เข้าครัวกับโภชนากร(โรงพยาบาล)ตอน: โภชนบำบัดสำหรับผู้ป่วยการล้างไตทางช่องท้อง Part.3

เข้าครัวกับโภชนากร

Continuous ambulatory peritoneal dialysis, CAPD

ภาวะโภชนาการและผลกระทบจากการล้างไตทางช่องท้อง

ผู้ป่วยไตเรื้อรังที่ได้รับการบำบัดทดแทนไตด้วยล้างไตทางช่องท้อง (continuous ambulatory peritoneal dialysis, CAPD) ซึ่งส่งผลกระทบต่อภาวะโภชนการในหลายรูปแบบดังนี้

1.น้ำยาที่ใส่ในช่องท้องปริมาณ 2 ลิตรอาจทำให้ผู้ป่วยอึดอัดส่งผลต่อการรับประทานอาหารได้น้อย

2.การสูญเสียปริมาณโปรตีนไปจากการล้างช่องท้องซึ่งต้องเปลี่ยนวันละ 4 ครั้งทำให้มีความต้องการโปรตีนสูงเพื่อชดเชยโปรตีนที่สูญเสียไป

3.ผู้ป่วยในกลุ่ม CAPD มักพบว่ามีอัลบูมิน ในระดับที่ต่ำ

4.สูญเสียเกลือแร่และวิตามินจำเป็นที่ละลายในน้ำ อาทิ วิตามินบี 1 ,6 โฟลิค(folic) และวิตามินซีไปกับน้ำยา Dialysate

5.ผู้ป่วยในกลุ่มนี้มักจะพบว่ามีระดับของโพแทสเซียมในเลือดต่ำ ผู้ป่วยจำเป็นต้องได้รับโพแทสเซียม 70 - 80 mEq/D อาจจะได้จากยาหรืออาหาร

6.การดูดซึมน้ำตาลกลูโคสจากน้ำยา Dialysate เข้าสู่ร่างกายเพิ่มขึ้น อาจสูงถึง 100 - 300 กรัม/วัน ส่งผลให้

  • มีภาวะน้ำหนักเกิน(อ้วน)
  • ระดับน้ำตาลในเลือดสูงซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยไม่รู้สึกหิว ในระยะยาวอาจเกิดภาวะดื้อต่ออินซูลิน
  • ภาวะไขมันในเลือดสูงซึ่งเป็นไขมันไตรกลีเซอไรด์ เนื่องจากได้รับกลูโคสในปริมาณมากตลอดเวลา

7.การติดเชื้อตรง Exit siteและอาจเกิดเยื่อบุช่องท้องอักเสบ(peritonitis)ซึ่งจะมีผลกระทบอย่างแรงต่อภาวะโภชนาการของผู้ป่วย ทำให้มีความต้องการพลังงานและโปรตีนสูงขึ้น และอาจมีผลต่ออัตราการตายของผู้ป่วยด้วย หากผู้ป่วยมีระดับอัลบูมินในเลือดต่ำ รวมทั้งมีภาวะทุพโภชนาการด้านโปรตีนและพลังงานอยู่ด้วย จะเพิ่มความรุนแรงของการติดเชื้อและภาวะเยื่อบุช่องท้องอักเสบ ทำให้ต้องอยู่โรงพยาบาลนานและเสียชีวิตได้ง่าย การแก้ไขปัญหาด้านทุพโภชนาการผู้ป่วย ด้านโปรตีนและพลังงานรวมทั้งภาวะระดับอัลบูมินในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ การกำหนดอาหารและการให้คำแนะนำด้านอาหารจึงมีความสำคัญเพื่อลดอัตราการตายในผู้ป่วย.

บรรณานุกรม

1. ชนิดา ปโชติการ ,สุนาฎ เตชางาม. โภชนบำบัดในผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง .การประชุมวิชาการสมาคมนักกำหนดอาหารแห่งประเทศไทย เรื่องมาตรฐานกระบวนการให้โภชนบำบัดทางการแพทย์ ; วันที่ 2-4 พฤษภาคม 2555 : ณ โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ เซ็นทรัลพลาซ่าลาดพร้าว. กรุงเทพฯ.

2. ปรียานุช แย้มวงษ์. Nutrition Assessment. โภชนศาสตร์ทางคลินิก;2553.สำนักพิมพ์กรุงเทพเวชสาร.กรุงเทพฯ.

3. อุปถัมภ์ ศุภสินธุ์ . Nutrition in Acute Kidney Injury. โภชนศาสตร์ทางคลินิก;2553.สำนักพิมพ์กรุงเทพเวชสาร.กรุงเทพฯ.