เข้าครัวกับโภชนากร(โรงพยาบาล)ตอน: โภชนบำบัดสำหรับผู้ป่วยการล้างไตทางช่องท้อง Part.6

เข้าครัวกับโภชนากร

แหล่งอาหารในหมวดโปรตีน

ความต้องการอาหารในหมวดโปรตีนกลุ่มผู้ป่วย CAPD ควรได้รับโปรตีนเพิ่มขึ้นจาก ระยะก่อนการบำบัดทดแทนไต ควรได้รับ 1.2 - 1.3 กรัม/น้ำหนักตัว 1 กก./วัน (K/DOQI ,2000) เนื่องจากมีการสลายตัวของโปรตีนสูงกว่าปกติซึ่งเป็นไปตามพยาธิสภาพของโรคเรื้อรังทั่วไป ประกอบการมีการสูญเสียโปรตีนมากในกระบวนการบำบัดด้วย CAPD วันละ 5 - 15 กรัมโปรตีน

ผู้ป่วยควรเลือกแหล่งอาหารที่ให้โปรตีนที่มีคุณภาพดี คือกลุ่มเนื้อสัตว์ ผู้ป่วยจึงควรได้รับการแนะนำการเลือกอาหารที่ถูกต้องเหมาะสมกับพยาธิสภาพของผู้ป่วย ตั้งแต่เริ่มต้นการบำบัดด้วยCAPD เพื่อป้องกัน

การขาดโปรตีนส่งผลต่อภาวะโภชนาการ อาจเกิดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ การอักเสบรวมทั้งอัตราการตายสูงขึ้น ผู้ป่วยควรรับประทานอาหารประเภทโปรตีนจากเนื้อสัตว์ อย่างน้อย 4ช้อนโต๊ะต่อมื้อ 3 – 4 มื้อต่อวัน โปรตีนที่ควรได้รับ > 50% ควรเป็นโปรตีนที่มีกรดอะมิโนจำเป็นครบถ้วน(High Biological Value,HBV)ซึ่งมีในอาหารประเภทเนื้อสัตว์ ไข่ และนม

การเลือกแหล่งโปรตีนจากเนื้อสัตว์

เนื้อสัตว์เป็นแหล่งโปรตีนที่มีคุณภาพดี

  • ควรเลือกเนื้อสัตว์ที่มีไขมันน้อย เช่น เนื้อปลา โดยเฉพาะเนื้อปลาทะเลที่มีกรดไขมันไม่อิ่มตัวชนิดโอเมก้า-3 ซึ่งจะช่วยลดไตรกลีเซอไรด์ในเลือดได้ อาทิ ปลาทู ปลาทูน่า ปลาโอ ปลาซาบะ ปลาหลังแข็ง และควรหลีกเลี่ยงเนื้อสัตว์ที่มีไขมันสูง เช่น หมูสามชั้น เนื้อไก่ติดหนัง
  • ผู้ป่วยในกลุ่มนี้ควรหลีกเลี่ยงเครื่องในสัตว์ เช่น ไส้ ตับ ซึ่งมีโคเลสเตอรอลสูงและสารพิวรีนสูงซึ่งจะทำให้เกิดปัญหากรดยูริกในเลือดสูงได้ ควรงดในส่วนของปีกไก่ เอ็นไก่และหนังของสัตว์
  • ไข่ โปรตีนในไข่ขาวเป็นโปรตีนที่มีคุณภาพดี ปราศจากไขมันและโคเลสเตอรอล สำหรับไขมันและโคเลสเตอรอลจะมีในไข่แดงทั้งหมด และในไข่แดงยังมีฟอสเฟตมากประมาณ 25เท่าของไข่ขาว
  • นมสด ถือว่าเป็นอาหารโปรตีนที่มีคุณภาพดี และมีแคลเซียมสูง แต่ในนมสดยังมีฟอสเฟตสูงมากกว่าในอาหารประเภทเนื้อสัตว์ทุกชนิด กรณีที่ผู้ป่วยมีปัญหาระดับฟอสเฟตในเลือดสูงแล้วมักจะแก้ไขได้ยากและมีผลเสียต่อกระดูก และการทำงานของต่อมพาราไธรอยด์ อาจทำให้เกิดโรคกระดูกเปราะได้
  • โปรตีนในพืช เช่น ในเมล็ดพืชต่างๆ ในถั่วเหลือง ถั่วลิสง ถั่วเขียว ถั่วแดง มีปริมาณโปรตีนต่ำกว่าในเนื้อสัตว์ จัดอยู่ในกลุ่มโปรตีนคุณภาพต่ำ มีฟอสเฟตและโพแทสเซียมสูง เป็นอาหารที่ควรระวังในผู้ป่วยที่มีปัญหาระดับฟอสเฟตและโปตัสเซียมสูง .

บรรณานุกรม

1. ชนิดา ปโชติการ ,สุนาฎ เตชางาม. โภชนบำบัดในผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง .การประชุมวิชาการสมาคมนักกำหนดอาหารแห่งประเทศไทย เรื่องมาตรฐานกระบวนการให้โภชนบำบัดทางการแพทย์ ; วันที่ 2-4 พฤษภาคม 2555 : ณ โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ เซ็นทรัลพลาซ่าลาดพร้าว. กรุงเทพฯ.

2. ปรียานุช แย้มวงษ์. Nutrition Assessment. โภชนศาสตร์ทางคลินิก;2553.สำนักพิมพ์กรุงเทพเวชสาร.กรุงเทพฯ.

3. อุปถัมภ์ ศุภสินธุ์ . Nutrition in Acute Kidney Injury. โภชนศาสตร์ทางคลินิก;2553.สำนักพิมพ์กรุงเทพเวชสาร.กรุงเทพฯ.