เข้าครัวกับโภชนากร (โรงพยาบาล) ตอน: อ้วนจนเป็นโรค...ต้องกินอย่างไร ตอนที่ 1

เข้าครัวกับโภชนากร

ด้วยอาชีพของผู้เขียน ทำให้มีโอกาสได้สัมผัสกับผู้ป่วยที่อ้วน ลักษณะที่เป็น โรคอ้วน มีน้ำหนักตัวสูงมากกว่า 150 – 250 กิโลกรัมเลยทีเดียว ซึ่งไม่น่าเชื่อว่าผู้ป่วยนั้นมีอายุน้อยๆทั้งนั้นค่ะ ผู้ป่วยที่เข้ามารักษาตัวในโรงพยาบาลนั้น ส่วนใหญ่ไม่ได้เกิดจากความเต็มใจอยากมาโรงพยาบาลแต่ก็มาด้วยภาวะต่างๆอาทิ ภาวะหยุดหายใจในขณะหลับ (sleep apnea syndrome) ผิวหนังแตกเกิดแผลติดเชื้อ ฯลฯ ซึ่งพอเข้ามารับการรักษาตัวในโรงพยาบาล สิ่งแรกคือผู้ป่วยต้องลดน้ำหนักตัวก่อนบางครั้งถ้าผู้ป่วยลดน้ำหนักตัวลงได้พอสมควรภาวะโรคแทรกซ้อนต่างๆก็สามารถบรรเทาลงได้โดยแทบไม่ต้องทำอะไรเลย

คำจำกัดความของโรคอ้วน

องค์การอนามัยโลก นิยามว่า โรคอ้วนเป็นโรคเรื้อรังชนิดหนึ่ง เกิดจากการที่มีปริมาณไขมันในร่างกาย (Body fat) มากกว่าปกติจนมีผลกระทบต่อสุขภาพ

กองโภชนาการ กระทรวงสาธารณสุข นิยามว่า โรคอ้วนคือสภาวะร่างกายมีน้ำหนักตัวมากกว่าปกติ โดยมีการสะสมของไขมันใต้ผิวหนัง ซึ่งวัดได้โดยน้ำหนักเกินจากมาตรฐานตั้งแต่ร้อยละ 20 ขึ้นไป โดยใช้น้ำหนักมาตรฐาน ซึ่งอยู่ในส่วนสูงระดับเดียวกันหรือน้ำหนัก ส่วนสูง เทียบค่ามาตรฐานน้ำหนักส่วนสูงของประชาชนไทย อายุ 1 วัน - 19 ปี อยู่ระหว่าง percentile ที่ 90-97 จัดเป็นกลุ่มที่มีน้ำหนักมากกว่าปกติ (เริ่มอ้วน) และ percentile ที่ 97 ขึ้นไปถือว่าเป็นโรคอ้วน

โรคอ้วนมีกี่ประเภท

โรคอ้วนที่แบ่งจากลักษณะการกระจายตัวของไขมันในร่างกาย 3 ประเภทดังนี้

  1. โรคอ้วนทั้งตัว (overall obesity) ผู้ป่วยกลุ่มนี้มีไขมันทั้งร่างกายมากกว่าปกติ โดยไขมันที่เพิ่มมิได้จำกัดอยู่ที่ตำแหน่งใดตำแหน่งหนึ่งโดยเฉพาะ
  2. โรคอ้วนลงพุง (visceral obesity / abdominal obesity) ผู้ป่วยกลุ่มนี้มีไขมันในอวัยวะภายในช่องท้องมากกว่าปกติโดยอาจจะมีไขมันใต้ผิวหนัง (subcutaneous) บริเวณหน้าท้องเพิ่มขึ้นด้วย
  3. โรคอ้วนลงพุงร่วมกับอ้วนทั้งตัว มีไขมันมากทั้งตัวและอวัยวะภายในช่องท้อง ร่างกายของเราจะมีไขมันไว้เพื่อสำรองเป็นอาหาร ให้ความอบอุ่นแก่ร่างกาย เป็นเบาะกันกระแทก หากมีมากเกินไป คือโรคอ้วน ปกติผู้หญิงจะมีปริมาณไขมันประมาณ 25-30% ส่วนผู้ชายจะมี 18-23% ถ้าหากผู้หญิงมีมากกว่า 30% ชายมีมากกว่า 25% จะถือว่าโรคอ้วน โรคอ้วนหมายถึงมีปริมาณไขมันมากกว่าปกติ มิได้หมายถึงการมีน้ำหนักมากอย่างเดียว

โรคอ้วนที่แบ่งจากลักษณะพฤติกรรมและภาวะต่างๆ ได้แก่

  1. โรคอ้วนเกิดจากพฤติกรรมการกินได้แก่
    1. ความไม่สมดุลระหว่างพลังงานที่ร่างกายได้รับกับพลังงานที่ใช้ไป โดยพลังงานส่วนใหญ่ แปรรูปเป็นไขมัน กล่าวคือพลังงานที่ได้รับจากการรับประทานมากกว่าพลังงานที่ใช้ไปในการออกกำลังกายหรือทำกิจกรรมต่างๆได้แก่การรับประทานอาหารจำพวกแป้ง น้ำตาล ไขมันสูง และอาหารแคลอรี่สูง เช่น หนังไก่ทอด มันหมู หมูสามชั้น ขาหมู ครีม เค้ก ฯลฯ กอร์ปกับวัฒนธรรมตะวันตกที่เข้ามามีอิทธิพล เช่น อาหารจานด่วนหรือฟาสต์ฟู้ด อาหารประเภทนี้ส่วนใหญ่เป็นอาหารจำพวก แป้ง ไขมัน และมีเส้นใยจากอาหารน้อย ถ้ารับประทานเป็นประจำจะทำให้เสี่ยงต่อการเกิดโรคต่างๆ หลายโรค รวมถึงปริมาณอาหารที่รับประทานมากกว่าที่ร่างกายต้องการใช้ พลังงานที่เหลือจนเกิดการสะสมเป็นเซลล์ไขมันอยู่ตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย เช่น ต้นแขน ต้นขา หน้าท้อง เพิ่มความเสี่ยงต่อโรคอ้วน
    2. ความผิดปกติที่สมองส่วนไฮโปธาลามัส ทำให้การควบคุมการกินผิดปกติ
  2. โรคอ้วนเกิดจากพฤติกรรมการขาดการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ การใช้ชีวิตที่สะดวกสบาย หรือบรรดาเครื่องอำนวยความสะดวกสบายทำให้ร่างกายใช้พลังงานลดลง ลักษณะของงานประจำ เช่น งานนั่งประจำติดโต๊ะ ก็เพิ่มความเสี่ยงกับโรคอ้วนได้ การเคลื่อนไหวตัวเองเสมอๆ และออกกำลังกายเป็นประจำจะเป็นการใช้พลังงานส่วนเกินออกไป
  3. โรคอ้วนที่เกิดจากภาวะทางด้านจิตใจ เช่น ความเครียดทำให้เกิดความอยากอาหารมากขึ้น คนอ้วนเมื่อเกิดอารมณ์ซึมเศร้าไม่สบายใจจะหาทางออกโดยการกิน แต่ก็ไม่จำเป็นเสมอไป ในคนอ้วนการรักษาในกรณีนี้จำเป็นต้องอาศัยจิตเวช การสนับสนุนให้กำลังใจจากครอบครัว เพื่อนๆ และคนรอบข้าง
  4. โรคอ้วนที่เกิดจากพันธุกรรมและการเลี้ยงดู พ่อแม่เป็นโรคอ้วน ลูกที่เกิดมาก็มีโอกาสเป็นโรคอ้วนสูง กรรมพันธุ์มีอิทธิพลต่อน้ำหนักตัวสูงถึง 50% เด็กที่มีพ่อแม่ไม่อ้วนอาจมีโอกาสอ้วน 10% ถ้าพ่อหรือแม่คนใดคนหนึ่งอ้วนลูกมีโอกาสอ้วน 40% ถ้าทั้งพ่อและแม่อ้วนลูกมีโอกาสอ้วน 80% นิสัยการเลี้ยงดูของคนในครอบครัวมีผลต่อพฤติกรรมการบริโภคของเด็กและน้ำหนักตัว ดังนั้น ทั้งพฤติกรรมและการเลี้ยงดูมีผลร่วมกันต่อน้ำหนักตัว
  5. โรคอ้วนที่เกิดจากความผิดปกติของการทำงานของต่อมไร้ท่อ ทำให้การผลิตฮอร์โมนบางชนิดผิดปกติ เช่น Cushing’s syndrome โดยสาเหตุของโรคนี้เกิดจากความผิดปกติของสเตียรอยด์ฮอร์โมน ในร่างกาย จนทำให้อ้วนบริเวณใบหน้า ลำตัว ต้นคอ ด้านหลัง แต่แขนขาจะเล็ก และไม่มีแรง การรักษาจะต้องรักษาที่ต้นเหตุ คือ ฮอร์โมนที่มีความผิดปกติจึงจะรักษาโรคอ้วนชนิดนี้ได้
  6. พฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวันที่ไม่เหมาะสม ทำให้มีการใช้พลังงานต่ำ และทำให้เสียโอกาสในการทำกิจกรรม หรือออกกำลังกายที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ เช่น การจราจรติดขัด ทำให้คนส่วนใหญ่ต้องนั่งบนรถยนต์หลายชั่วโมงต่อวัน ลักษณะงานที่ต้องนั่งทำงานตลอดเวลา เป็นต้น

เกิดผลร้ายอย่างไรเมื่อเป็นโรคอ้วน

ผลร้ายของโรคอ้วนต่อสุขภาพทำให้ผู้ที่เป็นโรคอ้วนมีอัตราการเจ็บป่วย และอัตราการตาย สูงกว่าผู้ที่มีน้ำหนักตัวปกติ ผู้ที่เป็นโรคอ้วนจะมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคแทรกซ้อนหลายๆ อย่าง เช่น โรคเบาหวาน เป็นโรคที่พบบ่อยมากในบรรดาคนอ้วน หญิงไทยอ้วนเป็นเบาหวานบ่อยกว่าคนปกติถึงเกือบ 4 เท่า ในขณะที่ชายไทยที่อ้วนมีโอกาสเป็นเบาหวาน 2.5 เท่าของชายที่ไม่อ้วน และมักเกิดปัญหาในช่วงอายุ 40 ถึง 50 ปีขึ้นไป โรคความดันโลหิตสูงคนอ้วนเป็นโรคความดันโลหิตสูงบ่อยกว่าคนไม่อ้วน 2.5 เท่าชายเสี่ยงทุกวัย แต่หญิงเสี่ยงเมื่ออายุเกิน 34 ไปแล้ว เนื่องจากต้องส่งเลือดไปเลี้ยงร่างกายที่ใหญ่ขึ้น ความดันโลหิตสูงนี้พบได้บ่อยยิ่งขึ้นในคนอ้วนตั้งแต่อายุยังน้อย (McMahon ;คณะ) ภาวะไขมันในเลือดสูง Nestel และคณะ ได้แสดงให้เห็นว่า ในคนอ้วนจะมีการสร้างโคเลสเตอรอลเพิ่มขึ้นวันละ 22 มก. ต่อกิโลกรัมของเนื้อเยื่อไขมันที่เพิ่มขึ้น

ความผิดปกติของระดับไขมันในเลือด พบได้บ่อยในคนอ้วนถึง 1.1-2.6 เท่า เมื่อเทียบกับคนไม่อ้วน ทั้งชายและหญิงที่อ้วนมากมีโอกาสเสียชีวิตจากหลอดเลือดหัวใจตีบตันประมาณ 2 เท่า ผู้ชายที่อ้วนมากมีโอกาสตายจากโรคเส้นเลือดสมองอุดตันถึงกว่า 2 เท่าของผู้ชายที่ไม่อ้วน (สุรัตน์ โคมินทร์, 2546) โรคนิ่วในถุงน้ำดี Bernstein พบว่าปัญหาของถุงน้ำดีเกิดมากขึ้นตามวัย ตามความอ้วน และตามจำนวนบุตร และพบว่า 1 ใน 3 ของคนอ้วน ทั้งเพศชายและเพศหญิงที่มีอายุประมาณ 60 ปี จะเป็นโรคถุงน้ำดี ทั้งนี้เพราะคนอ้วนมีการสร้างและขับโคเลสเตอรอล ออกทางน้ำดีมากกว่าปกติ ระบบหายใจผิดปกติ ในการทำงานของตับซึ่งเป็นผลจากการสะสมของไขมันในตับมากกว่าปกติ โดยพบถึง 68-94% ของคนอ้วนทั้งหมด

ปัจจุบัน “ความอ้วน” ถือได้ว่าเป็นโรคอ้วนชนิดหนึ่ง ที่กลายเป็นปัญหาสำคัญในหลายประเทศทั่วโลก เนื่องจากโรคอ้วนเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญต่อการเกิดโรคต่างๆ โรคอ้วนมีผลเสียต่อสุขภาพทำให้อัตราตายและอัตราพิการเพิ่มขึ้นมากกว่าคนไม่อ้วน การที่มีน้ำหนักตัวเกินหรือความอ้วนนั้น สัมพันธ์กับการเกิดโรคหลายชนิด และมีผลต่อระบบการทำงานในร่างกายหลายระบบด้วยกัน

อ้างอิงจาก

วารสารประกอบการอบรมนักกำหนดอาหารแห่งประเทศไทย 2547