เข้าครัวกับโภชนากร (โรงพยาบาล) ตอน: กินอย่างไรเมื่อต้องฟอกไต ตอนที่ 3 (ตอนจบ)

เข้าครัวกับโภชนากร

ผู้ป่วยหลายท่านเข้าใจว่า เมื่อฟอกไตแล้วจะรับประทานอาหารรสชาติได้ก็ได้ ซึ่งในความเป็นจริงการฟอกไต ไม่ได้ทำให้การทำงานของไตเหมือนเดิม ของเสียที่คั่งยังคงมี หากผู้ป่วยไม่ระมัดระวังก็จะทำให้ของเสียสูงเกินว่าที่จะล้างไตได้กำไร

เกลือโซเดียม: น.พ.อุดม ไกรฤทธิชัย โรงพยาบาลราชวิถี แนะนำว่าควรได้โซเดียมวันละ 130-170 MEq หรือประมาณ 3-4 กรัมโซเดียม การปรุงควรปรุงแบบไม่เติมน้ำปลา ซีอิ๊วให้ใช้วิธีนำมาเติมขณะรับประทานจะช่วยให้สามารถควบคุมปริมาณของโซเดียมและในอาหารธรรมชาติจะมีจะมีโซเดียมอยู่มากพอสมควร โดยเฉพาะอาหารทะเล นม ไข่ ต้องระมัดระวังในการรับประทานและควรหลีกเลี่ยงอาหาร ดองเค็ม ปลาเค็ม เนื้อ-หมูเค็ม ไข่เค็ม ฯลฯ

ปริมาณโซเดียมในเครื่องปรุงรส

อาหาร ปริมาณ โซเดียม ( มิลลิกรัม )
เกลือ 1 ช้อนชา 2,000
น้ำปลา 1 ช้อนชา 465-600
ซีอิ๊วขาว 1 ช้อนโต๊ะ 960-1420
ซอสปรุงรส 1 ช้อนโต๊ะ 1150
ซอสหอยนางรม 1 ช้อนโต๊ะ 420-490
น้ำจิ้มไก่ 1 ช้อนโต๊ะ 202-227
ซอสพริก 1 ช้อนโต๊ะ 220
ผงชูรส 1 ช้อนชา 492
ผงฟู 1 ช้อนชา 339

ปริมาณโซเดียมในอาหารประเภทต่างๆ

อาหาร ปริมาณ ปริมาณโซเดียม (มก.)
ปลาสลิดหมักเกลือ 1 ตัว 1,288
เนื้อปลาทูทอด ½ ตัวกลาง 1,081
น้ำพริกกะปิ 4 ช้อนโต๊ะ 1,100
เต้าหู้ยี้ 2 อัน 560
ผัดผักบุ้งใส่เต้าเจี้ยว 1 จาน 894
ปอเปี๊ยะสด 1 จาน 562
บะหมี่สำเร็จรูปพร้อมเครื่องปรุง 1 ห่อ 977
บะหมี่น้ำหมูแดง 1 ชาม 1,480
ข้าวต้มหมู 1 ชาม 881
ก๋วยเตี๋ยวผัดซีอิ๊ว 1 จาน 1,352
บะหมี่ราดหน้าไก่ 1 จาน 1,819
แกงส้มผักรวม 1 ถ้วย 1,130
ส้มตำอีสาน 1 จาน 1,006
ซาลามี 1 ชิ้น 303
ไส้กรอก 1 อัน 504
โบโลน่า 1 แผ่น 305
แฮม 1 ชิ้น 395
แฮมเบอร์เกอร์ 1 ชิ้น 463
ข้าวโพดแผ่นอบ 15 ชิ้น 177

ผู้ป่วยใช้เกลือเทียมแทนน้ำปลาหรือซอสรสเค็มได้หรือไม่

เกลือเทียม เป็นเกลือที่มีรสเค็มน้อยกว่าปกติโดยมีโซเดียมคลอไรด์ ประมาณ 33% และส่วนที่เหลือจะเป็นโซเดียมคลอไรด์ ซึ่งไม่เหมาะกับผู้ป่วยไตเรื้อรังที่มักมีปัญหาโพแทสเซียมในเลือดสูงอยู่แล้ว ฉะนั้น การรับประทานเกลือเทียมจะทำให้โพแทสเซียมในเลือดยิ่งสูงมากขึ้น

เคล็ดลับในการทำอาหารสำหรับผู้ป่วยโรคไต

  1. ควรคำนึงถึงความน่ารับประทานของอาหาร ทำให้อาหารมีสีสันโดยใช้ผักสีต่างๆ
  2. เพิ่มรสชาติอาหารด้วยสมุนไพร เนื่องจากต้องหลีกเลี่ยงเกลือโซเดียม สามารถทดแทนด้วยรสอื่น เช่น เปรี้ยว หวาน ขม เผ็ด
  3. กลิ่นหอมของอาหาร เช่น กลิ่นจากเครื่องเทศหลายชนิดสามารถกระตุ้นให้เกิดความอร่อย ชวนให้อยากรับประทาน
  4. หลีกเลี่ยงการใช้สารเคมีในการทำอาหาร เช่น สารกันบูด สารกันเชื้อรา ผงฟู ผงชูรส สารแต่งสี
  5. ควรเลือกอาหารที่ได้คุณภาพ ใหม่ สด สะอาด หลีกเลี่ยงอาหารหมักดอง อาหารกระป๋อง อาหารที่ไม่ผ่านการปรุงให้สุก อาหารที่ผ่านกระบวนการถนอมอาหารทั้งหลาย
  6. การจัดทำรายการอาหารให้หลากหลาย ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียน เพื่อไม่ให้ผู้ป่วยเบื่ออาหารหรือเกิดภาวการณ์ขาดสารอาหาร เช่น อาหารสูตรดัดแปลงเพื่อส่งเสริมสุขภาพผู้ป่วยโรคไต แกงป่าปลาช่อน ลาบวุ้นเส้น ยำก๋วยเตี๋ยวเซี่ยงไฮ้ ไข่สอดไส้วุ้นเส้น ข้าวหน้าไก่สมุนไพร ก๋วยเตี๋ยวลุยสวน ต้มแซ่บกระดูกหมูอ่อน ผักตุ๋นเบญจรงค์ ฯลฯ

ถึงแม้ว่าผู้ป่วยโรคไตจะถูกจำกัดอาหารหลายชนิด แต่ถ้าผู้ป่วยและญาติเข้าใจหลักการเรื่องของประเภทและชนิดอาหารที่เหมาะสม ก็ยังจะสามารถหาของอร่อยที่ถูกปากได้ เพียงแต่ปรับความคุ้นเคยกับรสที่ถูกปรุงแต่งด้วยซอส เกลือ น้ำปลา มาเป็นการสัมผัสกับรสชาติอาหารแท้ๆ ที่สดใหม่ประกอบกับการใช้เทคนิคการปรุงรสอาหารที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตชีวิตเราก็มีความสุขได้ แม้จะป่วยเป็นโรคไต ก็เพราะเรารู้ว่า เราควรจะเลือกรับประทานอาหารอย่างไรนั่นเอง

อ้างอิงจาก

ชนิดา ปโชติการ . โภชนบำบัดสำหรับผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง. การประชุมอบรมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง การอบรมแนวทางการให้คำปรึกษาด้านโภชนบำบัดแก่ผู้ป่วยในโรงพยาบาล ; วันที่ 29 – 31 กรกฏาคม 2552; ณ ห้องพญาไท ชั้น 11 อาคารเฉลิมพระเกียรติ ร.พ. ราชวิถี. กรุงเทพฯ.