เชื้อปนเปื้อน คลอสทริเดียม โบทูลินัม (ตอนที่ 3)

นพ.บุญชัยกล่าวอีกว่า ขณะนี้ อย.ยังไม่มั่นใจการนำเข้าผลิตภัณฑ์นม หรือเวย์โปรตีนจากนิวซีแลนด์ จึงขอให้ผู้ประกอบการที่นำเข้าผลิตภัณฑ์หรือวัตถุดิบที่เกี่ยวข้อง หากนำเข้ามาจากบริษัท ฟอนเทอร์รา ประเทศนิวซีแลนด์ ขอให้ส่งหลักฐานในการตรวจวิเคราะห์ หรือใบรับรองผลิตภัณฑ์ (COA) ให้กับ อย.ไทย เพื่อยืนยันปลอดเชื้อแบคทีเรีย ไม่เช่นนั้นห้ามนำเข้าเด็ดขาด ส่วนหากเป็นการนำเข้าจากประเทศอื่นๆ ขอให้ส่งหลักฐานมาด้วย เพื่อยืนยันเช่นกัน

สำหรับ ภญ.ศรีนวล กรกชกร รองเลขาธิการ อย. กล่าวว่า การรวบรวมข้อมูลว่ามีการนำเข้าผลิตภัณฑ์นม และวัตถุดิบผลิตนมผง ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการ เนื่องจากผลิตภัณฑ์เหล่านี้ไม่ได้นำเข้าเพียงส่วนเดียว โดยแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ เวย์โปรตีน และมิลค์เบส หากต้องการทราบว่ามีเวย์โปรตีนที่มีปัญหาเท่าใด ก็ต้องมาตรวจสอบว่ามิลค์เบส ที่นำเข้ามาได้ผสมเวย์โปรตีนจากแหล่งใด ซึ่งตรงนี้ต้องใช้เวลาในการตรวจสอบ

โบทูลิซึมสามารถทำให้ระบบทางเดินหายใจล้มเหลวและเสียชีวิตได้ อย่างไรก็ดีในระยะ 50 ปีที่ผ่านมา อัตราการตายจากโบทูลิซึมอยู่ที่ร้อยละ 50-7 ทั้งนี้เพราะการได้รับการดูแลที่ดีขึ้น ผู้ป่วยที่มีอาการร้ายแรงอาจต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ (Mechanical ventilation) บางครั้งอาจนานหลายเดือน ผู้ป่วยที่รอดชีวิตจากโบทูลิซึมอาจมีอาการเหนื่อยล้าและหายใจลำบาก (Shortness of breath) เป็นเวลาหลายปี

โรคอาหารเป็นพิษโบทูลิซึม (Foodborne botulism) เกิดจากการที่อาหารปนเปื้อนด้วยเชื้อคลอสทริเดียม โบทูลินัม แล้วเจริญเติบโตในสภาวะที่ไม่มีออกซิเจน เช่น อาหารกระป๋อง มักแสดงอาการภายหลังการกิน 12–36 ชั่วโมง หรือ 6 ชั่วโมง-10 วัน

อาการของโบทูลิซึมในอาหาร ได้แก่ กลืนอาหารหรือพูดลำบาก ปากแห้ง กล้ามเนื้อที่หน้าไม่มีแรง เห็นภาพไม่ชัดหรือเห็นภาพซ้อน หนังตาตก หายใจลำบาก คลื่นไส้ อาเจียน ปวดช่องท้อง และเป็นอัมพาต

โรคโบทูลิซึมที่บาดแผล (Wound botulism) เกิดจากการที่บาดแผลติดเชื้อแบคทีเรียและซึมเข้าสู่กระแสเลือด มักพบในผู้ที่ฉีดสารเสพติด

อาการของโบทูลิซึมที่บาดแผล ได้แก่ กลืนอาหารหรือพูดลำบาก กล้ามเนื้อที่หน้าไม่มีแรง เห็นภาพไม่ชัดหรือเห็นภาพซ้อน หนังตาตก หายใจลำบาก และเป็นอัมพาต

การตรวจโบทูลิซึมในเด็กอาจทำโดยการทดสอบอุจจาระหรือสวนทวารเพื่อทำการวิเคราะห์ทางชีววิทยา วิธีที่ใช้ตรวจวิเคราะห์อาจรวมถึงวิธีที่เรียกว่า Enzyme-linked immunosorbent assays (ELISAs) เพื่อใช้สังเกตจากสีที่เกิดขึ้นเมื่อทำปฏิกิริยากับสาร ทำให้สามารถวิเคราะห์ปริมาณของจุลินทรีย์และสารพิษที่แบคทีเรียสร้างขึ้น หรือวิธีทดสอบที่เรียกว่า Electrochemiluminescent (ECL) และการเพาะเชื้อ (Mouse inoculation)

อย่างไรก็ดีอาการของโรคบางอย่างก็คล้ายคลึงกับโบทูลิซึม เช่น กลุ่มอาการ/โรคจีบีเอส (GBS) หรือ กิลแลง-บาร์เร (Guillain-Barré syndrome) โรคหลอดเลือดสมองตีบตัน (Stroke) และโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง (Myasthenia gravis) ดังนั้นจึงอาจใช้วิธีตรวจอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น การตรวจสมอง (Brain scan) การตรวจน้ำไขสันหลัง (Cerebrospinal fluid) การตรวจด้วยเครื่องวัดคลื่นไฟฟ้ากล้ามเนื้อ (Electromyography = EMG)

แหล่งข้อมูล:

  1. อย.ออกมาตรการเข้มนำเข้านมผงนิวซีแลนด์ ต้องมีใบรับรองชัดhttp://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1375785078&grpid=&catid=09&subcatid=0902 [2013, September 14].
  2. Botulism - http://en.wikipedia.org/wiki/Botulism. http://en.wikipedia.org/wiki/Learning_disability [2013, September 14].
  3. Botulism. http://www.mayoclinic.com/health/botulism/DS00657 [2013, September 14].