เข้าครัวกับโภชนากร (โรงพยาบาล) ตอน: โภชนบำบัดทางการแพทย์ในผู้ป่วยมะเร็ง Part.7

เข้าครัวกับโภชนากร

ภาวะ cancer cachexia

สามารถแบ่งออกได้ 3 ระยะตามการดำเนินโรค

  1. ระยะ pre- cachexia ผู้ป่วยเริ่มมีอาการเบื่ออาหาร น้ำหนักลดลงแต่น้อยกว่า 5 %ใน 6 เดือนและเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงของเมตาบอลิซึมและเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงของเมตาบอลิซึม เช่น ภาวะดื้ออินลูซิน การที่ผุ้ป่วยจะเข้าสู่ระยะถัดไป คือระยะcachexiaช้าหรือเร็วนั้น ขึ้นกับปัจจัยหลายประการ ได้แก่ ชนิดและระยะของโรคมะเร็ง การตอบสนองต่อการรักษาโรคมะเร็ง การอักเสบเรื้อรังจากโรคมะเร็ง และปริมาณอาหารที่ผู้ป่วยสามารถรับประทานได้
  2. ระยะ cachexia ระยะนี้คือผู้ป่วยมีน้ำหนักลดลงมากกว่า 5 % ในช่วง 6 เดือนหรือมากกว่า 2 % ในผู้ป่วยที่มีดัชนีมวลกายน้อย 20 กิโลกรัม/ตาราเมตร หรือในผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยอยู่แล้ว ว่ามีมวลกล้ามเนื้อลดลงจากความเสื่อมตามอายุ ผู้ป่วยในระยะนี้รับประทานอาหารได้น้อยลงและมีการเปลี่ยนแปลงของการเมตาบอลิซึมอย่างชัดเจน
  3. ระยะ refractory cachexia ผู้ป่วยมะเร็งในระยะสุดท้ายที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยเคมีบำบัดหรือรังสีรักษาแล้ว การสูญเสียกล้ามเนื้อเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว และไม่ตอบสนองต่อโภชนบำบัดหรือการรักษาอื่นๆ ผู้ป่วยมีความสามารถในการทำกิจวัตรประจำวันลดลงอย่างชัดเจนและมักเสียชีวิตภายใน 3 เดือน จุดมุ่งหมายของการรักษาผู้ป่วยในระยะนี้ คือ การลดอาการของผู้ป่วย เพื่อให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ การรักษาที่เหมาะสมคือการรักษาแบบการประคับประคองตามอาการ

แนวทางการดูแลผู้ป่วยที่มีภาวะ cancer cachexia

ผู้ป่วยที่มีภาวะ cancer cachexia นอกจากจะได้รับพลังงานและโปรตีนไม่เพียงพอแล้ว ยังมีความผิดปกติอื่นๆอีกหลายประการ จึงจำเป็นต้องให้รักษาเพื่อแก้ไขความผิดปกติที่พบร่วมกันหลายปประการไปพร้อมๆกันดังนี้

  • การรักษาจำเพาะสำหรับโรคมะเร็ง ได้แก่การผ่าตัด การให้เคมีบำบัด การให้รังสีรักษา นอกจากนี้ การประเมินและการให้การรักษาโรคร่วมของผู้ป่วย ก็มีความสำคัญ เช่น มะเร็งตับอ่อน ควรได้รับการดูแลและประเมินการย่อย การดูดซึมอาหารที่ผิดปกติและโรคเบาหวานไปพร้อมกันๆด้วยหากพบโรคร่วมเหล่านี้
  • การรักษาอาการที่เป็นสาเหตุทุติยภูมิที่ทำให้ผู้ป่วยรับประทานอาหารได้ลดลง เช่นอาการเจ็บปาก กลืนเจ็บ คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย เจ็บปวด ซึมเศร้า เป็นต้น
  • การให้โภชนบำบัดเมื่อมีข้อบ่งชี้ เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับพลังงานและโปรตีนเพียงพอ
  • การลดการอักเสบเรื้อรัง ด้วยการใช้สารอาหารหรือยาที่มีฤทธิ์ในการลดอาการอักเสบ เนื่องจากการอักเสบเป็นตัวกระตุ้นที่สำคัญที่ทำให้ผู้ป่วยมีการสูญเสียมวลกล้ามเนื้ออย่างรวดเร็ว
  • การส่งเสริมกิจกรรมทางกาย เพื่อป้องกันการสูญเสียมวลกล้ามเนื้อจากการขาดการเคลื่อนไหว
  • การประเมินและวินิจฉัย และการให้การรักษาภาวะ cancer cachexia ในระยะเริ่มต้นเพื่อช่วยชะลอความทุพพลภาพให้เกิดช้าที่สุด

เป้าหมายของการดูแลด้านโภชนบำบัดในผู้ป่วยมะเร็งที่สำคัญคือ

  • ป้องกันและรักษาภาวะทุพโภชนาการในผู้ป่วยมะเร็ง
  • ลดภาวะแทรกซ้อนที่เกิดจากการให้การรักษาด้วยการผ่าตัด การให้เคมีบำบัด และรังสีรักษา
  • สามารถให้ผู้ป่วยสามารถรับการรักษาจำเพาะสำหรับโรคมะเร็งได้ครบตามแพทย์แนะนำ
  • ทำให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

บรรณานุกรม

  1. วีระเดช พิศประเสริฐ . การคัดกรองและประเมินสภาวะโภชนาการ. Nutrition Update สมาคมหลอดเลือดดำและทางเดินอาหารแห่งประเทศไทย ; 2556.โรงพิมพ์พราวเพรส(2002)จำกัด .กรุงเทพฯ.
  2. พรพจน์ เปรมยิน. Nutrition in Cancer . Nutrition Update สมาคมหลอดเลือดดำและทางเดินอาหารแห่งประเทศไทย ; 2556.โรงพิมพ์พราวเพรส(2002)จำกัด .กรุงเทพฯ.
  3. สมบูรณ์ ทรัพย์วงศ์เจริญ .โภชนบำบัดมะเร็งในระบบทางเดินอาหาร. การประชุมวิชาการสมาคมนักกำหนดอาหารแห่งประเทศไทย เรื่อง ทักษะสู่ความสำเร็จของการเป็นนักกำหนดอาหารเชิงรุก ; วันที่ 28 – 30 เมษายน 2557 ; ณ โรงแรมเดอะเบอร์เคลี่ย์. กรุงเทพฯ.