เข้าครัวกับโภชนากร(โรงพยาบาล)ตอน: โภชนบำบัดสำหรับผู้ป่วยการล้างไตทางช่องท้อง Part.8

เข้าครัวกับโภชนากร

แคลเซียมและฟอสฟอรัส

ระดับแคลเซียมและฟอสฟอรัสที่เพิ่มขึ้นจะทำให้แคลเซียมถูกดึงออกมาจากกระดูก เพื่อพยายามสร้างสมดุลในเลือด ซึ่งมีผลทำให้มีปัญหาเรื่องกระดูก เพื่อป้องกันเรื่องโรคกระดูกที่อาจจะเกิดขึ้น จึงต้องมีการดูแล ควบคุมปริมาณฟอสฟอรัสในอาหารด้วยและเสริมแคลเซียมให้เพียงพอ

การกำหนดปริมาณฟอสฟอรัสในอาหาร จึงกำหนดเป็นมิลลิกรัมของฟอสฟอรัสต่อกรัมของโปรตีนที่ได้รับ โดยทั่วไปผู้ป่วยที่มีไตวายเรื้อรัง มักจะกำหนดให้มีการจำกัดฟอสฟอรัสในอาหารประมาณ 12-15 มิลลิกรัม /กรัมโปรตีน/วัน

ปริมาณที่ควรได้รับในแต่ละวันขึ้นอยู่กับ

  • ความเข้มข้นของแคลเซียมและแม็กนีเซียมในน้ำยา Dialysis
  • ภาวะของโรคกระดูก
  • การคั่งของฟอสเฟตในร่างกาย ว่ามีภาวะ Hyperphosphatemia หรือไม่
  • การได้รับยา phosphate binder.

ปริมาณฟอสฟอรัสในผู้ป่วยที่ล้างช่องท้องควรได้รับ 1200 มิลลิกรัมต่อวัน สำหรับปริมาณแคลเซียม 1000-1800 มิลลิกรัมต่อวัน

อาหารที่มีฟอสฟอรัสสูง

แบ่งเป็น 2ชนิดดังนี้

1. อาหารจากธรรมชาติ คือ

  • นมทุกชนิด นมธรรมดาทุกรส นมข้นหวาน นมผง นมข้นจืด
  • ผลิตภัณฑ์จากนม เช่น ไอศกรีม เนยแข็ง
  • ถั่วและเมล็ดพืช เช่น ถั่วเหลือง ถั่วเขียว เมล็ดดอกทานตะวัน เมล็ดแตงโม
  • ผลิตภัณฑ์จากถั่ว เช่น ขนมถั่วตัด ถั่วคั่ว อบ ทอด เมล็ดงา น้ำเต้าหู้ เต้าฮวย ฟองเต้าหู้ เป็นต้น

2. อาหารแปรรูป

  • อาหารที่มีผงฟูเป็นส่วนประกอบ เช่น คุกกี้ แป้งซาลาเปา
  • อาหารที่มียีสต์ เป็นส่วนประกอบ เช่น ขนมปัง หม่านโถว
  • อาหารทะเลแช่แข็ง ซึ่งอาจเติมสารฟอสเฟตก่อนการแช่
  • อาหารเนื้อสัตว์แปรรูป เช่น ไส้กรอก ลูกชิ้น
  • เครื่องดื่มประเภทโคล่า

บรรณานุกรม

1. ชนิดา ปโชติการ ,สุนาฎ เตชางาม. โภชนบำบัดในผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง .การประชุมวิชาการสมาคมนักกำหนดอาหารแห่งประเทศไทย เรื่องมาตรฐานกระบวนการให้โภชนบำบัดทางการแพทย์ ; วันที่ 2-4 พฤษภาคม 2555 : ณ โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ เซ็นทรัลพลาซ่าลาดพร้าว. กรุงเทพฯ.

2. ปรียานุช แย้มวงษ์. Nutrition Assessment. โภชนศาสตร์ทางคลินิก;2553.สำนักพิมพ์กรุงเทพเวชสาร.กรุงเทพฯ.

3. อุปถัมภ์ ศุภสินธุ์ . Nutrition in Acute Kidney Injury. โภชนศาสตร์ทางคลินิก;2553.สำนักพิมพ์กรุงเทพเวชสาร.กรุงเทพฯ.