เข้าครัวกับโภชนากร (โรงพยาบาล) ตอน: โภชนาบำบัดทางการแพทย์ในผู้ป่วยมะเร็ง Part 1

เข้าครัวกับโภชนากร

โรคมะเร็งส่งผลกระทบต่อภาวะโภชนาการของผู้ป่วยอย่างมาก ความรุนแรงขึ้นอยู่กับระยะที่เป็น สภาวะทางจิตใจ ได้แก่ความกลัว ความวิตกกังวล ความหดหู่สิ้นหวัง ความรู้ ความเข้าใจ ซึ่งส่งผลต่อการรับประทานอาหารของผู้ป่วยมาก ผู้ป่วยส่วนใหญ่รับประทานอาหารลดลง ตัวโรคทำให้เกิดการกระตุ้นการสร้างไซโตไคน์ที่ก่อให้เกิดการอักเสบ มีการใช้พลังงานที่สูงขึ้น และสลายโปรตีนในกล้ามเนื้อ สลายไขมัน ส่งผลให้น้ำหนักตัวผู้ป่วยลดลง เกิดทุพโภชนาการ

นอกจากนั้นกระบวนการรักษาโรคมะเร็ง อาทิ การผ่าตัด การให้เคมีบำบัด การให้รังสีรักษา และยาที่ใช้ การรักษาเหล่านี้จะมีผลต่อการย่อย การดูดซึมและระบบmetabolism นอกจากนี้ยังมีอาการข้างเคียงของการรักษา อาทิ อาการคลื่นไส้ อาเจียน เจ็บปากเจ็บคอ การรับรสเปลี่ยนไป กลืนลำบาก การเบื่ออาหาร และระบบการขับถ่ายที่เปลี่ยนแปลงไป ปัจจัยเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อสภาวะโภชนาการของผู้ป่วย การรับประทานอาหารน้อยลงเนื่องจากเบื่ออาหาร ทำให้ได้รับพลังงานและสารอาหารน้อยลง ส่งผลให้เกิดภาวะทุพโภชนาการ การดูแลสุขภาพด้านโภชนาการ ระหว่างและหลังให้การรักษาจะช่วยให้ผู้ป่วยมะเร็งได้รับพลังงาน สารอาหารที่เพียงพอและเหมาะสม ช่วยเสริมสร้างและต่อต้านการติดเชื้อทำให้สามารถคงน้ำหนักตัวไว้ได้ ส่งผลให้ผู้ป่วยแข็งแรงขึ้น มีความรู้สึกดีขึ้นและมีกำลังใจที่จะต่อสู้กับโรค สามารถทำให้การรักษาโรคมะเร็งเป็นไปได้ตามแผนการรักษา

เป้าหมายการดูแลทางโภชนบำบัดในโรคมะเร็ง

คือการป้องกันการเกิดภาวะทุพโภชนาการ เพื่อรักษามวลกล้ามเนื้อ ลดผลข้างเคียงจากการรักษาและเพิ่มคุณภาพชีวิตให้ผู้ป่วย ซึ่งประเด็นเหล่านี้เป็นโจทย์ใหญ่ที่นักกำหนดอาหารต้องคำนึงและให้การดูแลผู้ป่วย ร่วมด้วยกันกับแพทย์และทีมสหสาขาวิชาชีพในการฟื้นฟูภาวะโภชนาการจากปัญหาที่ผู้ป่วยมีน้ำหนักลดลงอย่างมาก การขาดโปรตีน พลังงานและวิตามิน การรับรสชาติเปลี่ยนแปลง ทั้งยังต้องสร้างเสริมสุขภาพของผู้ป่วยในระยะยาวหลังผ่านการรักษาด้วย

บรรณานุกรม

  1. ชนิดา ปโชติการ ,สุนาฎ เตชางาม. โภชนบำบัดในผู้ป่วยโรคมะเร็ง.การประชุมวิชาการสมาคมนักกำหนดอาหารแห่งประเทศไทย เรื่องมาตรฐานกระบวนการให้โภชนบำบัดทางการแพทย์ ; วันที่ 2-4 พฤษภาคม 2555 : ณ โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ เซ็นทรัลพลาซ่าลาดพร้าว. กรุงเทพฯ.
  2. ปรียานุช แย้มวงษ์. Nutrition Assessment. โภชนศาสตร์ทางคลินิก;2553.สำนักพิมพ์กรุงเทพเวชสาร.กรุงเทพฯ.
  3. พรพจน์ เปรมยิน. Nutrition in Cancer . Nutrition Update สมาคมหลอดเลือดดำและทางเดินอาหารแห่งประเทศไทย ; 2556.โรงพิมพ์พราวเพรส(2002)จำกัด .กรุงเทพฯ.