เข้าครัวกับโภชนากร (โรงพยาบาล) ตอน: ภาวะทุพโภชนาการ และการขาดสารอาหาร

เข้าครัวกับโภชนากร

ปัญหาทุพโภชนาการเป็นปัญหาของประเทศ และมีโอกาสเกิดขึ้นในทุกวัยทุกคน เกิดขึ้นทั้งในโรงพยาบาลและนอกโรงพยาบาล ภาวะทุพโภชนาการในโรงพยาบาลมีส่วนสำคัญ ต่อผลการรักษาของโรค ความสำคัญของภาวะโภชนาการที่ดี เป็นพื้นฐานของการรักษาที่ดี อาหารจะช่วยภูมิต้านทานให้ดีขึ้น ไม่ใช้ยาปฏิชีวะนะ การเย็บแผลไม่ได้ทำให้แผลสมานปิดเป็นเนื้อเดิม ถ้าไม่มีภาวะโภชนาการที่ดีร่วมด้วย ภาวะทุพโภชนาการพบได้เสมอ ในผู้ป่วยที่ได้รับเครื่องมือช่วยชีวิตราคาแพงและทันสมัย ผู้ป่วยเหล่านี้จะยืนยาวจนกว่า สารอาหารที่สะสมในร่างกายถูกใช้หมดผู้ป่วยในโรงพยาบาลไม่ว่าจะเจ็บป่วยจากสาเหตุอะไร จุดจบมักจะมีภาวะทุพโภชนาการร่วมด้วยเสมอ

ภาวะทุพโภชนาการเกิดจากความไม่สมดุลยระหว่างสารอาหารที่ร่างกายได้กับความต้องการสารอาหารและการสูญเสียสารอาหารไป ก่อให้เกิดปัญหาต่อระบบการทํางานและโครงสร้างของร่างกาย ภาวะทุพโภชนาการ อาจแบ่งเป็น 2 ประเภท ประเภทแรกคือภาวะโภชนาการเกิน ซึ่งพบในผู้ที่มีน้ำหนักตัวเกินหรือมีโรคอ้วน ประเภทที่ 2 คือภาวะโภชนาการขาด

ภาวะทุพโภชนาการในโรงพยาบาลพบอุบัติการณ์ได้ ร้อยละ 19 – 80 เป็นปัญหาที่พบบ่อย ผู้ป่วยส่วนมากมีปัญหามาตั้งแต่เข้าโรงพยาบาล และหลังจากพักรักษาตัวในโรงพยาบาลมักพบปัญหาทุพโภชนาการเพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 10 – 70

กลุ่มผู้ป่วยที่มีอัตราเสี่ยงการเกิดภาวะทุพโภชนาการ

  • ผู้ป่วยที่มีค่า BMI < 18.5 ผู้ป่วยที่มีน้ำหนักลดลงมากกว่าหรือเท่ากับร้อยละ10 ของน้ำหนักปกติในเวลาอันสั้น
  • ผู้ป่วยติดเหล้า หรือผู้ป่วยที่ได้รับยาซึ่งมีการทำลายเซลล์มะเร็ง เช่น ยากดภูมิต้านทาน ยาสตีรอยด์ ยาต้านมะเร็ง
  • ผู้ป่วยที่ไม่ได้รับประทานอาหาร หรือให้เฉพาะน้ำเกลือ หรืองดอาหารชั่วคราว(NPO)นานเกิน 5 วัน
  • ผู้ป่วยที่มีประวัติการสูญเสียสารอาหารจากร่างกายโดย โรคการดูดซึมอาหารบกพร่อง ลำไส้เล็กถูกตัด การล้างไต มีแผล เสียน้ำเหลืองและหนอง
  • ผู้ป่วยที่มีการเพิ่มเมตะบอสิซึม(การเผาผลาญ)ในร่างกาย เช่น มีแผลไฟไหม้ มีการติดเชื้อ หรือได้รับอุบัติเหตุรุนแรง มีไข้เรื้อรัง
  • ผู้ป่วยที่เป็นผู้สูงอายุ ไม่มีญาติดูแล

ดังนั้นเพื่อเป็นการป้องกันภาวะทุพโภชนาการในผู้ป่วยที่พักรักษาตัวในโรงพยาบาล จำเป็นจะต้องมีการประเมินสภาวะโภชนาการเบื้องต้น และมีการติดตามประเมินผู้ป่วยโดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะทุพโภชนาการซึ่งจะได้กล่าวในบทต่อๆไป

บรรณานุกรม

  1. จุฬาภรณ์ รุ่งพิสุทธิพงษ์. Nutrition Assessment.[อินเทอร์เน็ต ].[เข้าถึงเมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2557 ] เข้าถึงได้จาก http://med.mahidol.ac.th/med/sites/default/files/public/pdf/medicinebook1/Nutrition%20assessment.pdf [2014, Nov 17].
  2. ธัญเดช นิมมานวุฒิพงษ์. Nutrition Planning and Determination. โภชนศาสตร์ทางคลินิก;2553.สำนักพิมพ์กรุงเทพเวชสาร.กรุงเทพฯ.