เคี้ยวหมากฝรั่ง อาจยับยั้งหูติดเชื้อ

เด็กเล็กส่วนใหญ่ก่อนถึงอายุ 5 ปี มีโอกาสติดเชื้อที่หูชั้นกลางอย่างน้อยหนึ่งครั้ง ในสหรัฐอเมริกา เด็กเล็กประมาณปีละ 16 ล้านคน ต้องไปพบแพทย์เพราะสาเหตุดังกล่าว แต่วิธีการง่ายๆโดยการเคี้ยวหมากฝรั่งที่มีสารให้ความหวาน Xylitol อาจเป็นวิธีที่ช่วยป้องกันการติดเชื้อหูชั้นกลางอย่างได้ผล

Xylitol เป็นสารที่ให้ความหวานตามธรรมชาติ มักใช้ในผลิตภัณฑ์หลายอย่างในการลดปริมาณแคลอรี่ อาทิ หมากฝรั่ง ลูกอม หรืออาหารอบ เช่น ขนมปัง ทันตแพทย์บางคนแนะนำให้เคี้ยวหมากฝรั่งที่มีสารนี้ เพื่อป้องการฟันผุ

จากการศึกษางานวิจัย 3 ชิ้นเกี่ยวกับสุขภาพเด็กเล็กจำนวน 1,826 คน จากประเทศฟินแลนด์ และงานวิจัยอีกชิ้นหนึ่งเกี่ยวกับ เด็กเล็กจำนวน 1,277 คน ที่มีการติดเชื้อในระบบหายใจ ซึ่งมีความเสี่ยงสูงในการวิวัฒนาไปเป็นการติดเชื้อที่หู

ทีมนักวิจัยพบว่า อาจมีหลักฐานเพียงพอในการสนับสนุนบทสรุปที่ว่า เด็กเล็กเคี้ยวหมากฝรั่งที่มีสาร Xylitol อาจลดความเสี่ยงที่ของการติดเชื้อที่หูชั้นกลางลง ในการวิเคราะห์ผลงานวิจัยเด็กเล็กตามสถานดูแลเด็กเล็กช่วงกลางวันในฟินแลนด์พบว่า การบริโภคสาร Xylitol ในรูปแบบของหมากฝรั่ง ลูกกวาด หรือน้ำเชื่อม มีความสัมพันธ์กับความเสี่ยงที่ลดลง 25% ในวิวัฒนาการของการติดเชื้อที่หูชั้นกลาง

การติดเชื้อที่หูชั้นกลาง หลายครั้งเกิดจากการสะสมของแบคทีเรียในท่อหูชั้นกลางที่เชื่อมกับคอหอย (Eustachian tube) ซึ่งเชื่อมจมูกกับหูด้วย ดังนั้น Xylitol อาจป้องกันการติดเชื้อที่หูชั้นกลางได้ด้วย โดยป้องกันมิให้แบคทีเรียเติบโตจากที่ดังกล่าว

การวิจัยดังกล่าว ยังพบว่า การบริโภค Xylitol ดูเหมือนจะไม่ได้ลดการติดเชื้อที่หูลงในบรรดาเด็กเล็กที่ป่วยด้วยโรคทางเดินหายใจ แต่ก็พบว่า หมากฝรั่งที่ประกอบด้วย Xylitol ได้ผลดีกว่า น้ำเชื่อมที่ประกอบด้วย Xylitol ในการป้องกันการติดเชื้อที่หูชั้นกลางในเด็กเล็กซึ่งมีสุขภาพดี แต่การวิจัยไม่พบความแตกต่างระหว่างหมากฝรั่งที่ประกอบด้วย Xylitol กับลูกอมที่ประกอบด้วย Xylitol ในการป้องกันการติดเชื้อหูชั้นกลาง

ทันตแพทย์ Amir Azarpazhooh แห่งมหาวิทยาลัย Toronto เห็นศักยภาพความเป็นไปได้ของผลการวิจัยนี้ แต่ก็ตั้งข้อสังเกตว่า แม้งานวิจัยที่ผ่านมา ล้วนสรุปผลดังกล่าว แต่เป็นผลงานจากกลุ่มนักวิจัยในฟินแลนด์ [เพียงประเทศเดียว] ดังนั้น จึงต้องมีการวิจัยเพิ่มเติมเพื่อพิสูจน์ว่า Xylitol สามารถป้องกันการติดเชื้อที่หูชั้นกลางได้จริง

นายแพทย์ Mark Shikowitz ผู้เชี่ยวชาญด้านโสต ศอ นาสิกวิทยาแห่ง North Shore-LIJ Health System ในนครนิวยอร์ค คิดว่าผลงานวิจัยนี้ยัง่หางไกลจากความน่าเชื่อถือ เขากล่าวว่า แพทย์ในประเทศสแกนดิเนเวีย [ซึ่งรวมฟินแลนด์ด้วย] มักไม่ใช้ยาปฏิชีวนะ (Antibiotics) ในการรักษาการติดเชื้อที่หู เหมือนแพทย์ในสหรัฐอเมริกา ดังนั้นการวิจัยกับเด็กเล็กในฟินแลนด์ อาจไม่ได้ผลในเด็กเล็กอเมริกันก็ได้

แหล่งข้อมูล:

  1. Chew on This: Gum May Prevent Ear Infections. http://children.webmd.com/news/20111117/chew-on-this-gum-may-prevent-ear-infections [2011, November 20].