เชื้อราช่องปาก (Oral thrush หรือ Oropharyngeal candidiasis)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ: คือโรคอะไร? พบบ่อยไหม?

เชื้อราช่องปาก (Oral thrush หรือ Oropharyngeal candidiasis)คือ โรคที่เกิดจากช่องปากซึ่งในที่นี้รวมถึงช่องคอ/ลำคอ (คอหอยส่วนปาก และ คอหอย) และหลอดอาหาร ติด โรคเชื้อราที่โดยทั่วไปคือ เชื้อราชนิด Candida albicans ที่มักเรียกกันสั้นๆว่า แคนดิดา(Candida) ส่งผลให้มีฝ้าขาวเหมือนน้ำนมกระจายเกิดทั่วไปในช่องปาก ลำคอ คอหอย และ/หรือในหลอดอาหาร ก่อให้เกิดอาการเจ็บคอ/คออักเสบมาก เจ็บเวลากลืน/กลืนลำบาก กิน/ดื่มได้น้อย และอาจมีไข้ร่วมด้วยหรือไม่ก็ได้

อนึ่ง ชื่ออื่นของเชื้อราช่องปาก คือ Oral candidiasis, หรือ Candidiasis of the mouth and throat

เชื้อราแคนดิดา(Candida): เป็นเชื้อประจำถิ่นของผิวหนังและของเนื้อเยื่อเมือกของ ช่องปาก ในลำคอ และอาจรวมไปถึงในหลอดอาหาร กระเพาะอาหาร ลำไส้ และที่อวัยวะเพศ ซึ่งในภาวะร่างกายปกติ เชื้อรานี้จะไม่ก่อให้เกิดโรค แต่ถ้าเกิดเสียสมดุลระหว่างเชื้อรานี้กับแบคทีเรียประจำถิ่น หรือจากร่างกายมีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคที่ต่ำลง จะส่งผลให้เชื้อรานี้ทวีจำนวนขึ้นเป็นอย่างมากจนก่อให้เกิดเป็นการติดเชื้อ/เป็นโรคขึ้นได้ ซึ่งโรคจากติดเชื้อรานี้เรียกว่า “ โรคแคนดิไดอะซิส (Candidiasis หรือ Moniliasis) ” ซึ่ง

  • เมื่อโรคเกิดขึ้นที่เนื้อเยื่อเมือกของช่องปาก ช่องคอ คอหอย จะเรียกว่า ‘เชื้อราช่องปาก’ หรืออีกชื่อ คือ ‘เชื้อราคอหอยส่วนปาก(Oropharyngeal Candidiasis)’
  • เมื่อเกิดที่หลอดอาหารจะเรียกว่า ‘เชื้อราหลอดอาหาร (Esophageal Candidiasis)’
  • หรือเมื่อเกิดที่อวัยวะเพศหญิงเรียกว่า ‘เชื้อราในช่องคลอด’

แต่ในบทความนี้จะกล่าวถึงเฉพาะการติดเชื้อรานี้ในช่องปาก คอหอย ช่องคอ และหลอดอาหาร และขอเรียกรวมกันว่า “เชื้อราช่องปาก”

ทั้งนี้ พบการติดเชื้อราช่องปากได้เรื่อยๆ ไม่บ่อย พบทุกวัยตั้งแต่ทารกแรกเกิดจนถึง ผู้สูงอายุ แต่พบบ่อยในทารกอายุน้อยกว่า 1 เดือน, ในผู้สูงอายุ, และในผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต้านโรคที่บกพร่อง/ต่ำ (เช่น ผู้ป่วยเอชไอวี/โรคเอดส์, ผู้ป่วยมะเร็งโดยเฉพาะเมื่อได้ยาเคมีบำบัด) แต่ไม่ค่อยพบในวัยรุ่นและวัยหนุ่มสาว

เชื้อราช่องปากเกิดได้อย่างไร?

เชื้อราช่องปาก

เชื้อราช่องปากเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น

  • การเสียสมดุลระหว่างเชื้อรา Candida และแบคทีเรียประจำถิ่นในช่องปาก สาเหตุนี้มักพบจากการกินยา/ใช้ยาบางชนิดต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน เช่น ยาปฏิชีวนะ, ยาสเตียรอยด์, ยากดภูมิคุ้มกัน เช่น ยา Cyclosporin , ยาเคมีบำบัด
  • ผู้ที่ใช้ยาสเตียรอยด์พ่นทางปากหรือทางจมูก เช่น ในโรคหืด เพราะจะทำให้มียา สเตียรอยด์ตกค้างในช่องปากได้อย่างต่อเนื่องส่งผลให้ติดเชื้อราได้ง่าย
  • ร่างกายมีระบบภูมิคุ้มกันต้านทานโรคบกพร่อง/ต่ำ เช่น ในในโรคเอชไอวี/โรคเอดส์ โรคมะเร็ง โรคเบาหวาน ผู้สูงอายุ
  • ทารกติดเชื้อรานี้จากมารดาในขณะคลอด เช่น มารดาที่มีเชื้อราในช่องคลอดและ คลอดบุตรทางช่องคลอด
  • การให้นมบุตร มักติดกันไปมาระหว่างแม่และลูกจากการติดเชื้อราของแม่ที่หัวนม (จากเปียกชื้นจากน้ำนม) หรือที่หัวจุกขวดนม (จากล้างไม่สะอาด) ซึ่งโอกาสเกิดจะสูงขึ้นเมื่อมารดาติดเชื้อราในช่องคลอดด้วย
  • จากใส่ฟันปลอม โดยเฉพาะชนิดใส่เต็มปากเพราะจะทำให้เกิดการระคายเคืองต่อ เนื้อเยื่อเมือกในช่องปากจนเนื้อเยื่อเมือกในช่องปากเสียการต้านทานโรค รวมไปถึงการรักษาความสะอาดฟันปลอมได้ไม่ดีพอ ซึ่งมักพบเชื้อราที่เพดานบน และในผู้ที่ใส่ฟันปลอมทั้งวันทั้งคืน ไม่ถอดออกช่วงนอนกลางคืน
  • ภาวะปากคอแห้ง เพราะจะส่งผลให้เชื้อราทวีจำนวนมากขึ้นผิดปกติ
  • การฉายรังสีรักษามะเร็งอวัยวะในระบบ-ศีรษะ-ลำคอ เช่น มะเร็งช่องปาก มะเร็งโพรงหลังจมูก มะเร็งคอหอยส่วนปาก

ใครมีปัจจัยเสี่ยงเกิดเชื้อราช่องปาก?

ผู้มีปัจจัยเสี่ยงเกิดเชื้อราช่องปาก คือ

  • ทารกที่เกิดจากมารดามีเชื้อราในช่องคลอด
  • ผู้กินยา/ใช้ยาบางชนิดต่อเนื่องดังกล่าวใน ‘หัวข้อ สาเหตุฯ’ ที่รวมถึงการพ่นยา สเตียรอยด์ ทางปาก ทางจมูก
  • มีระบบภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำจากทุกสาเหตุ
  • ผู้มีเชื้อราในช่องคลอด
  • เด็กทารก และ ผู้สูงอายุ
  • การใส่ฟันปลอมโดยเฉพาะใส่แบบเต็มปาก
  • มีภาวะปากคอแห้ง
  • ผู้ป่วยโรคมะเร็งที่ได้รับการรักษาด้วยยาเคมีบำบัดและ/หรือรังสีรักษาที่บริเวณช่องปาก

เชื้อราช่องปากมีอาการอย่างไร?

อาการที่พบได้บ่อยจากการติดเชื้อราในช่องปาก คือ

  • มองเห็นมีฝ้าสีขาวข้น เป็นมันที่เนื้อเยื่อเมือกในช่องปาก
  • ฝ้าคล้ายนมข้นบนเนื้อเยื่อเมือกที่มีสีแดง
  • มีเลือดออกได้เล็กน้อยเมื่อขูด/ลอกฝ้าออก
  • ฝ้าเหล่านี้กระจายเป็นหย่อมๆ มักพบในบริเวณกระพุ้งแก้มและที่ลิ้นก่อน เมื่อเป็นมากจึงพบได้กับเนื้อเยื่อทุกส่วนของ ช่องปาก ลำคอ คอหอยส่วนปาก คอหอย และอาจลามลงไปถึงหลอดอาหาร ซึ่งในระยะแรกๆอาจไม่มีอาการอื่นร่วมด้วย และถ้าไม่สังเกตก็อาจไม่เห็นฝ้าขาว

แต่เมื่อเป็นมากขึ้น อาการอื่นๆที่พบร่วมได้ คือ

  • เจ็บที่รอยฝ้า เจ็บช่องปาก ลำคอ
  • เจ็บเวลากลืน กลืนลำบาก
  • อาจรู้สึกคล้ายมีอะไรติดในคอ
  • อาจมีไข้ต่ำๆ
  • เบื่ออาหาร
  • ลิ้นไม่รับรู้รสชาติ
  • อ่อนเพลีย
  • น้ำหนักตัวลดจากกินได้น้อยเพราะเจ็บเวลากลืน
  • ภาวะขาดน้ำ จากดื่มน้ำได้น้อยจากเจ็บคอเวลาดื่มน้ำ

เมื่อไหร่ควรพบแพทย์

โรคเชื้อราช่องปาก อาจก่อให้เกิดการติดเชื้อลุกลามจนเป็นสาเหตุถึงตายได้ ดังนั้นเมื่อมีอาการดังกล่าว ไม่ควรดูแลรักษาตนเอง ควรรีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลเสมอ โดยเฉพาะเมื่อโรคเกิดในวัยรุ่นหรือวัยหนุ่มสาวเพราะโดยทั่วไป ทั้ง 2 กลุ่มนี้มักไม่ติดเชื้อราในช่องปากยกเว้นกรณีมีโรคที่ส่งผลถึงมีระบบภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำซ่อนเร้นอยู่

แพทย์วินิจฉัยเชื้อราช่องปากได้อย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยเชื้อราช่องปากได้จาก

  • การซักถามประวัติทางการแพทย์ต่างๆของผู้ป่วย ที่สำคัญ เช่น อาการ โรคประจำตัว ยาต่างๆที่ใช้อยู่
  • การตรวจร่างกาย
  • การตรวจดูรอยโรคในช่องปาก
  • ทั่วไป ไม่จำเป็นต้องมีการตรวจอื่นๆเพื่อการสืบค้นเพิ่มเติม
  • แต่บางครั้ง
    • อาจมีการขูดเอาฝ้าขาวไปส่องตรวจด้วยด้วยกล้องจุลทรรศน์ หรือ
    • การส่องกล้องตรวจหลอดอาหาร ซึ่งอาจมีการตัดชิ้นเนื้อที่รอยโรคเพื่อการตรวจทางพยาธิวิทยาเพื่อหาสาเหตุของรอยโรคในหลอดอาหาร ทั้งนี้ขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์

รักษาเชื้อราช่องปากอย่างไร?

แนวทางการรักษาเชื้อราช่องปากคือ การรักษาควบคุมโรคที่เป็นสาเหตุหรือการหลีก เลี่ยงสาเหตุ , การใช้ยาต้านเชื้อรา, และการรักษาตามอาการ (การรักษาประคับประคองตามอาการ)

ก. การรักษาควบคุมโรคที่เป็นสาเหตุหรือการหลีกเลี่ยงสาเหตุ: เช่น การรักษาควบคุมโรคเบาหวาน, โรคเอดส์, โรคหืด, การหยุดใช้ยาสเตียรอยด์, การหยุดใช้ยาปฏิชีวนะ เป็นต้น

ข. การใช้ยาต้านเชื้อรา: มียาหลายตัวที่ใช้ฆ่าเชื้อราชนิดนี้ได้ เช่น ยา Gential violet, Clotrimazole, Nystatin, Ketoconazole, Posaconazole, Fluconazole, Amphotericin B ซึ่งยาเหล่านี้มีอยู่ได้หลายรูปแบบ เช่น ยาทา ยาอม ยาบ้วนปาก ยากิน ยาเหน็บ และยาฉีด

ทั้งนี้แพทย์จะเลือกใช้ยาใดและรูปแบบใดขึ้นกับ

  • ตำแหน่งที่เกิดโรค
  • ความรุนแรงของอาการ และ
  • ดุลพินิจของแพทย์

ค. การรักษาตามอาการ: คือ มีอาการอย่างไรก็รักษาตามอาการนั้น เช่น

  • ยาแก้เจ็บคอ
  • การบ้วนปากด้วยน้ำเกลือบ่อยๆและทุกครั้งหลังการบริโภคทางปาก หรือ
  • ถ้าเจ็บคอมากจนกินอาหารทางปากได้น้อย การรักษาคือการให้สารอาหารทางหลอด เลือดดำ
  • นอกจากนั้นคือ
    • การดื่มน้ำสะอาดให้พอเพียงอย่างน้อยวันละ 8 - 10 แก้วถ้าไม่มีโรคที่แพทย์ให้จำกัดน้ำดื่ม
    • การรักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ) เพื่อให้สุขภาพแข็งแรงเพิ่มภูมิคุ้มกันต้านทานโรคให้กับร่างกาย

เชื้อราช่องปากมีผลข้างเคียงอย่างไร?

ผลข้างเคียงที่อาจพบได้เมื่อเกิดเชื้อราช่องปาก คือ

  • อาการเจ็บปาก/คอ
  • การกลืนแล้วเจ็บ/ กลืนลำบาก ที่ส่งผลให้กินอาหาร ดื่มน้ำได้น้อย ร่างกายจึงมักอ่อนเพลีย ขาดอาหาร และมีภาวะขาดน้ำ
  • แต่ในผู้ป่วยที่มีระบบภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำ เชื้อราอาจลุกลามออกนอกช่องปาก ส่งผลให้เกิดการติดเชื้อกับอวัยวะต่างๆได้ทั่วตัว เช่น ทางเดินอาหาร ปอด สมอง เรียกว่า Systemic disease จนอาจเป็นสาเหตุให้ถึงตายได้

เชื้อราช่องปากมีการพยากรณ์โรคอย่างไร?

การพยากรณ์โรคของเชื้อราช่องปาก โดยทั่วไป เป็นโรครักษาได้หายภายใน 1-2 สัปดาห์ โดยโรคมักจำกัดอยู่เฉพาะการติดเชื้อในช่องปากเท่านั้น

แต่ในผู้มีระบบภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำมาก เชื้ออาจลุกลามเป็นการติดเชื้อทั่วตัว ที่เป็นเหตุให้ถึงตายได้

ดูแลตนเองอย่างไร?

การดูแลตนเองเมื่อเป็นเชื้อราช่องปากหลังพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลแล้วคือ

  • ปฏิบัติตาม แพทย์ พยาบาล แนะนำ
  • กินยา/ใช้ยาต่างๆตามแพทย์สั่งให้ครบถ้วน ถูกต้อง ไม่ขาดยา ไม่หยุดใช้ยาเองถึงแม้อาการจะดีขึ้น
  • บ้วนปากด้วยน้ำเกลือบ่อยๆและทุกครั้งหลังกินอาหาร อาจเป็นน้ำเกลือที่ใช้บ้วนปากจากโรงพยาบาล (Normal saline) หรือใช้เกลือละลายน้ำในสัดส่วนที่ไม่เค็มมาก เช่น ใช้เกลือประมาณครึ่งช้อนชาต่อน้ำเปล่าสะอาดประมาณ 2 - 3 ลิตรโดยละลายใช้วันต่อวัน
  • รักษาความสะอาดช่องปากด้วย
    • การแปรงฟันวันละ 2 ครั้งหลังตื่นนอนเช้าและก่อนเข้านอน
    • ใช้ไหมขัดฟัน (Dental floss) 1 ครั้งก่อนแปรงฟันก่อนนอน
    • ใช้ยาสีฟันที่มีฟลูออไรด์ และที่รสจืด เช่น ยาสีฟันเด็ก เพื่อลดอาการแสบช่องปากเมื่อแปรงฟัน รวมทั้งขนแปรงต้องอ่อนนุ่ม
  • หลีกเลี่ยงอาหารหวานเพราะจะทำให้เชื้อราเจริญได้ดี
  • ดูแลหัวนมทั้งของมารดาและหัวนมขวดนมลูกให้สะอาดอยู่เสมอ กรณีให้นมบุตรและ/หรือ กรณีโรคเกิดในเด็กที่ดื่มนมมารดาหรือดูดนมจากขวด
  • ไม่ซื้อยาต่างๆใช้เองโดยเฉพาะยาปฏิชีวนะและยาสเตียรอยด์โดยไม่ปรึกษา แพทย์ หรือเภสัชกร หรือพยาบาล ก่อน
  • รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ) เพื่อให้สุขภาพแข็งแรง เพิ่มภูมิคุ้มกันต้าน ทานโรค
  • ออกกำลังกายสม่ำเสมอทุกวันตามควรกับสุขภาพ
  • ดื่มน้ำสะอาดอย่างน้อยวันละ 8 - 10 แก้วป้องกันภาวะปากคอแห้งและเพื่อไม่ให้ร่างกายเกิดภาวะขาดน้ำถ้าไม่มีโรคที่แพทย์ให้จำกัดน้ำดื่ม
  • ดูแลฟันปลอมให้สะอาดตามทันตแพทย์แนะนำ กรณีใส่ฟันปลอม
  • พบแพทย์/ไปโรงพยาบาลตามนัดเสมอ

ควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไหร่?

ควรพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลก่อนนัดเมื่อ

  • อาการต่างๆเลวลง
  • กิน ดื่มน้ำได้น้อยหรือไม่ได้ อ่อนเพลีย
  • มีไข้ ท้องเสีย ไอมาก
  • ระดับการรู้สึกตัวต่ำกว่าปกติ
  • มีอาการผิดปกติที่ต่างไปจากเดิม
  • กังวลในอาการ

ป้องกันเชื้อราช่องปากอย่างไร?

ป้องกันเชื้อราช่องปากได้โดย

  • รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ)
  • ดื่มน้ำสะอาดให้พอเพียงอย่างน้อยวันละ 6 - 8 แก้วไม่ให้เกิดภาวะปากคอแห้งเมื่อไม่มีโรคที่แพทย์ให้จำกัดน้ำดื่ม
  • ป้องกันรักษาควบคุมโรคต่างๆที่เป็นสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยง เช่น โรคเบาหวาน โรคหืด โรคเชื้อราในช่องคลอด
  • รักษาความสะอาดช่องปากด้วยการแปรงฟันวันละ 2 ครั้งหลังตื่นนอนเช้าและก่อนเข้านอน, และใช้ไหมขัดฟัน (Dental floss) 1 ครั้งก่อนแปรงฟันก่อนนอน, ใช้ยาสีฟันที่มีฟลูออไรด์ ที่มีรสจืด (เช่น ยาสีฟันเด็ก) เพื่อลดอาการแสบช่องปากเมื่อแปรงฟัน
  • ออกกำลังกายตามควรกับสุขภาพสม่ำเสมอทุกวัน
  • ไม่กินยาพร่ำเพรื่อ, ไม่ซื้อยาปฏิชีวนะและ/หรือยาสเตียรอยด์ใช้เองโดยไม่ปรึกษา แพทย์ เภสัชกร หรือ พยาบาลก่อน
  • ดูแลรักษาความสะอาดฟันปลอมตามทันตแพทย์แนะนำ
  • ดูแลรักษาความสะอาดหัวนมมารดาและหัวนมขวดนม กรณีให้นมบุตรและ/หรือเด็กบริโภค นมขวด

บรรณานุกรม

  1. Gonsalves, W. et a. (2007). Am Fam Physician.75, 501-506 [2021,March20]
  2. Klotz, S. (2006). Clinical Infectious Disease.42, 1187-1188 [2021,March20]
  3. Vazquez, J. (2010). HIV/AIDS-Research and Pallative Care. 2, 89-101 [2021,March20]
  4. https://emedicine.medscape.com/article/969147-overview#showall [2021,March20]
  5. https://www.cdc.gov/fungal/diseases/candidiasis/thrush/ [2021,March20]
  6. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC2907793/ [2021,March20]