เข้าครัวกับโภชนากร(โรงพยาบาล)ตอน: โภชนบำบัดสำหรับผู้ป่วยการล้างไตทางช่องท้อง Part.4

เข้าครัวกับโภชนากร

ความต้องการสารอาหารในผู้ป่วยล้างไตทางช่องท้อง

สารอาหาร คือส่วนประกอบที่มีอยู่ในอาหาร แต่ละชนิดมีหน้าที่เฉพาะสารอาหารหลักที่ให้ พลังงาน คือไขมัน คาร์โบไฮเดรต สำหรับสารอาหารที่ควบคุมกรทำงานของร่างกายให้ทำงานได้ตามปกติคือ วิตามิน เกลือแร่ต่างๆ เมื่อไตไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ ความต้องการสารอาหารเหล่านี้ก็จะเปลี่ยนไป การกำหนดอาหารที่เหมาะสมขึ้นกับปัจจัยหลายประการ อาทิ ประวัติทางการแพทย์ ลักษณะการบริโภคอาหารที่ผู้ป่วยชอบ โรคร่วมต่างๆ(เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ) ระดับ GFR อัตราการเสื่อมของไต ปริมาณโปรตีนในปัสสาวะ ยาในกลุ่มสเตียรอยด์

ปัจจัยต่างๆเป็นข้อมูลในการคำนวณปริมาณ ชนิดของอาหารที่เหมาะสมโดยคำนึงถึงข้อกำหนดและแนวทางโภชนบำบัด ผู้ป่วยโรคไตควรรับประทานอาหารครบหมวดหมู่ ถูกหลักโภชนาการในสัดส่วนที่เหมาะสมกับสภาวะของโรค และที่สำคัญผู้ป่วยโรคไตควรต้องมีความเข้าใจถึงปริมาณและชนิดอาหารแต่ละหมวด ว่าควรรับประทานเท่าไรและควรหลีกเลี่ยงอาหารชนิดใดเมื่อผลทางชีวเคมีของระดับเลือดผิดปกติหรือมีการเปลี่ยนแปลงไป.

อาหารหมวดที่ให้พลังงาน

การที่ร่างกายได้รับพลังงานเพียงพอกับความต้องการของร่างกายเป็นสิ่งสำคัญเพราะจะช่วยให้ร่างกายใช้โปรตีนได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อใช้ในการซ่อมแซมเนื้อเยื่อ สร้างสารสำคัญ เช่น อัลบูมิน สารภูมิคุ้มกันกันโรค โดยพลังงานที่ผู้ป่วยโรคไต CAPD ควรได้รับขึ้นอยู่กับผู้ป่วยแต่ละราย โดยทั่วไป

  • ผู้ป่วยที่มีอายุน้อยกว่า 60 ปี ควรได้รับพลังงานประมาณ 35 กิโลแคลอรีต่อน้ำหนักตัวมาตรฐาน 1 กิโลกรัม/วัน
  • ผู้ป่วยที่มีอายุมากกว่า 60 ปี ควรได้รับพลังงานประมาณ 30 - 35 กิโลแคลอรีต่อน้ำหนักตัวมาตรฐาน 1 กิโลกรัม/วัน

และควรพิจาณาเพิ่มหรือลดพลังงานจากเกณฑ์ขึ้นอยู่กับสภาวะของผู้ป่วย

1. ผุ้ป่วยที่มีน้ำหนักตัวน้อยกว่าปกติ หรือมีภาวะทุพโภชนาการ อาจต้องได้รับอาหารที่ให้พลังงานสูง 40 - 50 กิโลแคลอรีต่อน้ำหนักตัวมาตรฐาน 1 กิโลกรัม/วัน

2.ผู้ป่วยที่มีน้ำหนักเกิน(Over weight) หรืออ้วน อาจต้องลดพลังงานในอาหารลงเหลือ 25 - 30 กิโลแคลอรี/วัน

แหล่งอาหารให้พลังงาน

คาร์โบไฮเดรต:

ควรได้รับในปริมาณ > 50 % ของพลังงานทั้งหมด แหล่งอาหารที่มีคาร์โบไฮเดรตคือ ข้าว ขนมจีน ก๋วยเตี๋ยวชนิดต่างๆ หัวเผือก หัวมัน ซึ่งเป็นคาร์โบไฮเดรตชนิดเชิงซ้อน( Complex carbohydrate) ที่สำคัญผู้ป่วยควรหลีกเลี่ยง น้ำตาล ซึ่งเป็นคาร์โบไฮเดรตชนิดเชิงเดียว (Simple carbohydrate)

เนื่องจากผู้ป่วยCAPD จะได้รับน้ำตาลกลูโคสจากน้ำยา diallysateมากแล้ว ผู้ป่วยจึงควรหลีกเลี่ยงขนมหวาน น้ำตาลและอาหารต่างๆที่มีน้ำตาล โดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีโรคเบาหวาน ผู้ป่วยที่มีระดับไขมันในเลือดสูงโดยเฉพาะผู้ที่มีระดับไตรกลีเซอไรด์ > 150 มก./ดล.และผู้ที่มีน้ำหนักตัวเกิน การบริโภคน้ำตาลอาจทำให้เกิดการสร้างไตรกลีเซอไรด์ในตับและลำไส้เล็กเพิ่มขึ้น ซึ่งจะเป็นผลเสีย คืออาจเกิดโรคหัวใจขาดเลือด

ผู้ป่วยCAPD มักจะมีปัญหาในการรับประทานอาหารไม่เพียงพอกับพลังงานที่ต้องการ ควรรับประทานข้าว หรือแป้งในปริมาณที่เหมาะสมกับแรงงานที่ใช้ ควรรับประทานข้าวอย่างน้อยมื้อละ 2 - 3 ทัพพี.

บรรณานุกรม

1. ชนิดา ปโชติการ ,สุนาฎ เตชางาม. โภชนบำบัดในผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง .การประชุมวิชาการสมาคมนักกำหนดอาหารแห่งประเทศไทย เรื่องมาตรฐานกระบวนการให้โภชนบำบัดทางการแพทย์ ; วันที่ 2-4 พฤษภาคม 2555 : ณ โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ เซ็นทรัลพลาซ่าลาดพร้าว. กรุงเทพฯ.

2. ปรียานุช แย้มวงษ์. Nutrition Assessment. โภชนศาสตร์ทางคลินิก;2553.สำนักพิมพ์กรุงเทพเวชสาร.กรุงเทพฯ.

3. อุปถัมภ์ ศุภสินธุ์ . Nutrition in Acute Kidney Injury. โภชนศาสตร์ทางคลินิก;2553.สำนักพิมพ์กรุงเทพเวชสาร.กรุงเทพฯ.