เจมไซทาบีน (Gemcitabine)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาเจมไซทาบีน(Gemcitabine หรือ Gemcitabine hydrochloride หรือ Gemcitabine HCl) เป็นยาเคมีบำบัดที่มีฤทธิ์ยับยั้งการสังเคราะห์สารที่จำเป็นในการเจริญเติบโตของเซลล์(Antimetabolite) ส่งผลทำให้เซลล์ตายลง ทางคลินิกใช้ยาเจมไซทาบีนเป็นยารักษาโรคมะเร็งหลายประเภท โดยยาชนิดนี้จะเข้าแทรกแซงกระบวนการเจริญเติบโตและการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็ง ธรรมชาติของยาเคมีบำบัดหลายตัวซึ่งรวมยาเจมไซทาบีนด้วย จะทำให้เม็ดเลือดและเกล็ดเลือดในร่างกายต่ำลง ส่งผลให้ผู้ป่วยมีภาวะติดเชื้อได้ง่าย หรือกรณีมีบาดแผลก็จะทำให้เลือดหยุดไหลช้า ตลอดจนส่งผลกระทบต่อการทำงาน ของตับ ของไต หรือของปอด ของผู้ป่วย นอกจากนี้การใช้รังสีรักษามักจะกระทำควบคู่กันไป พร้อมกับใช้ยาชนิดนี้/ยานี้ เป็นผลให้ผิวหนังผู้ป่วยเกิดอาการ บวม แดง ลอก และมีลักษณะเยิ้ม/มีน้ำเหลืองซึมตามมา

อาการข้างเคียง(ผลข้างเคียง)ที่สามารถพบเห็นได้บ่อยหลังจากได้รับการบำบัดด้วยยาเจมไซทาบีน คือ มีไข้ หนาวสั่น ปวดกล้ามเนื้อ ปวดศีรษะ มีอาการเหมือนเป็นไข้หวัดใหญ่ อ่อนเพลีย คลื่นไส้อาเจียน เบื่ออาหาร ท้องเสียร่วมกับมีอุจจาระสีคล้ำคล้ายมีเลือดปน หากพบเห็นกรณีเหล่านี้ ต้องรีบนำผู้ป่วยกลับมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลเพื่อแพทย์ช่วยเยียวยาตามอาการที่เกิดขึ้น

รูปแบบเภสัชภัณฑ์ของยาเจมไซทาบีนเป็นประเภทยาฉีด หลังจากตัวยาเข้าสู่กระแสเลือดจะมีการทำลายได้อย่างรวดเร็วที่ตับ ระยะเวลาที่ร่างกายจะกำจัดยาเจมไซทาบีนขึ้นอยู่กับอัตราการให้ยานี้ทางหลอดเลือดดำ กล่าวคือ หากหยดยานี้เข้าหลอดเลือดฯโดยใช้เวลาน้อยกว่า 70 นาทีลงมา ร่างกายจะใช้เวลากำจัดยานี้ประมาณ 42–94 นาที ขณะที่การหยดยาเข้าหลอดเลือดฯในอัตราประมาณ 3–4 ชั่วโมง จะต้องใช้เวลากำจัดยานี้ประมาณ 4–10.5 ชั่วโมง โดยผ่านทิ้งไปกับปัสสาวะ

อนึ่ง ในปี ค.ศ.2010 (พ.ศ.2553) องค์การอนามัยโลกได้กำหนดให้ยา เจมไซทาบีนเป็นยาจำเป็นขั้นพื้นฐานสำหรับสถานพยาบาลควรมีสำรองไว้รักษาผู้ป่วยมะเร็ง และคณะกรรมการอาหารและยาของไทยก็ได้บรรจุให้ยาเจมไซทาบีนอยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติโดยอยู่ในหมวดของยาควบคุมพิเศษและมีเงื่อนไขการใช้งานดังนี้

1. ใช้สำหรับ Advanced pancreatic cancer(มะเร็งตับอ่อนระยะลุกลาม)

2. ใช้สำหรับ Advanced non-small cell lung cancer(มะเร็งปอดชนิดเซลล์ตัวโตระยะลุกลาม)

3. ใช้สำหรับ Advanced bladder cancer(มะเร็งกระเพาะปัสสาวะระยะลุกลาม)

4. ใช้สำหรับ Second -line หรือ Subsequent line(ยากลุ่มที่สอง) ใน advanced ovarian cancer(มะเร็งรังไข่ระยะลุกลาม)ที่ดื้อต่อยาเคมีบำบัดในกลุ่ม Taxane

และเพื่อให้การรักษาด้วยยาเจมไซทาบีนเป็นไปอย่างมีประสิทธิผล ผู้ป่วยควรให้ความร่วมมือกับแพทย์ โดยมาโรงพยาบาลเพื่อรับการให้ยานี้ตามที่แพทย์นัดหมาย และปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของแพทย์/พยาบาล/เภสัชกรอย่างเคร่งครัด

เจมไซทาบีนมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?

เจมไซทาบีน

ยาเจมไซทาบีนมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น

  • ใช้รักษาโรคมะเร็งหลายชนิด เช่น มะเร็งตับอ่อน มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ มะเร็งรังไข่ มะเร็งเต้านมระยะแพร่กระจาย มะเร็งเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน และ มะเร็งปอดชนิดเซลล์ตัวโต

เจมไซทาบีนกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยาเจมไซทาบีนมีกลไกการออกฤทธิ์ต่อเซลล์มะเร็ง โดยทำลายสารพันธุกรรมอย่าง RNA หรือ DNA ทำให้เซลล์มะเร็งหมดสภาพในการจำลองหรือแบ่งเซลล์ขึ้นมาใหม่ จึงเป็นเหตุผลให้เกิดการยับยั้งการเจริญเติบโตและการแพร่กระจายของเซลล์ มะเร็งได้ตามสรรพคุณ

อย่างไรก็ตาม เซลล์ปกติที่ได้รับการสัมผัสกับยาชนิดนี้จะได้รับอิทธิพลของยานี้เช่นเดียวกับเซลล์มะเร็ง จึงทำให้ร่างกายได้รับผลข้างเคียงต่างๆ ตามมา

หมายเหตุ ปัจจุบันทางการแพทย์มีข้อสรุปว่า ยาในกลุ่ม Antimetabolite หลายรายการ สามารถออกฤทธิ์ยับยั้งและต่อต้านการแบ่งเซลล์มะเร็งและเซลล์ปกติไปพร้อมๆกัน

เจมไซทาบีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาเจมไซทาบีนมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น

  • ยาฉีด ที่ประกอบด้วยตัวยา Gemcitabine HCl ขนาด 1 กรัม/ขวด และ 200 มิลลิกรัม/ขวด

เจมไซทาบีนมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?

ยาเจมไซทาบีนมีขนาดการบริหารยา/ใช้ยา เช่น

ก. สำหรับรักษาการมะเร็งตับอ่อน:

  • ผู้ใหญ่: ฉีดยาขนาด 1,000 มิลลิกรัม/พื้นที่ผิวของร่างกาย 1 ตารางเมตร การให้ยา 1 ครั้งควรใช้เวลา 30 นาทีขึ้นไป ให้ยาสัปดาห์ละ 1 ครั้ง เป็นเวลา 7 สัปดาห์ติดต่อกัน และหยุดการให้ยาในสัปดาห์ที่ 8 จากนั้นให้เริ่มให้ยาในรอบใหม่โดยนับจำนวนวันเป็น 28 วัน/รอบ เริ่มให้ยาวันที่ 1, วันที่ 8 และวันที่ 15 ครบการให้ยาในรอบที่สอง

ข. สำหรับรักษามะเร็งปอดชนิดเซลล์ตัวโต:

  • ผู้ใหญ่: นับรอบระยะเวลาการให้ยาครั้งแรก 28 วัน โดยเริ่มให้ยา 1,000 มิลลิกรัม/พื้นที่ผิวของร่างกาย 1 ตารางเมตร ในวันที่ 1, 8 และ15 สัปดาห์ละ 1 ครั้ง โดยให้ร่วมกับยาCisplatin; จากนั้นจึงเริ่มการให้ยารอบใหม่โดยนับ 21 วันต่อรอบ เริ่มให้ ยา 1,250 มิลลิกรัม/พื้นที่ผิวของร่างกาย 1 ตารางเมตร ในวันที่ 1 และ 8 โดยใช้ร่วมกับยาCisplatin

ค. สำหรับรักษามะเร็งเต้านม:

  • ผู้ใหญ่: นับรอบการให้ยา 21 วัน โดยเริ่มให้ยาขนาด 1,250 มิลลิกรัม/พื้นที่ผิวของร่างกาย1 ตารางเมตร ในวันที่ 1 และวันที่ 8 โดยให้ร่วมกับยา Paclitaxel (ยาเคมีบำบัดอีกชนิด)

ง. สำหรับรักษามะเร็งรังไข่:

  • ผู้ใหญ่: ให้ยา 1,000 มิลลิกรัม/พื้นที่ผิวของร่างกาย 1 ตารางเมตร ในวันที่ 1 และ 8 โดยใช้ร่วมกับยา Carboplatin(ยาเคมีบำบัดชนิดหนึ่ง)

อนึ่ง:

  • เด็ก: ขนาดยาและการใช้ยานี้ในเด็ก ยังไม่มีข้อมูลทางคลินิกด้านความปลอดภัยอย่างแน่ชัด
  • การเตรียมยาเจมไซทาบีนเพื่อฉีดยาให้ผู้ป่วย ให้ผสมยาด้วยสารละลาย 0.9% Sodium chloride ในสัดส่วนตัวยาต่อสารละลายเท่ากับ 200 มิลลิกรัม ต่อ 5 มิลลิลิตร
  • การใช้ยาเคมีบำบัดที่รวมถึงยาเจมไซทาบีนกับโรคมะเร็งดังกล่าว ผู้ป่วยจะได้รับการตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด(CBC)และเกล็ดเลือด เพื่อแพทย์จะได้ปรับขนาดการใช้ยาเคมีบำบัดให้มีความเหมาะสมและปลอดภัยต่อผู้ป่วยมากที่สุด
  • การใช้ยาเจมไซทาบีนรักษามะเร็งเต้านม จะถูกระงับการใช้ยานี้ทันทีเมื่อพบอาการต่างๆดังต่อไปนี้

    1. ผู้ป่วยมีภาวะหยุดหายใจ หรือตัวยาก่อให้เกิดพิษ(ผลข้างเคียงรุนแรง)กับปอดอย่างรุนแรง

    2. เกิดภาวะตับเป็นพิษ/ตับอักเสบอย่างรุนแรง

    3. เกิดภาวะ Hemolytic-uremic syndrome ซึ่งคือ ภาวะที่มีเม็ดเลือดแดงแตกและมีของเสียในเลือดเกิดขึ้นจากอาการไตวายเฉียบพลัน

    4. เกิดกลุ่มอาการรั่วของหลอดเลือดฝอย(Capillary leak syndrome)

    5. เกิดภาวะผิดปกติทางสมองที่เรียกว่า Posterior reversible encephalopathy syndrome คือ มีสมองบวมที่ส่งผลให้เกิดอาการชัก สับสน ตามองเห็นน้อยลง เป็นต้น

*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาเจมไซทาบีม ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาเจมไซทาบีนอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้ เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมมารับการฉีดยาควรทำอย่างไร?

ผู้ป่วยต้องได้รับยาเจมไซทาบีนต่อเนื่องจึงจะเกิดประสิทธิผลของการรักษา กรณีลืมหรือมีเหตุขัดข้องไม่สามารถมารับการฉีดยานี้ได้ จะต้องรีบติดต่อแพทย์/พยาบาล/บุคคลากรที่เกี่ยวข้องที่ทำการรักษาดูแลผู้ป่วย เพื่อทำการนัดหมายการให้ยานี้ครั้งใหม่โดยเร็ว

เจมไซทาบีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาเจมไซทาบีนสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์จากยา(ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกายดังนี้ เช่น

  • ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น คลื่นไส้อาเจียน มีอาการท้องเสียหรืออาจท้องผูก กระเพาะอาหารอักเสบ ช่องปากเป็นแผล
  • ผลต่อระบบประสาท: เช่น มีไข้ หนาวสั่น ปวดศีรษะ ง่วงนอน ความรู้สึกสัมผัสเพี้ยน
  • ผลต่อผิวหนัง: เช่น มีภาวะผมร่วง ผด ผื่นคัน เหงื่อออกมาก
  • ผลต่อระบบเลือด: เช่น มีภาวะโลหิตจาง เกล็ดเลือดต่ำ เม็ดเลือดขาวต่ำ กดไขกระดูก เกิดภาวะ Capillary leak syndrome
  • ผลต่อตับ: เช่น ตับอักเสบ เอนไซม์การทำงานของตับในเลือดเพิ่มขึ้น ค่าบิลิรูบินในเลือดสูง ตับวาย
  • ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด: เช่น หัวใจเต้นผิดจังหวะ หัวใจล้มเหลว ความดันโลหิตต่ำ หรืออาจมีความดันโลหิตสูง
  • ผลต่อระบบภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของร่างกาย: เช่น มีภาวะติดเชื้อได้ง่าย มีอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่
  • ผลต่อกล้ามเนื้อ: เช่น ปวดหลัง ปวดกล้ามเนื้อ
  • ผลต่อไต: เช่น ปัสสาวะมีเลือดปน/ปัสสาวะเป็นเลือด มีโปรตีนในปัสสาวะ ไตวายเฉียบพลัน เกิดภาวะHemolytic-uremic syndrome
  • ผลต่อระบบทางเดินหายใจ: เช่น หายใจขัด ไอ เยื่อจมูกอักเสบ
  • ผลต่อระบบการเผาผลาญพลังงานของร่างกาย: เช่น เบื่ออาหาร

มีข้อควรระวังการใช้เจมไซทาบีนอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาเจมไซทาบีน เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
  • ห้ามใช้ยานี้กับสตรีมีครรภ์ สตรีในภาวะให้นมบุตร
  • กรณีเกิดอาการคล้ายเป็นไข้หวัดใหญ่หลังได้รับยานี้ แพทย์จะแนะนำให้ผู้ป่วยรักษาร่างกายให้อบอุ่นตลอดเวลา และดื่มน้ำวันละ 2–3 ลิตรเพื่อประคับ ประคองอาการ
  • หลีกเลี่ยงการอยู่ในที่มีผู้คนแออัดเพราะจะเสี่ยงต่อการติดโรคต่างๆ และควร ล้างมือบ่อยครั้งในแต่ละวัน
  • หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายที่เสี่ยงต่อการบาดเจ็บ ด้วยสภาพร่างกายขณะได้รับยาชนิดนี้จะมีเกล็ดเลือดต่ำ
  • หลีกเลี่ยงการสัมผัสแสงแดดจัดด้วยจะกระตุ้นให้เกิดอาการแพ้ทางผิวหนัง(ผื่นแพ้แสงแดด)มากยิ่งขึ้น
  • ป้องกันการตั้งครรภ์สำหรับผู้ป่วยที่เป็นสตรี ขณะที่ได้รับยาชนิดนี้
  • สำหรับผู้ป่วยบุรุษ การมีเพศสัมพันธ์กับสตรีควรใส่ถุงยางอนามัยชายทุกครั้ง เพื่อป้องกันการส่งผ่านตัวยาเจมไซทาบีนไปกับน้ำอสุจิ
  • หากมีอาการข้างเคียงอย่างเช่น คลื่นไส้ อาเจียน ให้รับประทานอาหารในปริมาณน้อยๆต่อมื้อ แต่รับประทานให้บ่อยครั้งขึ้น
  • ห้ามดื่มเครื่องดื่มประเภทแอลกอฮอล์
  • พักผ่อนอย่างเต็มที่เพื่อให้ร่างกายฟื้นสภาพอย่างรวดเร็ว
  • มาโรงพยาบาบเพื่อรับการตรวจร่างกายจากแพทย์ตามแพทย์นัดหมายทุกครั้ง
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยาเจมไซทาบีนด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ

เจมไซทาบีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาเจมไซทาบีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาเจมไซทาบีนร่วมกับ ยา Bleomycin เพราะเสี่ยงต่อการเกิดพิษกับตับของผู้ป่วย
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาเจมไซทาบีนร่วมกับ ยาWarfarin ด้วยจะทำให้เกิดภาวะเลือดออกง่ายตามมา
  • ห้ามรับการให้วัคซีนใดๆขณะได้รับยาเจมไซทาบีน เพราะเสี่ยงต่อการติดเชื้อรุนแรงจากตัววัคซีนเอง
  • ห้ามใช้ยาเจมไซทาบีนร่วมกับ ยา Certolizumab เพราะเสี่ยงต่อการติดเชื้ออย่างรุนแรงตามมา

ควรเก็บรักษาเจมไซทาบีนอย่างไร?

ควรเก็บรักษายาเจมไซทาบีนดังนี้ เช่น

  • เก็บยาเจมไซทาบีนที่เป็นผงแห้งภายใต้อุณหภูมิ 20–25 องศาเซลเซียส(Celsius)
  • เก็บยาเจมไซทาบีนที่เป็นลักษณะยาเตรียมสารละลายภายใต้อุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส และควรต้องนำมาใช้ภายใน 24 ชั่วโมง
  • ห้ามเก็บยานี้ทุกรูปแบบในช่องแช่แข็งตู้เย็น
  • เก็บยานี้ในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น

เจมไซทาบีนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาเจมไซทาบีน มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Leukine (ลูคีน)Pacific Healthcare
Leucomax (ลูโคแม็กซ์)Silom Medical
Leucomax (ลูโคแม็กซ์)Fresenius Kabi
Leukine (ลูคีน)Hetero
Leucomax (ลูโคแม็กซ์)Klab
Leucomax (ลูโคแม็กซ์)Eli Lilly

บรรณานุกรม

    1. http://chemocare.com/chemotherapy/drug-info/gemcitabine.aspx [2018,April7]
    2. https://www.drugs.com/mtm/gemcitabine.html [2018,April7]
    3. https://www.drugs.com/dosage/gemcitabine.html#Usual_Adult_Dose_for_Pancreatic_Cancer [2018,April7]
    4. https://www.drugs.com/sfx/gemcitabine-side-effects.html [2018,April7]
    5. https://www.drugs.com/drug-interactions/gemcitabine-index.html?filter=3&generic_only= [2018,April7]
    6. https://en.wikipedia.org/wiki/Gemcitabine#Pharmacology [2018,April7]
    7. http://drug.fda.moph.go.th:81/nlem.in.th/medicine/essential/list/133#item-8776 [2018,April7]
    8. http://medinfo.psu.ac.th/smj2/32_4_2014/9_jirawadee(56005).pdf [2018,April7]