เครื่องปรุงพิซซ่า รักษามะเร็งต่อมลูกหมาก? (ตอนที่ 3 และตอนจบ)

นักเภสัชวิทยา ดร. สุปรียา บาวาดีการ์ กล่าวว่า นักวิจัยเคยพบว่าการกินพิซซ่าอาจช่วยลดความเสี่ยงต่อมะเร็งได้ โดยมีการอธิบายว่าเป็นผลจากสารไลโคปีน (Lycopene) ซึ่งเป็นเม็ดสีที่ทำให้มะเขือเทศมีสีแดง จึงพบในซอสมะเขือเทศ ช่วยป้องกันมะเร็ง และลดความเสี่ยงของโรคหัวใจ แต่ผลวิจัยของ ดร. สุปรียา พบว่าออริกาโน (Oregano) อาจมีบทบาทในเรื่องนี้ด้วย เนื่องจากมีสารคาร์วาโครล (Carvacrol) ที่อาจมีสรรพคุณในการรักษามะเร็งต่อมลูกหมากได้

ออริกาโนมักใช้ใส่ในอาหาร จึงไม่มีผลข้างเคียงที่เป็นพิษ อย่างไรก็ดี การศึกษาวิจัยของ ดร. สุปรียา นี้ยังเพิ่งเป็นข้อสรุปเบื้องต้นเท่านั้น ต้องมีการทดลองต่อไปเพื่อให้รู้แน่ชัดถึงประโยชน์ในทางยา ซึ่งอาจเป็นการนำไปใช้โดยตรง หรือเป็นพิมพ์เขียว (Blueprint) สำหรับการรักษาที่ได้ผลดียิ่งขึ้น

ทางด้าน มาร์กาเร็ต เรย์แมน อาจารย์ด้านตัวยาจากอาหารแห่งมหาวิทยาลัยเซอร์เรย์ในอังกฤษ กล่าวว่า เรื่องนี้ยังต้องมีการศึกษาเพิ่มเติม เพื่อให้แน่ใจว่าการรักษาโดยอาศัยสารจากออริกาโน จะเป็นอันตรายต่อเซลล์ที่ดีน้อยกว่าเป็นอันตรายต่อเซลล์มะเร็ง

ออริกาโนเป็นเครื่องเทศ มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Origanum vulgare มีกลิ่นหอมเฉพาะตัว รสชาติเผ็ดซ่าอ่อนๆ เหมาะกับอาหารจานซอสมะเขือเทศทุกชนิด และเป็นเครื่องเทศประจำตัวของพิซซ่า ส่วนสารคาร์วาโครลเป็นสารที่พบได้ในน้ำมันหอมระเหยของสมุนไพรที่ใช้ทำเป็นเครื่องเทศ เช่น ออริกาโน มะกรูดป่า เป็นต้น

สารคาร์วาโครลเป็นสารที่สามารถยับยั้งการเติบโตของเชื้อแบคทีเรียหลายตัว เช่น เชื้อ Escherichia coli หรือเรียกโดยย่อว่า อี.โคไล (E. coli) ที่ทำให้เกิดอาการท้องเสีย และเชื้อ Bacillus cereus ที่ทำให้เกิดอาการอาหารเป็นพิษ เป็นต้น ด้วยรสและกลิ่นที่ดีจึงมีการนำมาใช้ในการเพิ่มรสชาติของอาหาร ในการป้องกันการติดเชื้อแบคทีเรีย โดยสารคาร์วาโครลจะเข้าทำลายเซลล์เนื้อเยื่อของแบคทีเรียและยับยั้งการแพร่กระจายของเชื้อ

สารนี้เป็นตัวกระตุ้นตัวรับ (Receptor) ในร่างกายที่เรียกว่า Transient Receptor Potential V3 (TRPV3) และ A1 (TRPA1) การนำสารคาร์วาโครลมาแตะลิ้นจะเป็นการกระตุ้นตัว TRPV3 ซึ่งจะทำให้รู้สึกถึงความอุ่น นอกจากนี้สารคาร์วาโครลยังกระตุ้นตัว TRPA1 ซึ่งจะช่วยบรรเทาการรับรู้อาการเผ็ดแสบร้อนลงได้

จากการทดลองในหนูพบว่าร่างกายหนูมีการเผาผลาญ (Metabolized) และขับสารคาร์วาโครลออกจากร่างกายได้เร็วมาก หลังจาก 24 ชั่วโมงจะพบสารคาร์วาโครลในปัสสาวะหนูเพียงเล็กน้อย แสดงให้เห็นว่าหนูสามารถขับสารดังกล่าวออกจากร่างกายได้ภายใน 1 วัน

บทวิจัยของ ดร. สุปรียา บาวาดีการ์ รายงานว่าสารคาร์วาโครลสามารถกระตุ้นกระบวนการทำลาย (Apoptosis) เซลล์มะเร็งต่อมลูกหมากได้ โดยพบสารคาร์วาโครลในสมุนไพรประเภทมีกลิ่นหอมที่ชื่อ Origanum ซึ่งก็เหมือนน้ำมันหอมระเหยทั่วๆ ไป ที่ไม่ก่อให้เกิดความเสี่ยงของพิษทางพันธุกรรม (Genotoxic risks) ในระยะยาวมากนัก

และดัวยคุณสมบัติที่สามารถขจัดสารที่ก่อให้เกิดอนุมูลอิสระ (Prooxidant) ได้ สารคาร์วาโครลจึงสามารถใช้เป็นยาฆ่าเชื้อ (Antiseptic) และยาต้านจุลชีพ (Antimicrobial) ได้ กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ สารคาร์วาโครลเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ (Antioxidant)

แหล่งข้อมูล:

  1. เครื่องปรุงพิซซ่าช่วยต้านมะเร็งต่อมลูกหมาก http://www.thaipost.net/x-cite/030512/56250 [2012, May 11].
  2. Carvacrol. http://en.wikipedia.org/wiki/Carvacrol [2012, May 11].