เข้าครัวกับโภชนากร (โรงพยาบาล) ตอน: การให้โภชนบำบัดที่เหมาะสมในผู้ป่วย Part3

เข้าครัวกับโภชนากร

ความต้องการสารอาหาร (nutrient requirement)

ขั้นตอนการให้โภชนบำบัด จะต้องประเมินความต้องการสารอาหารหลักของผู้ป่วย คือ พลังงานและโปรตีน

ความต้องการพลังงาน (caloric requirement)

ความต้องการพลังงานของร่างกายต่อวันขึ้นกับการใช้พลังงานของร่างกายต่อวัน (total energy expenditure หรือ TEE) ในภาวะปกติพลังงานที่ร่างกายใช้ประกอบไปด้วย ได้แก่

1. การใช้พลังงานพื้นฐานของร่างกาย [basal energy expenditure (BEE): ซึ่งเป็นพลังงานพื้นฐานที่ร่างกายต้องการเพื่อใช้ในการทำงานของเซลล์ เนื้อเยื่อ และของอวัยวะต่างๆของร่างกาย วัดในท่านอนและต้องอดอาหารมามากกว่า 10 ชม. พลังงานพื้นฐานที่ร่างกายต้องการประมาณร้อยละ 65-70 ของพลังงานที่ร่างกายต้องการทั้งหมด

2. การใช้พลังงานที่เกิดจากการกินอาหาร (dietary induced thermogenesis หรือ DIT): เป็นพลังงานส่วนที่ร่างกายใช้ในกิจกรรมการกินอาหารทั้งหมด (รวมการกิน การย่อยอาหาร การย่อยและการดูดซึมสารอาหาร ) ปกติจะเป็นประมาณร้อยละ 5-10 ของพลังงานทั้งหมดที่ร่างกายใช้ต่อวัน

3. การใช้พลังงานไปในกิจวัตรประจำวัน (activity energy expenditure หรือ AEE): อาจจะประมาณ ร้อยละ 15-40 ของพลังงานทั้งหมดที่ร่างกายใช้ต่อวัน

4. พลังงานที่ใช้ในกระบวนการย่อย การดูดซึม การเก็บสารอาหาร (thermic effect of food : TEF) ขึ้นกับพลังงานที่ได้รับ ระยะเวลาหลังรับประทานอาหาร และส่วนประกอบอาหาร อาหารประเภทโปรตีนใช้ TEFสูงสุดในการสร้างโปรตีนจากกรดอะมิโน ร้อยละ 25 – 57 ของพลังงานจากโปรตีนหรือกรดอะมิโนที่ได้รับ รองลงมาเป็นการสร้างไกลโคเจนจากน้ำตาล โดยใช้พลังงานร้อยละ 4 ของพลังงานจากคาร์โบไฮเดรทที่ได้รับ การสร้างไขมันจากกรดไขมัน และจากคาร์โบไฮเดรท ใช้พลังงานร้อยละ 2 และร้อยละ 28 ของพลังงานไขมันและคาร์โบไฮเดรทที่ได้รับตามลำดับ โดยเฉลี่ยพลังงานในส่วย TEF ในคนทั่วไปประมาณร้อยละ 5 -10 ของพลังงานที่ใช้ประจำวัน

นอกจากนี้หากร่างกายมีความเครียดทางเมตาบอลิก เช่นมีการบาดเจ็บ ติดเชื้อ การผ่าตัด ฯลฯ ร่างกายจะต้องการพลังงานเพิ่มขึ้น หรือหากร่างกายอยู่ในอุณหภูมิที่ต่ำเกินไป ร่างกายก็จะต้องการพลังงานเพิ่มขึ้นในการควบคุมอุณหภูมิของร่างกายให้คงที่

ความต้องการหรือการใช้พลังงานขณะพัก [resting energy expenditure (REE) หรือ resting metabolic rate (RMR)] เป็นพลังงานที่ร่างกายต้องการในขณะพักและไม่จำเป็นต้องงดอาหาร ดังนั้นในภาวะปกติ

REE = BEE + DIT
TEE = REE + AEE

บรรณานุกรม

  1. วีระเดช พิศประเสริฐ . การคัดกรองและประเมินสภาวะโภชนาการ. Nutrition Update สมาคมหลอดเลือดดำและทางเดินอาหารแห่งประเทศไทย ; 2556.โรงพิมพ์พราวเพรส(2002)จำกัด .กรุงเทพฯ.
  2. ประณิธิ หงสประภาส. Principle of Nutrition Support in Adults . Nutrition Update สมาคมหลอดเลือดดำและทางเดินอาหารแห่งประเทศไทย ; 2556.โรงพิมพ์พราวเพรส(2002)จำกัด .กรุงเทพฯ.
  3. ปรียานุช แย้มวงษ์. Nutrition Assessment. โภชนศาสตร์ทางคลินิก;2553.สำนักพิมพ์กรุงเทพเวชสาร.กรุงเทพฯ.