เข้าครัวกับโภชนากร (โรงพยาบาล) :ตอน อาหารสำหรับหญิงตั้งครรภ์ ตอนที่ 2 และตอนจบของอาหารสำหรับหญิง

ขอเริ่มอาหารสำหรับหญิงตั้งครรภ์ตอน 2 ดังนี้คะ

อาหารและเครื่องดื่มที่ควรหลีกเลี่ยงขณะตั้งครรภ์

  1. ไข่ดิบ หรือ ไข่ที่ปรุงไม่สุก หรืออาหารที่ทำจากไข่ ควรผ่านการปรุงให้สุก ไม่ควรอยู่ในสภาพที่เป็นของเหลว
  2. เนื้อ หรือ ปลาที่ปรุงไม่สุก หรือ เกือบดิบ โดยเนื้อที่กินได้ต้องไม่มีสีชมพู เหลืออยู่
  3. ปลาหรือเนื้อที่กินแบบดิบๆ เช่น ซูชิ สเต็ก บางชนิด เช่น ปลาแซลมอนรมควัน หอยนางรม
  4. นมที่ไม่ผ่านการฆ่าเชื้อและ เนยแข็ง
  5. ตับบด หรือ อาหารประเภทตับ โดยอาหารพวกนี้จะมีวิตามินเอสูงมาก มีความเสี่ยงต่อภาวะทารกในครรภ์คลอดออกมาพิการหรือแท้งได้ เนื่องจากวิตามินเอที่มากเกินไป มีผลต่อการเจริญเติบโตผิดปกติของเด็กในครรภ์
  6. ก่อนรับประทานอาหาร ตรวจสอบให้แน่ใจว่าอาหารสำเร็จรูป หรืออาหารที่อุ่นซ้ำนั้น ผ่านความร้อนเพียงพอและทั่วถึงหรือไม่เพื่อป้องกันการติดเชื้อโรค
  7. ระหว่างตั้งครรภ์และการให้นมบุตร ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานถั่วลิสง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากมีประวัติการเป็นภูมิแพ้ในครอบครัว เช่น โรคหอบหืด หรือ โรคแพ้ละอองเกสร
  8. การได้รับปริมาณแอลกอฮอล์มากเกินไป เป็นสาเหตุให้เกิดปัญหามากมายกับลูกน้อยในครรภ์ โดยเฉพาะครรภ์ที่อายุน้อยกว่า 8 สัปดาห์ และแม้จะบริโภคแอลกอฮอล์เพียงเล็กน้อย ก็ยังอาจมีผลกระทบต่อการพัฒนาสมองของลูกในครรภ์ได้

เคล็ดลับการเลือกรับประทานอาหาร

  • รับประทานอาหารให้ครบมื้อหลัก 3 มื้อ และอาหารว่าง 2 - 3 ครั้งต่อวัน
  • รับประทาน ผลไม้ ผัก ธัญพืช และ ถั่วชนิดต่างๆ เพื่อเพิ่มปริมาณใยอาหารในร่างกาย
  • ดื่มน้ำสะอาด อย่างน้อย 8 - 10 แก้วต่อวัน
  • ดื่มเครื่องดื่มชนิดอื่นๆ เช่น นมพร่องไขมัน น้ำผลไม้สด และซุป
  • ในแต่ละสัปดาห์ ควรกินปลาที่มีไขมัน-โอเมก้า 3 ประมาณ 4 ช้อนโต๊ะ อาทิ ปลาซาร์ดีน ปลากะพงขาว ปลาทู ปลาช่อน
  • ใช้น้ำมันพืชในการทำอาหาร เช่น น้ำมันข้าวโพด น้ำมันรำข้าว น้ำมันดอกทานตะวัน และน้ำมันมะกอก โดยใช้ในปริมาณที่ไม่เกิน 2 ช้อนโต๊ะต่อวัน
  • หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่ผ่านกรรมวิธีแปรรูป หรืออาหารหมักดอง ซึ่งมักจะมีเกลืออยู่ในปริมาณมาก
  • ลดปริมาณสารกาเฟอีน ในชา กาแฟ
  • จำกัดการของหวาน ของขบเคี้ยวต่างๆ เค้ก คุกกี้ พาย อาหารเหล่านี้ให้พลังงานสูง แต่ไม่ค่อยมีคุณค่าทางโภชนาการที่เหมาะสมกับคุณแม่และลูกน้อย การรับประทานตามใจปากในช่วงนี้ จะทำให้คุณแม่กลับมามีรูปร่างเหมือนเดิมได้ยากหลังคลอด ดังนั้นพยายามหักห้ามใจ ไม่กินของหวานพวกนั้นบ่อยเกินไป

อาหารเป็นแหล่งพลังงานที่สำคัญสำหรับ หญิงตั้งครรภ์ จึงควรให้ความใส่ใจในการดูแลเรื่องอาหารที่คุณแม่ควรเลือกรับประทานใน ระหว่างการตั้งครรภ์ เพื่อให้ทารกได้รับสารอาหารที่ครบถ้วน ส่งผลต่อการเจริญเติบโตที่ดี

ตัวอย่างเมนูอาหารสำหรับหญิงตั้งครรภ์คะ

มิกซ์โยเกิร์ต อาหารว่างสำหรับคุณแม่

ส่วนผสม สำหรับ 1 ที่

  • โยเกิร์ตไขมัน 0% รสธรรมชาติ 1 ถ้วย (110 กรัม)
  • เมล็ดทานตะวันอบชนิดจืด 1 ช้อนชา ( 5 กรัม)
  • งาดำคั่วบุบพอแตก 1 ช้อนชา ( 5 กรัม)

-ส่วนผสมผลไม้ลอยแก้ว

  • มะละกอ หั่นสี่เหลี่ยมลูกเต๋า 10 กรัม
  • สับปะรด หั่นสี่เหลี่ยมลูกเต๋า 10 กรัม
  • องุ่นแดง หั่นสี่เหลี่ยมลูกเต๋า 10 กรัม
  • แก้วมังกร หั่นสี่เหลี่ยมลูกเต๋า 10 กรัม

-วิธีทำผลไม้ลอยแก้ว

  • นำผลไม้ที่เตรียมไว้คลุกเคล้าให้เข้ากัน
  • รับประทาน โดยโรยหน้าโยเกิร์ต ด้วย เมล็ดทานตะวันอบชนิดจืด งาดำคั่วบุบพอแตกและผลไม้รวม
สัดส่วนพลังงานและสารอาหารโดยเฉลี่ยที่ได้รับ
โปรตีน (กรัม) คาร์โบไฮเดรต (กรัม) ไขมัน (กรัม) พลังงาน (กิโลแคลอรี) แคลเซียม (มิลลิกรัม)
5 23 6 166 109

แหล่งข้อมูล:

  1. จรรยาภรณ์. อาหารที่ดีต่อสุขภาพตั้งครรภ์ [ อินเตอร์เน็ต].[เข้าถึงเมื่อ13 มีนาคม 2556].เข้าได้จาก www.dumex.co.th › dads › Pages.
  2. ประไพศรี ศิริจักรวาล. อาหารและโภชนาการกับวงจรชีวิต.การประเมินตนเองสู่การเป็นนักกำหนดอาหารวิชาชีพ:เมตตาก๊อปปี้ปริ้น; พศ. 2551.หน้า30-30.
  3. พวงน้อย สาครรัตนกุล .โภชนาการระหว่างตั้งครรภ์[ อินเตอร์เน็ต].[เข้าถึงเมื่อ13 มีนาคม 2556].เข้าได้ http://www.doctor.or.th/article/detail/3591.