เข้าครัวกับโภชนากร (โรงพยาบาล) :ตอน อาหารสำหรับหญิงให้นมบุตร ตอนที่ 2 และตอนจบของอาหารช่วงให้นมบุตร

คุณแม่ควรหลีกเลี่ยงอาหารแสลงหรือไม่?

ทารกทุกคนแตกต่างกัน คุณแม่บางคนอาจพบว่าลูกน้อยมีแก๊สในกระเพาะหรือกระสับกระส่ายหลังจากที่คุณแม่กินถั่ว, กะหล่ำดอก หรือ บร๊อคโคลี่ ในขณะที่คุณแม่คนอื่นๆ กลับไม่พบว่าลูกจะมีอาการอะไรหลังจากที่คุณแม่กินสิ่งเหล่านั้นเข้าไป และคุณแม่บางคนสามารถทดสอบได้ว่าลูกน้อยไม่ค่อยชอบรสชาติของน้ำนมหลังจากที่คุณแม่รับประทานอาหารเผ็ดๆ เข้าไปเช่นเดียวกับในระหว่างตั้งครรภ์ คุณแม่ที่กำลังให้นมบุตรควรหลีกเลี่ยงการกินปลาที่มีสารปรอทสูง เพราะระดับสารปรอทสูงสามารถทำลายระบบของประสาทที่กำลังพัฒนาของลูกได้ ถ้าหากคุณแม่สังเกตเห็นว่าลูกมีอาการแพ้อาหารอย่างที่กล่าวไว้ข้างต้น พยายามทบทวนดูว่าคุณแม่รับประทานอะไรและทารกมีปฏิกิริยาอย่างไรในแต่ละครั้ง แล้วจึงปรึกษาแพทย์ แพทย์อาจแนะนำให้หยุดรับประทานอาหารที่อาจส่งผลต่อลูกไประยะหนึ่งเพื่อดูอาการเปลี่ยนแปลงของลูก

คุณแม่ควรหลีกเลี่ยงอาหารอะไรบ้าง?

คุณแม่คงจะได้รับคำแนะนำมากหลายจากคนรอบข้างที่หวังดี ความเป็นจริงแล้ว ไม่มีอาหารใดเลย ที่ห้ามรับประทานโดยเด็ดขาด ลูกอาจงอแง มีลมในท้อง นั่นไม่ใช่เป็นเพราะว่าอาหารที่แม่กิน แต่เป็นเพราะธรรมชาติของเด็กจะต้องมีการงอแงและมีลมในท้องอยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม น่าจะเป็นการดี หากคุณแม่จะหลีกเลี่ยงอาหารที่มีรสจัดมากๆ

ในบางครั้งนั้น ลูกอาจแพ้อาหารบางอย่างที่คุณแม่ได้รับประทานเข้าไป ส่วนใหญ่สารที่พบว่า ทำให้ลูกมีปัญหา ได้แก่ สารพวกเชิงซ้อน (Complex carbohydrates) ที่อาจพบได้ใน นมวัว, ถั่วเหลือง, ข้าวสาลี, ปลา, ข้าวโพด, ไข่ และพวกถั่ว นอกจากนั้น ยาสมุนไพรบางอย่าง ก็เคยพบว่าทำให้ลูกท้องอืด ท้องเสียได้ เช่น ยาจีนบางชนิด, ยาดอง ฯลฯ ลูกอาจมีอาการงอแง, ท้องอืด, ถ่ายผิดปรกติ ( ไม่ได้แปลว่า ลูกจะแพ้อาหารพวกนี้จริงๆ เพียงแต่ร่างกายอาจยังไม่พร้อมที่จะรับสารนั้นได้ )

หากคุณแม่สงสัยว่าอาหารชนิดใดทำให้ลูกมีปัญหา คุณแม่ก็ลองงดอาหารชนิดนั้นสัก 2-3 สัปดาห์ แล้วสังเกตอาการลูก รวมๆแล้ว คุณแม่ควรรับประทานอาหารที่มีคุณภาพ มีความสมดุลทางโภชนาการ โดยแทบไม่มีข้อจำกัด การรับประทานอาหารอย่างพอประมาณเป็นสิ่งที่ดีมาก

คุณแม่ทั้งหลายควรหลีกเลี่ยงการกินอาหารตากแห้งเพราะจะทำให้ร่างกายของแม่ขาดวิตามินบี 1 ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคเหน็บชา รวมทั้งมีผลให้น้ำนมแม่ขาดวิตามินบี 1 เช่นกัน เมื่อลูกดื่มนมแม่เข้าไป อาจมีผลให้ลูกขาดวิตามินบี 1 และอาจรุนแรงยิ่งขึ้น หากเกิดอาหารกล้ามเนื้อหัวใจทำงานล้มเหลว เกิดอาการหัวใจวายและอาจเสียชีวิตหากได้รับการรักษาที่ไม่ท้วงที

ส่วนเหล้าหรือแอลกอฮอล์อย่าปล่อยให้เข้าปากเลยทีเดียว รวมทั้งพวกยาดองและยาขับเลือดหรือขับน้ำคาวปลาทั้งหลาย เพราะนอกจากไม่เกิดประโยชน์แล้ว อาจเกิดอันตรายแก่ทารกด้วย

เพราะยาดองเหล่านี้ อาจมี่สารบางชนิดที่ส่งผ่านไปยังลูก ซึ่งทำให้เกิดอาการเลือดออกง่าย เพราะแพทย์ได้สังเกตว่า เด็กที่มีจ้ำเลือดตามตัว หรือตัวซีด ถ้าเป็นมากจะเกิดอาการชัก เพราะมีเลือดคั่งในสมอง เด็กเหล่านี้มักมีประวัติว่า แม่ทานยาดองเหล้าเกือบทุกราย แม่ที่รักและเป็นห่วงลูกน้อยจึงควรละเว้นเสีย

น้ำนมของแม่เพียงหนึ่งหยดมีความสำคัญต่อการเติบของลูกในทุกนาทีชีวิต ดังนั้น ถ้าจะกิน จะดื่มอะไรควรไตร่ตรองให้ดี หรือปรึกษาแพทย์และปฏิบัติอย่างเคร่งครัด เพื่อชีวิตน้อยๆ ที่กำลังค่อยๆ เติบโตจากค่าน้ำนมของคุณ

ปัญหาโภชนาการของหญิงให้นมบุตร

ปัญหาโภชนาการของหญิงให้นมบุตรมักมีสาเหตุมาจาก -ความเชื่อเกี่ยวกับอาหารแสลง ความเชื่อต่างๆ เช่น การอดอาหารแสลงในขณะอยู่ไฟ โดยเชื่อว่า การกินเนื้อสัตว์ในระยะนี้จะทำให้แผลช่องคลอดหายช้า เป็นสาเหตุทำให้แม่เป็นโรคขาดโปรตีนและขาดแคลอรี ปริมาณน้ำนมน้อย มีผลต่อทารก -ความยากจน เพราะอาหารที่มีโปรตีน เช่น เนื้อสัตว์ นม จะมีราคาแพง ทำให้ผู้ที่มีฐานะยากจนไม่สามารถซื้อมาทานได้ -นิสัยการกินไม่ดี อาจคิดว่าการกินอาหารอาหารในระยะนี้จะทำให้อ้วน จึงพยายามลดอาหาร ทำให้ร่างกายทรุดโทรม มีน้ำนมไม่พอแก่ทารก -ขาดความรู้ด้านโภชนาการ ทำให้เลือกซื้ออาหารที่ไม่มีประโยชน์ -หลงคำเชื่อโฆษณา

ระหว่างที่ตั้งครรภ์ แม่จำเป็นต้องได้รับอาหารเพียงพอสำหรับตนเองและเด็กในครรภ์ ตลอดจนสะสมไว้สำหรับสร้างน้ำนมหลังคลอด จะเห็นได้ว่าก่อนคลอดแม่จะมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นประมาณ 12 กิโลกรัม น้ำหนักที่เพิ่มขึ้นประมาณ 4 กิโลกรัม จะเป็นน้ำหนักของเด็ก รกและน้ำคร่ำ และอีก4-6 กิโลกรัมจะสำรองไว้สำหรับการสร้างน้ำนม 400 กิโลแคลอรีต่อวันเป็นเวลา 4 เดือน

เต้าหู้ไข่นึ่งขิงมะนาว

  1. ส่วนผสม สำหรับ 1 ที่
  2. เต้าหู้หลอดไข่ 1 หลอด
  3. เนื้อไก่เลาะหนังสับ 1 ช้อนโต๊ะ ( 15 กรัม)
  4. เนื้อกุ้งสับหยาบ 1 ช้อนโต๊ะ ( 15 กรัม)
  5. แครอทสับหยาบ 10 กรัม
  6. มะเขือเทศเนื้อหั่นชิ้นเล็ก 10 กรัม
  7. ขึ้นฉ่าย ตามชอบ
  8. ขิงสด 10 กรัม
  9. มะนาว ½ ผล
  10. กระเทียม 1 กลีบ
  11. รากผักชี 1 ราก
  12. พริกไทย ¼ ช้อนชา
  13. น้ำปลา ¼ ช้อนชา
  14. ซอสภูเขา ¼ ช้อนชา
  15. น้ำมันรำข้าว 1 ช้อนชา

วิธีทำ

  • กระเทียม รากผักชี พริกไทย นำมาโขลกให้ละเอียด ตั้งกระทะให้ร้อนใส่น้ำมันรำขาว พอร้อนนำกระเทียมที่โขลกไว้ลงผัดให้หอม เติมส่วนผสมคือ เนื้อไก่ เนื้อกุ้งสับ ลงผัดให้สุก ใส่แครอท มะเขือเทศ ขิงซอย ลงผัดปรุงรสด้วย น้ำปลา น้ำตาลปีบ พักไว้
  • มะนาวนำมาฝานบางๆตามขวาง เรียงให้ภาชนะ เต้าหู้หลอดตัดเป็นชิ้นขนาด 1 นิ้ว นึ่งให้ร้อนใช้ไฟปานกลางประมาณ 5-7 นาที
  • จัดเสิร์ฟ เต้าหู้หลอดที่นึ่งแล้วหยอดหน้าเต้าหู้ด้วยส่วนผสมที่ผัดไว้ ตกแต่งด้วยขึ้นฉ่าย
สัดส่วนพลังงานและสารอาหารโดยเฉลี่ย
โปรตีน(กรัม) คาร์โบไฮเดรต(กรัม) ไขมัน(กรัม) พลังงาน(กิโลแคลอรี)
10.5 - 11.5 145

แหล่งข้อมูล:

  1. สุภาภรณ์ ปิติพร.อาหารและสมุนไร กระตุ้นน้ำนม [ อินเตอร์เน็ต].[เข้าถึงเมื่อ12 มีนาคม 2556].เข้าได้จาก http://www.doctor.or.th/article/detail/5798
  2. อภิชัย ตันติเวสส.แม่ที่ให้นมลูกควรรับประทานอาหารอะไร [ อินเตอร์เน็ต].[เข้าถึงเมื่อ12 มีนาคม 2556].เข้าได้จาก http://www.breastfeedingthai.com/index.php?lay=show&ac=article&Id=283353&Ntype=5.Anonymous.
  3. อาหารสำหรับหญิงให้นมบุตร [ อินเตอร์เน็ต].[เข้าถึงเมื่อ12 มีนาคม 2556].เข้าได้จาก http://www.thaihealth.or.th/healthcontent/article/10046