เครื่องดื่มชูพลัง คลังสะสมกาเฟอีน

ดร. Albert Woodward ผู้อำนวยการเครือข่ายเตือนภัยจากยาเสพติด (Drug Abuse Warning Network: DAWN) ซึ่งเป็นหน่วยงานรัฐที่ให้บริการด้านจิตเวชและสารเสพติด ณ เมือง Rockville รัฐแมรีแลนด์ สหรัฐอเมริกา รายงานว่า จำนวนผู้คนที่เข้ารับการรักษาฉุกเฉินในโรงพยาบาล เมื่อดื่มเครื่องดื่มยอดนิยมที่ชูพลังและผสมสารกาเฟอีน (Caffeinated energy drinks) ได้เพิ่มขึ้นมากกว่า 10 เท่าในช่วงระยะเวลา 5 ปี จาก ปี พ.ศ. 2548 ซึ่งมีผู้ป่วยดังกล่าวจำนวน 1,128 ราย เมื่อเปรียบเทียบกับ 13,114 ราย ใน ปี พ.ศ. 2552 ตัวเลขสูงสุดพบในปี พ.ศ. 2551 เมื่อมีผู้ป่วยกว่า 16,000 ราย

รายงานนี้ ยังแสดงว่า ผู้ชายมีจำนวนเกือบ 2 ใน 3 ของผู้ป่วยดังกล่าวทั้งหมด ประมาณครึ่งหนึ่งของผู้ป่วยเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัย ระหว่าง 18 ถึง 25 ปี ผู้ใหญ่อายุระหว่าง 26 ถึง 39 ปี มีจำนวนประมาณ 1 ใน 3 ของผู้ป่วย ในขณะที่วัยรุ่นอายุระหว่าง 12 ถึง 17 ปี และผู้ใหญ่ที่อายุเกิน 40 ปี มีจำนวนกลุ่มละ 11% ของผู้ป่วย

ประมาณ 44% of ผู้ป่วยดื่มเครื่องดื่มชูพลังผสมกับแอลกอฮอล์หรือยาอื่นๆ แล้วลงเอยในห้องฉุกเฉิน แต่ผู้ป่วยมักบอกแพทย์ว่า เขาดื่มเพียงเครื่องดื่มชูพลังเท่านั้น ดร. Woodward กล่าวว่า ผู้คนมักคิดว่าเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์และสารกาเฟอีน จะเป็นอันตราย แต่อาจไม่รู้ว่าเครื่องดื่มที่มีแต่กาเฟอีนอย่างเดียว ก็อาจเป็นปัญหาได้

ดร. Cecile Marczinski ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยา แห่งมหาวิทยาลัย Northern Kentucky สหรัฐอเมริกาเช่นกัน ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญที่ศึกษาผลกระทบของเครื่องดื่มชูพลังต่อสุขภาพ ให้ความคิดเห็นต่อรายงานดังกล่าว ว่าน่าแปลกใจและน่าเป็นห่วง เธอกล่าวว่า เครื่องดื่มชูพลังอยู่ในรูปกระป๋องที่มีสีสันเตะตา แสดงออกถึงความเป็นลูกผู้ชายซึ่งมีพลังสูง จึงเป็นที่ดึงดูดความสนใจของวัยรุ่น และหนุ่มสาว ที่อาจไม่ได้ดื่มกาแฟเป็นประจำ

เธอคิดว่า ครื่องดื่มนี้อาจมีปริมาณกาเฟอีนสูง จากสมุนไพรกระตุ้น (Stimulant) จึงน่าจะเป็นอันตรายมากกว่ากาแฟ กระป๋องใหญ่ของเครื่องดื่มนี้ ทำให้ง่ายต่อการแจกจ่ายเพื่อดื่มในวงเพื่อนฝูง รสชาติก็หอมหวานและแช่เย็น [ชุ่มฉ่ำ] สามารถดื่มแทนน้ำหรือเครื่องดื่มด้านกีฬา เมื่อต้องการดับกระหาย จึงมักดื่มกันในปริมาณมากกว่าเครื่องดื่มที่มีกาเฟอีนอื่นๆ

แพทย์หญิง Tamara R. Kuittinen ผู้อำนวยการแผนกฉุกเฉิน ณ โรงพยาบาล Lenox Hill ในนครนิวยอร์ก กล่าวว่า อาการที่พบในผู้ป่วยดังกล่าว ได้แก่ อัตราการเต้นของหัวใจที่เร็วขึ้น ความดันโลหิตสูง อาจมีไข้ จิตใจปั่นป่วน หงุดหงิด สับสน และอาจมีปัญหาในการควบคุมการเคลื่อนไหว ผลกระทบนี้อาจทวีคูณ ในผู้ป่วยที่ต้องกินยาอื่นประกอบไปด้วย ซึ่งมีอยู่ 27% ของผู้ป่วยในรายงานข้างต้น และมักจะเป็นยากระตุ้น เช่น Ritalin อีก 16% ของผู้ป่วย มีแอลกอฮอล์เป็นปัจจัย และ 10% ของผู้ป่วย มียาเสพติดที่ผิดกฎหมายผสมอยู่ด้วย

สารกาเฟอีนในเครื่องดื่มชูพลัง สามารถปิดบังความรู้สึกมึนเมาได้ การศึกษาก่อนหน้านี้พบว่า ผู้ดื่มเครื่องดื่มดังกล่าวผสมแอลกอฮอล์ในร้านเหล้า มีโอกาสออกจากร้านอย่างมึนเมาถึง 3 เท่า และขับรถระหว่างมึนเมาถึง 4 เท่า โดยผู้ดื่มไม่รู้ตัวว่ามึนเมา ดังนั้นบทเรียนสำหรับนักศึกษามหาวิทยาลัย ที่ต้องดูหนังสืออย่างหนักตอนใกล้สอบไล่ก็คือ จงพักผ่อนให้เพียงพอ ไม่มีอะไรที่ดีกว่าการได้นอนหลับอย่างน้อย 7 ชั่วโมง ในขณะที่การดื่มเครื่องดื่มชูพลังปริมาณมาก นอกจากจะไม่ช่วยอะไรได้ แล้ว ความคิดอ่านก็จะไม่แล่น นอนกระสับกระส่าย ซึ่งไม่น่าจะนำไปสู่คะแนนที่ดีขึ้นแต่อย่างใด

แหล่งข้อมูล:

  1. Energy Drinks Send Thousands to the ER Each Year. http://www.webmd.com/mental-health/alcohol-abuse/news/20111121/energy-drinks-send-thousands-to-the-er-each-year [2011, Nov 27].