เจาะสัก ร่างกาย ระวังไวรัสตับอักเสบซี (ตอนที่ 1)

พล.ต.นพ.อนุชิต จูฑะพุทธิ เลขาธิการมูลนิธิโรคตับ ได้กล่าวถึงโรคไวรัสตับอักเสบซี (C) ว่า เป็นอีกโรคที่มีไวรัสเป็นพาหะ ขณะนี้พบสูงขึ้นเรื่อยๆ และน่าเป็นห่วงที่สุด เพราะผู้ป่วยมักไม่รู้ว่าตัวเองได้รับเชื้อมา โดยเฉพาะการสัก การเจาะส่วนต่างๆ ในร่างกาย ล้วนแต่เป็นช่องทางให้เชื้อไวรัสเข้าสู่ร่างกายโดยตรง

พล.ต.นพ.อนุชิต กล่าวว่า โรคไวรัสตับอักเสบซีเป็นโรคที่ไม่แสดงอาการออกมาอย่างชัดเจน บางรายพบว่ามีไข้ต่ำ เมื่อยล้า คลื่นไส้ เบื่ออาหาร ฯลฯ ทำให้ผู้ติดเชื้อคิดไม่ถึงว่าเป็นอาการของโรคไวรัสตับอักเสบซี กว่าครึ่งหนึ่งของผู้ติดเชื้อมักเป็นเรื้อรัง และกว่าจะรู้ตัวก็อาการรุนแรงถึงขั้นเป็นโรคตับแข็ง และลุกลามกลายไปสู่มะเร็งตับในที่สุด

โรคไวรัสตับอักเสบ (Hepatitis) เป็นลักษณะที่มีการอักเสบติดเชื้อเกิดขึ้นที่ตับ มีหลายชนิด แต่ที่รู้จักกันดี ก็คือ โรคไวรัสตับอักเสบ เอ (A) โรคไวรัสตับอักเสบบี (B) และโรคไวรัสตับอักเสบซี โดยแต่ละโรคเกิดจากเชื้อไวรัสที่แตกต่างกัน แม้ว่าแต่ละตัวจะทำให้เกิดอาการที่คล้ายๆ กัน แต่ก็มีลักษณะการติดต่อและผลกระทบกับตับที่แตกต่างกันไป

โรคไวรัสตับอักเสบเอ จะเกิดขึ้นแบบเฉียบพลันหรือเกิดขึ้นแต่ไม่เรื้อรัง ผู้ที่เป็นโรคไวรัสตับอักเสบเอ มักหายได้เองโดยไม่ต้องรักษา ในขณะที่โรคไวรัสตับอักเสบบีและโรคไวรัสตับอักเสบซีอาจเริ่มต้นด้วยการติดเชื้อแบบเฉียบพลัน แต่เชื้อก็ยังคงอยู่ในร่างกาย ทำให้เกิดอาการเรื้อรังและเป็นปัญหาต่อตับในระยะยาว

ปัจจุบันมีวัคซีนใช้สำหรับป้องกันโรคไวรัสตับอักเสบเอและโรคไวรัสตับอักเสบบี แต่ยังไม่มีวัคซีนสำหรับโรคไวรัสตับอักเสบซี ทั้งนี้ หากใครเป็นโรคไวรัสตับอักเสบชนิดใดชนิดหนึ่งแล้ว ก็ยังมีโอกาสเป็นโรคไวรัสตับอักเสบชนิดอื่นได้ด้วย

สำหรับโรคไวรัสตับอักเสบซี (Hepatitis C) เป็นโรคที่มีการติดเชื้อ Hepatitis C virus (HCV) เกิดขึ้นที่ตับ และสามารถทำลายตับได้อย่างถาวร เช่นเดียวกับ โรคตับแข็ง (Cirrhosis) โรคมะเร็งตับ (Liver cancer) และโรคตับวาย (Liver failure) โดยระยะเวลาในการฟักตัวของเชื้อไวรัสตับอักเสบซีอยู่ที่ 2 สัปดาห์ ถึง 6 เดือนหลังจากที่เชื้อเข้าสู่ร่างกาย อย่างไรก็ดีคนที่ได้รับเชื้อสามารถแพร่เชื้อตลอดเวลาแม้ว่าจะไม่ปรากฏอาการก็ตาม

มีหลายคนที่ไม่รู้ว่าตัวเองเป็นโรคไวรัสตับอักเสบซีจนกระทั่งตับถูกทำลายไปแล้วซึ่งก็ใช้เวลาหลายปี ในขณะที่บางคนเป็นโรคนี้ในระยะสั้นๆ และหายได้ โรคไวรัสตับอักเสบซีมี 2 แบบ คือ โรคไวรัสตับอักเสบซีแบบเฉียบพลัน (Acute hepatitis C) และ โรคไวรัสตับอักเสบซีแบบเรื้อรัง (Chronic hepatitis C )

โรคไวรัสตับอักเสบซีแบบเฉียบพลัน เป็นการป่วยระยะสั้นในเวลา 6 เดือน ภายหลังจากการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซี โดยมีร้อยละ 75 - 85 ที่ติดเชื้อแล้วพัฒนาไปเป็นโรคไวรัสตับอักเสบซีแบบเรื้อรังได้ คนส่วนใหญ่จะไม่ปรากฏอาการภายหลังการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซีแต่อย่างไร อาจมีเพียงแค่อาการคล้ายหวัดซึ่งจะหายไปในไม่กี่สัปดาห์ ทำให้คนไม่สามารถรู้ว่าตัวเองเป็นโรคไวรัสตับอักเสบซีเป็นระยะเวลานาน

ส่วนโรคไวรัสตับอักเสบซีแบบเรื้อรัง เป็นการป่วยแบบเรื้อรังที่นานเกิน 6 เดือน เพราะเชื้อไวรัสตับอักเสบซียังคงอยู่ในร่างกาย ซึ่งอาจจะอยู่ไปตลอดชีวิต การติดเชื้อมักทำให้เกิดแผลเป็นเล็กๆ ในตับ ซึ่งถ้าหากมีจำนวนมากก็จะทำให้ตับทำงานได้แย่ลง ประมาณร้อยละ 25 ของผู้ที่เป็นแบบเรื้อรัง จะมีปัญหาในตับ อย่างตับแข็งหรือมะเร็งตับ ในเวลา 20 ปี หรือมากกว่านั้น

แหล่งข้อมูล:

  1. เตือนผู้ชื่นชอบเจาะ-สักร่างกาย ระวังไวรัสตับอักเสบซีมาเยือน http://www.thairath.co.th/content/life/318242 [2013, January 11].
  2. Overview. http://www.cdc.gov/hepatitis/c/cfaq.htm [2013, January 11].
  3. Topic Overview. http://www.webmd.com/hepatitis/hepc-guide/hepatitis-c-topic-overview [2013, January 11].