เข้าครัวกับโภชนากร (โรงพยาบาล) :ตอน นานาทรรศนะกับน้ำตาล

น้ำตาลตัวก่อโรคจริงหรือ

น้ำตาลที่เรากินเข้าไปนั้น เมื่อถูกย่อยเป็นกลูโคส, ฟรุตโทสแล้ว กลูโคสจะกระตุ้นให้มีการหลั่งอินซูลินออกมาจนกระทั่งระดับกลูโคสเป็นปกติ ถ้ากินน้ำตาลมากเกินไปจะทำให้เป็นส่วนเกิน ทำให้เกิดโรคอ้วน โรคอ้วนจะทำให้มีการหลั่งอินซูลินจากต่อมไร้ท่อออกมาเรื่อยๆ ทำให้เกิดการเพลีย อ่อนแรง ปรากฏการณ์นี้มักเกิดขึ้นกับครอบครัวที่มีแนวโน้มที่จะเป็นโรคเบาหวาน หรือมักเกิดขึ้นในคนอ้วนที่ชอบกินน้ำตาลและน้ำตาลทรายมากๆ กรณีแบบนี้เป็นเบาหวานได้มาก

ทำไมกินน้ำตาลแล้วทำให้ไม่อยากกินอาหารประเภทอื่น

เพราะเวลาที่เรากินน้ำตาลมากเกินไปจะทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูง ในสมองของเราจะมีศูนย์อิ่มกับศูนย์หิวที่ฐานสมอง น้ำตาลจะไปกระตุ้นให้รู้สึกอิ่มตลอดเวลา ศูนย์อิ่มส่งสัญญาณไปกดศูนย์หิวไม่ให้หิว กลไกในการเกิดขึ้นอาศัยสารบางอย่าง ซึ่งเป็นสัญญาณประสาทไปบอกว่าอิ่มนะ ไม่ต้องหิว สารประสาทได้มาจากกรดอะมิโนตัวหนึ่งชื่อ ทริปโตเฟรน (tryptophan) ถูกเปลี่ยนเป็นซีโรโทนิน(serotonin) ถ้ามีการเปลี่ยนแปลงมากทำให้ไม่หิว บางคนมีการตอบสนองกับน้ำตาลเร็วมาก กินน้ำตาลนิดเดียวก็รู้สึกไม่หิวแล้ว

น้ำตาลทำให้ขาดสารอาหารบางอย่างได้ เพราะการที่เด็กหรือผู้ใหญ่กินของหวานมากๆ จะทำให้ได้สารอาหารพวกน้ำตาลอย่างเดียว ทำให้เบื่ออาหารเลยไม่ได้อาหารอย่างอื่นที่มีประโยชน์มากกว่า สำหรับในคนอ้วนนั้น เวลากินน้ำตาลจะไม่รู้สึกอิ่ม เพราะศูนย์อิ่มและศูนย์หิวคงเปลี่ยนไป แม้น้ำตาลในเลือดสูงก็ยังไม่รู้สึกอิ่ม ดังนั้นถ้าคิดจะกินน้ำตาลเพื่อไม่ให้รู้สึกหิวหรือเบื่ออาหาร ก็จะไม่เกิดผลอะไรขึ้นมา ยิ่งจะทำให้ได้รับน้ำตาลเกินมากขึ้นอีก

ในแต่ละวันเราควรได้รับน้ำตาลในปริมาณเท่าใดจึงจะเหมาะสม

ปริมาณน้ำตาลที่ร่างกายต้องการไม่ควรเกินร้อยละ 10 ของปริมาณแคลอรีที่ร่างกายต้องการทั้งหมดต่อวัน ในวันหนึ่งๆ นั้น ร่างกายเราจะต้องการพลังงานประมาณ 2,000-3,000 แคลอรี ซึ่งจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับว่าในแต่ละวันเราใช้พลังงานไปมากแค่ไหน ปริมาณน้ำตาลที่ร่างกายต้องการในแต่ละวันคือ 50-75 กรัม หรือ 3 ช้อนโต๊ะ

การเดินทางสายกลาง คือกินน้ำตาลแต่พอประมาณ น้ำตาลจะให้โทษต่อเมื่อกินมากเกินไปเท่านั้น ปกติเราได้รับน้ำตาลจากอาหารอยู่แล้ว นับตั้งแต่ความหวานจากผลไม้ ขนมหวาน นมข้นหวาน คุณไม่ต้องกลัวว่าจะขาดน้ำตาล เพราะเวลาที่เรากินแป้ง พวกข้าวมันต่างๆ เวลาย่อยไปแล้วจะได้น้ำตาลกลูโคสเหมือนกัน ไม่ควรดื่มยาชูกำลังที่มีกลูโคส เพราะเราได้กลูโคสจากผลไม้และการย่อยแป้งอยู่แล้ว ถ้าทำได้จะทำให้มีสุขภาพดี

โดยการรับประทานอาหาร โดยไม่สนใจที่จะลดการบริโภคน้ำตาล ประกอบกับการไม่ออกกำลังกายเพื่อเผาผลาญน้ำตาลส่วนเกิน รับรองได้ว่าในไม่ช้าคุณจะต้องมีปัญหาสุขภาพตามมาอย่างแน่นอน น้ำตาลจะไม่ก่อให้เกิดโทษหากรู้จักกินแต่น้อยเท่าที่จำเป็น ดังนั้นเพื่อสุขภาพที่ดีของตัวคุณเอง ยังไม่สายที่จะหันมาออกกำลังกาย ลดปริมาณน้ำตาลที่เติมเอง และหลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลสูงโดยการอ่านจากฉลากโภชนาการ “ทุกๆ 1 ช้อนชาที่ลดลงนั่นหมายถึง ความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเรื้อรังต่างๆ ที่ ลดลงเช่นกัน”

บรรณานุกรม

  1. สำนักงานโภชนาการ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เข้าถึงได้จากhttp://nutrition.anamai.moph.go.th[2014,Feb6].