เข้ามุมไปเลย (ตอนที่ 3 และตอนจบ)

เข้ามุมไปเลย-3

      

      

      สำหรับเด็กโตที่อายุ 10 ปี ขึ้นไป อาจใช้วิธีอื่น เช่น ให้เขียนประโยคที่เตือนใจเด็กว่าควรประพฤติอย่างไร เช่น “หนูจะพูดจาให้สุภาพและเชื่อฟังคุณพ่อคุณแม่” เป็นจำนวน 5 ประโยค และหากยังทำผิดอีกก็เพิ่มเป็น 10 ประโยค หรือทำลิสต์รายการที่เด็กอาจถูกห้ามกรณีที่มีพฤติกรรมที่ไม่ดี เช่น ห้ามดูทีวี ห้ามขี่จักรยาน ห้ามตื่นสาย ห้ามออกไปเล่นข้างนอก เป็นต้น

      โดยข้อดีของการ Time out ได้แก่

  • เป็นวิธีลงโทษที่น้อยกว่าวิธีอื่น เช่น การตี
  • พ่อแม่ผู้ปกครองมีมาตราฐานในการลงโทษ ว่าจะลงโทษเมื่อใร อย่างไร
  • เด็กเรียนรู้ที่จะรับผิดชอบต่อพฤติกรรมที่ไม่พึงปรารถนา และรู้ว่าอะไรควรหรือไม่ควร
  • เด็กมีการเรียนรู้ในการควบคุมตัวเอง (Self-control) มากขึ้น

      อย่างไรก็ดี การใช้ Time out ในบางครั้งก็อาจทำให้เด็กรู้สึกอ่อนแอ ทุกข์ใจ สับสน และรู้สึกไม่ปลอดภัยได้ ดังนั้น พ่อแม่ผู้ปกครองจึงควรเสริมด้วยการใช้ Time in ด้วย

      โดย Time in เป็นการแยกเด็กออกมาจากจุดเกิดเหตุ เช่นเดียวกับ Time out แต่ด้วยท่าทีที่นุ่มนวลกว่า ซึ่งจะแตกต่างจาก Time out ที่เป็นภาพของการแยกเพื่อลงโทษชัดเจน การทำ Time in จะให้พ่อแม่อยู่ด้วย อาจกอด ปลอบ ทำให้เด็กสงบ ไม่รู้สึกถูกทอดทิ้ง หรือถูกลงโทษ

      พ่อแม่ต้องใช้เวลากับเด็กมาขึ้น ด้วยการเปิดโอกาสให้เด็กได้พูดระบายความรู้สึก ในขณะเดียวกันก็สอนให้เด็กฝึกสงบสติอารมณ์ของตนเอง มีการพูดคุยถึงพฤติกรรมที่ควรทำ ทำให้เด็กรับรู้ได้ว่า พ่อแม่เข้าใจอารมณ์และความต้องการตนเอง ไม่รู้สึกอับอายหรือหวาดกลัว มีสัมพันธภาพที่ดี และพร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมไปในทางที่ดีขึ้น

      ข้อแนะนำสำหรับพ่อแม่ผู้ปกครอง

  • อย่าถกเถียงถึงระเบียบวินัยต่อหน้าเด็ก
  • มีความคงเส้นคงวาในการลงโทษหรือให้รางวัลแก่เด็กในพฤติกรรมเดียวกัน เพื่อไม่ให้เด็กเกิดความสับสน
  • ยอมรับร่วมกันในพฤติกรรมที่ควรและไม่ควร
  • ยอมรับร่วมกันในการตอบโต้ต่อพฤติกรรมที่ไม่พึงปรารถนา
  • บอกให้เด็กรู้อย่างชัดเจนว่า อะไรคือพฤติกรรมที่ไม่ควรทำ
  • บอกให้เด็กรู้อย่างชัดเจนว่าเขาจะได้รับอะไรหากเขาทำพฤติกรรมที่ไม่ควร
  • อย่าลืมว่าพฤติกรรมของพ่อแม่เป็นตัวอย่างของเด็ก
  • หากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งกำลังใช้ระเบียบกับเด็ก อีกฝ่ายก็ไม่ควรเข้ามาก้าวก่าย
  • ควรมีการให้รางวัลเมื่อมีพฤติกรรมที่ดี เช่น ให้คำชม ให้ของเล่น ให้ของกิน หรือให้เงิน

      ทั้งนี้ การเลี้ยงลูกเชิงบวก Positive Parentin ควรยึดหลักดังนี้

      - มั่นคง (Firm) – ควรมีการระบุถึงระเบียบอย่างชัดเชนและมีการปฏิบัติตาม

      - ยุติธรรม (Fair) – ลงโทษอย่างยุติธรรม คงเส้นคงวา ไม่ใช้การลงโทษที่รุนแรงเกิน และมีการให้รางวัลกรณีที่ประพฤติตัวดี

      - เป็นมิตร (Friendly) – สนับสนุนและชื่นชมเพื่อให้มีพฤติกรรมที่ดี

แหล่งข้อมูล:

  1. ก่อน Time out พ่อแม่อย่างเราต้อง Time in. http://www.thaihealth.or.th/Content/43088-ก่อน Time out พ่อแม่อย่างเราต้อง Time in.html [2018, July 9].