เชื้อปนเปื้อน คลอสทริเดียม โบทูลินัม (ตอนที่ 5 และตอนจบ)

โบทูลิซึมจากบาดแผลสามารถป้องกันได้ด้วยการรักษาทันทีที่เกิดบาดแผล และหลีกเลี่ยงการใช้เข็มที่ไม่สะอาด เช่น การฉีดยาเสพติด

ส่วนใหญ่การรักษาโบทูลิซึมในเด็กต้องเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาล ปัจจุบันมียาตัวเดียวที่ใช้รักษาโบทูลิซึมในเด็ก คือ Botulism Immune Globulin Intravenous-Human (BIG-IV หรือ BabyBIG)

การรักษาผู้ป่วยโบทูลิซึมกรณีรุนแรงที่มีปัญหาเรื่องระบบการหายใจและอัมพาตอาจต้องอาศัยเครื่องช่วยหายใจเป็นเวลาหลายสัปดาห์พร้อมการดูแลรักษาอย่างเป็นพิเศษ

ในกรณีของโบทูลิซึมจากอาหารและบาดแผล หากสามารถวิเคราะห์โรคได้เร็วในระยะแรก จะสามารถรักษาได้โดยใช้ระบบภูมิคุ้มกันที่ได้รับ (Passive immunity) ซึ่งเป็นภูมิคุ้มกันหรือแอนติบอดีที่สร้างขึ้นจากม้า โดยสามารถยับยั้งสารพิษในกระแสเลือดได้ เป็นการช่วยไม่ให้ผู้ป่วยมีอาการแย่ลง อย่างไรก็ดีก็ยังคงต้องใช้ระยะเวลาในการพักฟื้นอีกหลายสัปดาห์

นอกจากนี้แพทย์อาจต้องหาวิธีเอาอาหารปนเปื้อนที่อยู่ในกระเพาะออกด้วยการให้อาเจียนหรือการสวนทวาร ส่วนบาดแผลมักใช้การผ่าตัดช่วยเพื่อเอาแหล่งผลิตสารพิษออกจากร่างกาย

โบทูลิซึมสามารถใช้ในการก่อการร้ายด้วยอาวุธทางชีวภาพ โดยใช้วิธีทำให้สารพิษโบทูลิซึมแพร่กระจายทางอากาศ ทางอาหารและน้ำ การติดต่อของโรคโบทูลิซึมทางอากาศทำให้เกิดอาการคล้ายคลึงกับการติดต่อผ่านทางอาหาร

ทั้งนี้ สถาบันวิจัยโรคติดเชื้อหน่วยแพทย์กองทัพบกสหรัฐอเมริกา (United States Army Medical Research Institute of Infectious Diseases: USAMRIID) ได้ถือว่า โบทูลิซึม อยู่ภายใต้ระดับความปลอดภัยทางชีวภาพ BSL-434 (Biosafety Level 434)

อย่างไรก็ดี เป็นที่น่าสนใจว่าโบทูลิซึมก็ใช้เป็นประโยชน์ได้ โดยการใช้สารสกัดจากพิษโบทูลิซึม (Botulism toxin) ในการรักษาอาการกล้ามเนื้อหดตัวผิดปกติ เช่น

อาการคอบิด (Torticollis) สปาสโมดิค ดีส์โฟเนีย [Spasmodic dysphonia เป็นอาการที่กล้ามเนื้อที่เกี่ยวข้องกับระบบการออกเสียงและรอบๆ บริเวณกล่องเสียงทำงานผิดปกติ มีการหดเกร็งของกล้ามเนื้อ ทำให้ออกเสียงลำบาก] หลอดอาหารเกร็งตัว (Achalasia) ตาเหล่ (Strabismus) ภาวะการเคลื่อนไหวผิดปกติของกล้ามเนื้อรอบปากและคาง (Oromandibular dystonia) ภาวะการเคลื่อนไหวผิดปกติของกล้ามเนื้อที่คอหรือโรคคอบิด (Cervical dystonia) และ ภาวะการเคลื่อนไหวผิดปกติของกล้ามเนื้อที่รอบตา (Blepharospasm)

นอกจากนี้ ยังมีการใช้โบทูลิซึมท็อกซินในการยับยั้งรอยย่นที่เกิดจากการหดตัวของกล้ามเนื้อ โดยการรักษานี้ได้รับการรับรองจากองค์การอาหารและยา (Food and Drug Administration = FDA) ในปี 2545

สำหรับผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นได้ก็คือ เป็นรอยช้ำ (Bruising) หนังตาตก (Ptosis) คลื่นไส้ (Nausea) and ภาวะพูดลำบาก (Dysphasia)

แหล่งข้อมูล:

  1. Botulism - http://en.wikipedia.org/wiki/Botulism. http://en.wikipedia.org/wiki/Learning_disability [2013, September 16].
  2. Botulism. http://www.medicinenet.com/botulism/page8.htm [2013, September 16].