดำขนาด 600 มิลลิกรัม ทุก 12 ชั่วโมงเป็นเวลา 5–7 วัน

ค. สำหรับผู้ป่วยโรคไต(Renal Dose Adjustments):

-ผู้ใหญ่:

  • มีค่า Creatinine clearance มากกว่า 50 มิลลิลิตร/นาที ไม่ต้องปรับขนาดการใช้ยาแต่อย่างใด
  • มีค่า Creatinine clearance ระหว่าง 30–50 มิลลิลิตร/นาที ให้หยดยาเข้าหลอดเลือดดำ 400 มิลลิกรัม ทุก 12 ชั่วโมง
  • มีค่า Creatinine clearance ระหว่าง 15–30 มิลลิลิตร/นาที ให้หยดยาเข้าหลอดเลือดดำ 300 มิลลิกรัม ทุก 12 ชั่วโมง
  • ผู้ป่วยโรคไตระยะสุดท้าย ให้หยดยาเข้าหลอดเลือดดำ 200 มิลลิกรัม ทุก 12 ชั่วโมง

อนึ่ง:

ในเด็ก: การใช้ยานี้กับเด็กและขนาดยานี้ ให้คำนวณจากน้ำหนักตัวและเป็นไปตามดุลยพินิจของแพทย์

*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียง ตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาเซฟทาโรไลน์ ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ อย่างเช่น โรคทางลำไส้ โรคไต รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาเซฟทาโรไลน์ อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับการฉีดยาควรทำอย่างไร?

การใช้ยาเซฟทาโรไลน์จะกระทำอยู่ในสถานพยาบาล การให้ยานี้กับผู้ป่วยจะเป็นไปตามคำสั่งแพทย์ และมีการจดบันทึกเพื่อใช้เป็นข้อมูลทางคลินิก ดังนั้นโอกาสที่ผู้ป่วยจะไม่ได้รับการฉีดยาชนิดนี้จึงเป็นไปได้น้อยมาก

เซฟทาโรไลน์มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาเซฟทาโรไลน์สามารถก่อให้เกิด ผลไม่พึงประสงค์จากยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกาย ดังนี้ เช่น

  • ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย รู้สึกไม่สบายท้อง เบื่ออาหาร อาจเกิดการติดเชื้อแบคทีเรียที่ลำไส้ใหญ่ ที่เรียกว่า Clostridium difficile colitis
  • ผลต่อผิวหนัง: เช่น เกิดผื่นคัน ลมพิษ
  • ผลต่อระบบประสาท: เช่น ปวดศีรษะ วิงเวียน อาจทำให้เกิดอาการชัก
  • ผลต่อไต: เช่น เกิดภาวะไตวาย
  • ผลต่อตับ: เช่น เอนไซม์การทำงานของตับในเลือดเพิ่มขึ้น
  • ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด: เช่น เกิดความดันโลหิตสูง
  • ผลต่อระบบเลือด: เช่น มีภาวะโลหิตจาง อาจเกิดภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำ และ เกล็ดเลือดต่ำ/Thrombocytopenia
  • ผลต่อระบบการเผาผลาญพลังงานของร่างกาย: เช่น ระดับโปแตสเซียมในเลือดต่ำ

มีข้อควรระวังการใช้เซฟทาโรไลน์อย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาเซฟทาโรไลน์ เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
  • ห้ามใช้ยานี้กับสตรีมีครรภ์ สตรีในภาวะให้นมบุตร เด็ก และผู้สูงอายุ นอกจากมีคำสั่งแพทย์
  • ห้ามใช้ยานี้ที่มีสภาพเปลี่ยนไปจากเดิม เช่น มีฝุ่นผงในยา
  • ระหว่างที่ใช้ยานี้แล้วเกิดอาการผิดปกติต่างๆกับผู้ป่วย เช่น ถ่ายอุจจาระเหลวรุนแรง เกิดผื่นคันตามตัว อึดอัดหายใจไม่ออก/หายใจลำบาก จะต้องรีบแจ้ง แพทย์ พยาบาล ทันที
  • ขณะที่ได้รับยาเซฟทาโรไลน์แล้วมีอาการดีขึ้น แพทย์จะยังให้ยานี้จนครบเทอมของการรักษา
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาเซฟทาโรไลน์ด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพร ต่างๆ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ

เซฟทาโรไลน์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาเซฟทาโรไลน์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • ห้ามใช้ยาเซฟทาโรไลน์ร่วมกับผู้ที่ได้รับ วัคซีนอหิวาตกโรค ด้วยตัวยา เซฟทาโรไลน์จะทำให้การกระตุ้นภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่อเชื้ออหิวาตกโรคด้อยลง หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน ควรเว้นระยะเวลาการใช้วัคซีน นี้ หลังการใช้ยาเซฟทาโรไลน์อย่างน้อย 14 วัน
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาเซฟทาโรไลน์ร่วมกับยาเม็ดคุมกำเนิด อย่าง Ethinyl estradiol ด้วยจะทำให้ประสิทธิผลการคุมกำเนิดของ Ethinyl estradiol ด้อยลงไป ให้ใช้วิธีคุมกำเนิดอื่นร่วมด้วย เช่น ถุงยางอนามัยชาย
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาเซฟทาโรไลน์ร่วมกับยา Probenecid ด้วยจะทำให้ผู้ป่วยได้รับผลข้างเคียงจากยาเซฟทาโรไลน์มากยิ่งขึ้น
  • ห้ามใช้ยาเซฟทาโรไลน์ร่วมกับยาขับปัสสาวะ อย่างเช่น Furosemide เพราะอาจจะก่อให้เกิดพิษ/ผลข้างเคียงรุนแรงต่อไต หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดการใช้ยาให้เหมาะสมเป็นรายบุคคลไป

ควรเก็บรักษาเซฟทาโรไลน์อย่างไร?

สามารถเก็บยาเซฟทาโรไลน์ ภายใต้อุณหภูมิ 15–30 องศาเซลเซียส(Celsius) เก็บในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น

สำหรับยาเซฟทาโรไลน์ที่ผสมน้ำเกลือแล้ว สามารถเก็บภายใต้อุณหภูมิห้องได้ไม่เกิน 6 ชั่วโมง หรือเก็บยาเตรียมเซฟทาโรไลน์ในตู้เย็นที่มีอุณหภูมิ 2–8 องศาเซลเซียสโดยไม่เกิน 24 ชั่วโมง

ห้ามเก็บยานี้ทั้งชนิดที่ยังไม่ผสม และชนิดที่ผสมแล้ว ในช่องแช่แข็งตู้เย็น

เซฟทาโรไลน์มีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาเซฟทาโรไลน์ มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Teflaro (เทฟลาโร)Facta Farmaceutici S.p.A.

บรรณานุกรม

  1. https://www.accessdata.fda.gov/drugsatfda_docs/label/2010/200327s000lbl.pdf[2017,Sept2]
  2. https://www.drugs.com/cdi/ceftaroline.html[2017,Sept2]
  3. https://www.allergan.com/assets/pdf/teflaro_pi[2017,Sept2]
  4. https://www.drugs.com/drug-interactions/ceftaroline-index.html?filter=2&generic_only=[2017,Sept2]