เข้าครัวกับโภชนากร (โรงพยาบาล) ตอน: โภชนบำบัดทางการแพทย์ในผู้ป่วยมะเร็ง Part.6

เข้าครัวกับโภชนากร

ภาวะcancer cachexia ซึ่งภาวะที่ผู้ป่วยโรคมะเร็งมีการสูญเสียมวลกล้ามเนื้ออย่างรวดเร็ว โดยอาจสูญเสียมวลไขมันไปพร้อมกันด้วย ซึ่งมักพบในผู้ป่วยมะเร็งเต้านม หรือมะเร็งระบบทางเดินอาหารส่วนล่าง มะเร็งอาจทำให้เกิดภาวะอุดตันในระบบทางเดินอาหารทำให้การย่อยหรือการดูดซึมสารอาหารลดลง โดยเฉพาะกลุ่มผู้ป่วยมะเร็งระบบทางเดินอาหาร เช่น หลอดอาหาร กระเพาะอาหาร ซึ่งภาวะนี้ไม่สามารถแก้ไขได้โดยสมบูรณ์ด้วยการให้โภชนบำบัด และส่งผลทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถทำกิจวัตรประจำวันได้ตามปกติ

ความผิดปกติในผู้ป่วย cancer cachexia แบ่งเป็น 4 ประการดังนี้

1. ผู้ป่วยรับประทานอาหารได้น้อยลง จึงได้รับพลังงานและโปรตีนไม่เพียงพอ ซึ่งเกิดจากสาเหตุใหญ่ 2 กลุ่มคือ

  1. อาการเบื่ออาหารที่เกิดจากตัวโรคมะเร็งเอง รวมไปถึงการรับรู้รสชาติ และกลิ่นที่เปลี่ยนไป ซึ่งเกิดจากระดับไคโตไซน์ในเลือด ส่งผลต่อสมองส่วนไฮโปทาลามัสซึ่งควบคุมความอยากของอาหาร ทำให้ผู้ป่วยมีความอยากอาหารลดลง
  2. อาการอื่นๆ ซึ่งเกิดจากโรคมะเร็ง หรือการรักษาโรคมะเร็งด้วยการผ่าตัด เคมีบำบัด รังสีรักษา ที่ส่งผลทางอ้อมทำให้ผู้ป่วยรับประทานอาหารได้น้อยลง อาการที่ส่งผลต่อภาวะโภชนาการ ได้แก่
    • อาการเจ็บปาก เจ็บคอ และกลืนเจ็บ ซึ่งจะเกิดขึ้นหลังจากผู้ป่วยได้รับการบำบัดด้วยการให้เคมีบำบัด และให้รังสีรักษา
    • อาการคลื่นไส้ อาเจียน ซึ่งจะเกิดขึ้นหลังจากผู้ป่วยได้รับการบำบัดด้วยการให้เคมีบำบัดหรือมีการบีบตัวที่ผิดปกติหรือ การอุดตันของทางเดินอาหารจากตัวโรคมะเร็ง
    • อาการท้องผูก ซึ่งอาจมีความสัมพันธ์กับภาวะลำไส้อุดตัน หรือการให้ยาแก้ปวดประเภท โอปิออยด์
    • อาการท้องเสีย ซึ่งเกิดจากการดูดซึมที่ลดลงจากภาวะลำไส้เล็กอักเสบ หรือจากภาวะลำไส้สั้นในผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัด
    • ความเจ็บปวด อาการหอบเหนื่อย อารมณ์ซึมเศร้าและความวิตกกังวล

2. การเปลี่ยนแปลงของกระบวนการเมตาบอลิซึมและการอักเสบเรื้อรัง

ผู้ป่วยโรคมะเร็งจะมีระดับของสารประเภทไซโตไคน์ ที่มีฤทธ์กระตุ้นการอักเสบที่สูงขึ้น นอกจากนี้ร่างกายยังมีการตอบสนองต่อภาวะเครียด โดยการกระตุ้นการทำงานของต่อมหมวกไตในการสร้างฮอร์โมนคอร์ติซอล นอกจากนี้ร่างกายยังเกิดภาวะดื้อต่ออินซูลิน การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้จะส่งผลให้ผู้ป่วยมีการนำโปรตีนและไขมันที่สะสมในร่างกายมาใช้เป็นพลังงานในปริมาณที่มากขึ้น ผู้ป่วยจึงมีการสูญเสียมวลกล้ามเนื้อและไขมันอย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น โดยการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้จะยังคงเกิดขึ้น แม้ว่าผู้ป่วยจะได้รับพลังงานและโปตีนในปริมาณที่เพียงพอแล้วก็ตาม

3. มวลกล้ามเนื้อลดลง

ผู้ป่วยที่มีมวลกล้ามเนื้อเริ่มต้นที่น้อยหรือมีอัตราการสูญเสียมวกกล้ามเนื้อที่รวดเร็ว เป็นผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงสูงในการเกิดภาวะทุพโภชนาการ เช่นผู้ป่วยที่นอนติดเตียง ไม่มีการเคลื่อนไหว นอกจากนี้ในผู้ป่วยที่มีภาวะน้ำหนักตัวเกินและอ้วน แม้มีการเปลี่ยนแปลงของน้ำหนักเพียงเล็กน้อย แต่น้ำหนักที่ลดส่วนมากเป็นมวลกล้ามเนื้อ ผู้ป่วยจะมีความเสี่ยงจะเกิดภาวะ cancer cachexia เช่นเดียวกับผู้ป่วยที่มีน้ำหนักปกติ

4. กิจกรรมทางกาย(physical activity)

การขาดกิจกรรมทางกาย รวมไปถึงความสามารถในการทำกิจวัตรประจำวันที่ลดลง จะทำให้ผู้ป่วยสูญเสียมวลกล้ามเนื้อรวดเร็วยิ่งขึ้น ซึ่งยังส่งผลกระทบโดยตรงต่อคุณภาพชีวิต และส่งผลทางจิตใจและสังคมของผู้ป่วยอีกด้วย.

บรรณานุกรม

  1. วีระเดช พิศประเสริฐ . การคัดกรองและประเมินสภาวะโภชนาการ. Nutrition Update สมาคมหลอดเลือดดำและทางเดินอาหารแห่งประเทศไทย ; 2556.โรงพิมพ์พราวเพรส(2002)จำกัด .กรุงเทพฯ.
  2. พรพจน์ เปรมยิน. Nutrition in Cancer . Nutrition Update สมาคมหลอดเลือดดำและทางเดินอาหารแห่งประเทศไทย ; 2556.โรงพิมพ์พราวเพรส(2002)จำกัด .กรุงเทพฯ.
  3. สมบูรณ์ ทรัพย์วงศ์เจริญ .โภชนบำบัดมะเร็งในระบบทางเดินอาหาร. การประชุมวิชาการสมาคมนักกำหนดอาหารแห่งประเทศไทย เรื่อง ทักษะสู่ความสำเร็จของการเป็นนักกำหนดอาหารเชิงรุก ; วันที่ 28 – 30 เมษายน 2557 ; ณ โรงแรมเดอะเบอร์เคลี่ย์. กรุงเทพฯ.