เชื้อแซลโมเนลล่า มากับแคนตาลูป (ตอนที่ 1)

ข่าวจากศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐอเมริกา (Centers for disease control and prevention : CDC) รายงานว่า แคนตาลูป (Cantaloupe) จากฟาร์มในรัฐตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศ ได้เป็นต้นเหตุ ทำให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคทางเดินอาหาร (Gastrointestinal diseases) ที่เกิดจากเชื้อแซลโมเนลลา (Salmonella) มาตั้งแต่ต้นเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2555 เป็นต้นมา

แคนตาลูป ปนเปื้อนเชื้อแบคทีเรียแซลโมเนลล่าในครั้งนี้ เป็นเหตุให้มีผู้ป่วยติดเชื้อในสหรัฐอเมริกา รวม 178 ราย จำนวน 21 รัฐ อันประกอบด้วยรัฐอะลาบาม่า (13 ราย) อาร์คันซอ (3 ราย) แคลิฟอร์เนีย (2 ราย) จอร์เจีย (3 ราย) อิลลินอยส์ (21 ราย) อินเดียน่า (18 ราย) ไอโอว่า (7 ราย) เคนตั๊กกี้ (56 ราย) แมสซาชูเซตส์ (2 ราย) มิชิแกน (6 ราย) มินนิโซต้า (4 ราย) มิสซิสซิปปี้ (5 ราย) มิสซูรี่ (12 ราย) นิวเจอร์ซี่ (2 ราย) นอร์ธคาโรไลน่า (3 ราย) โอไฮโอ (4 ราย) เพ็นซิลเวเนีย (2 ราย) เซ้าท์คาโรไลน่า (3 ราย) เท็นเนสซี่ (6 ราย) เท็กซัส (2 ราย) และวิสคอนซิน (2 ราย)

ทั้งนี้ มีผู้ติดเชื้อ 62 รายที่เข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาล และมีรายงานผู้เสียชีวิต 2 ราย ในรัฐเคนตั๊กกี้ จากการตรวจสอบพบว่า ฟาร์มต้นเหตุมาจากฟาร์มแชมเบอร์เลนโปรดิวซ์ (Chamberlain Farms Produce) ในรัฐอินเดียน่า ทำให้มีการเรียกคืนแคนตาลูปทั้งหมดของฟาร์มนี้หลังจากที่มีการส่งไปจำหน่ายในหลายรัฐทั่วประเทศ

เชื้อแซลโมเนลลา เป็นเชื้อแบคทีเรียอันตรายที่พบในอาหาร เช่น เนื้อไก่ มะเขือเทศ ถั่วลิสง ซัลซ่า (Salsa) น้ำซอส กัวคาโมเล (Guacamole) และแม้แต่ในอาหารสัตว์ โดยทำให้เกิดอาการอาหารเป็นพิษในคน อาการป่วยมีตั้งแต่ระดับอ่อนไปจนถึงระดับการติดเชื้อที่ร้ายแรง ซึ่งสามารถทำให้ผู้ติดเชื้อเสียชีวิตได้

เชื้อแซลโมเนลลาเป็นโรคติดเชื้อจากสัตว์สู่คน (Zoonotic) และสามารถติดเชื้อระหว่างคนและสัตว์ได้ การติดเชื้อส่วนใหญ่เกิดจากการกินอาหารที่ติดเชื้อ อาหารดิบหรืออาหารไม่สุก การติดเชื้อจะเกิดขึ้นเมื่อมีการรับประทานอาหารที่มีการติดเชื้อในปริมาณที่มากพอสมควร

อย่างไรก็ดี ทารกและเด็ก จะรับเชื้อได้ง่าย แม้ว่าจะมีการรับประทานอาหารที่ติดเชื้อในปริมาณเล็กน้อย หรือแม้แต่การหายใจเอาฝุ่นที่มีเชื้อแบคทีเรียนี้เข้าไป

การปรุงอาหารให้สุกสามารถฆ่าเชื้อแบคทีเรียแซลโมเนลลาได้ การล้างผัก ผลไม้ด้วยน้ำอาจไม่สามารถทำลายเชื้อได้ โดยเฉพาะในช่วงที่เชื้อกำลังระบาด ดังนั้นทางที่ดี ควรทิ้งผักผลไม้ที่น่าสงสัยไปเลย จะปลอดภัยกว่า

อาหารดิบที่เป็นผลผลิตมาจากสัตว์ เช่น เนื้อ สัตว์ปีก นมและผลิตภัณฑ์ของนม ไข่ อาหารทะเล และผัก ผลไม้บางชนิด อาจเป็นตัวพาหะแพร่เชื้อแบคทีเรียแซลโมเนลลา ดังนั้นจึงควรหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารดิบหรืออาหารที่ยังไม่สุก รวมถึงนมที่ไม่ได้ผ่านการฆ่าเชื้อพาสเจอร์ไรซ์ (Pasteurization) อาหารทำเอง (Homemade) ที่ปรุงด้วยไข่ดิบ เช่น มายองเนส (Mayonnaise) คุกกี้ และไอศกรีม เป็นต้น

เชื้อแซลโมเนลล่า สามารถอาศัยอยู่ได้เป็นสัปดาห์ภายนอกร่างกายของสิ่งมีชีวิต เชื้อนี้จะไม่ถูกทำลายด้วยการแช่แข็ง (Freezing) แสงอัลตราไวโอเล็ต (Ultra-Violate : UV) และความร้อนเป็นตัวเร่งให้เชื้อตายได้ เชื้อจะตายหลังจากถูกความร้อนที่อุณหภูมิ 55 °C (Celsius) เป็นระยะเวลานาน 90 นาที หรือที่อุณหภูมิ 60 °C เป็นระยะเวลานาน 12 นาที

อย่างไรก็ดี เพื่อเป็นการป้องกันการติดเชื้อนี้ แนะนำให้ปรุงอาหารด้วยความร้อนที่อุณหภูมิ 75 °C ขึ้นไป เป็นระยะเวลานานอย่างน้อย 10 นาที เพื่อให้ความร้อนเข้าถึงส่วนในสุดของตัวอาหาร สำหรับคนไทยที่พำนักอยู่ หรือกำลังจะเดินทางไปสหรัฐอเมริกา ควรพึงระมัดระวังในเรื่องนี้เป็นพิเศษ

แหล่งข้อมูล:

  1. Multistate Outbreak of Salmonella Typhimurium Infections Linked to Cantaloupe. http://www.cdc.gov/salmonella/typhimurium-cantaloupe-08-12/index.html [2012, August 27].
  2. What is Salmonella? http://www.webmd.com/food-recipes/food-poisoning/ss/slideshow-salmonella [2012, August 27].
  3. Salmonella. http://en.wikipedia.org/wiki/Salmonella [2012, August 27].