เข้าครัวกับโภชนากร (โรงพยาบาล) : ตอน อาหารแสลง

คำว่า แสลง พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 ให้ความหมายว่า ไม่ถูกกับโรค หรือ ขัด ดังนั้น เมื่อพูดถึง อาหารแสลง จึงหมายถึง อาหารที่ไม่ถูกกับโรคหรือขัดกับโรค ซึ่งคนไทยทั่วไปเชื่อจากการบอกต่อๆกันมาว่า หลายโรคมีอาหารแสลงต่อโรคนั้นๆ ไม่ควรกินเพราะถ้ากินแล้วโรคจะรักษาไม่หาย กำเริบ หรืออาการมากขึ้น

ในสังคมไทย เมื่อเราเจ็บป่วย มักจะถูกห้ามกินอาหารบางอย่าง จากพ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย คนในครอบครัว หรือเพื่อนๆ รวมถึงผู้หวังดีมากมายที่เรารู้จัก (และบ่อยครั้งจากความเชื่อของเราเอง)โดยบอกว่า เป็นอาหารแสลง

อาหารแสลง ที่ผู้ป่วยส่วนใหญ่เข้าใจคลาดเคลื่อนทางโภชนาการที่พบบ่อยๆ เช่น ผู้ป่วยผ่าตัด ผู้ป่วยที่มีบาดแผล และโรคมะเร็ง ห้ามกินไข่หรือเนื้อสัตว์ เนื่องจากจะทำให้เกิดแผลเป็นนูน แผลไม่สวย หรือกระตุ้นให้เซลล์มะเร็งเจริญ เติบโตลุกลามเร็วขึ้น ซึ่งเราจะพบว่าผู้ป่วยมะเร็งมากกว่า 50% น้ำหนักลด ส่วนหนึ่งก็มาจากความเชื่อในอาหารแสลง ไม่กล้ากินอาหารประเภทเนื้อสัตว์ ทำให้ขาดสารอาหาร รูปร่างผอมลงไปเรื่อยๆ แต่ในความเป็นจริง การได้กินอาหารโปรตีนคุณภาพสูงที่มีกรดอะมิโนที่จำเป็นต่อร่างกายครบถ้วน เช่น เนื้อสัตว์ชนิดไขมันต่ำ หรือ ปลา (แต่สิ่งที่ควรระวัง คือเนื้อสัตว์ผ่านการปิ้งย่าง ใช้ความร้อนสูงๆ เนื้อสัตว์แปรรูป เช่น ไส้กรอก ลูกชิ้น เนื้อเค็ม ปลาควรเลือกปลาตัวเล็ก จะมีปริมาณสารพิษทางน้ำน้อยกว่าปลาตัวใหญ่) ไข่ ถั่วต่างๆ ก็เป็นเรื่องจำเป็น เพราะอาหารเหล่านี้มีส่วนสำคัญมากที่ช่วยบำรุงไขกระดูก และช่วยเพิ่มภูมิคุ้มกันต้านทานโรคให้กับร่างกายเพราะถ้าผู้ป่วยได้รับสารอาหารเหล่า นี้ไม่เพียงพอหรือขาดสมดุล โดยเฉพาะสารอาหารโปรตีน ร่างกายจะดึงเอาพลังงานจากกล้ามเนื้อออกมาใช้ ทำให้ผู้ป่วยมีกล้ามเนื้อลีบ อ่อนแรง นอกจากนั้น ไขกระดูกจะทำงานลดลง และร่างกายจะมีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคลดลง ผู้ป่วยจึงเกิดการติดเชื้อแทรกซ้อนได้ง่ายและมักรุนแรงส่งผลต่อการรักษารวมถึงคุณภาพชีวิตที่ลดลง

ทั้งนี้ มีหลายโรคเรื้อรังที่แพทย์แนะนำให้ผู้ป่วยหลีกเลี่ยง และ/หรือ จำกัด อาหาร หรือสารอาหาร บางประเภท เพราะจะส่งผลให้แพทย์ไม่สามารถรักษาควบคุมโรคของผู้ป่วยได้ เพราะสารอาหารเหล่านั้นจะส่งผลกระทบต่อการทำงานของเซลล์ต่างๆที่เกี่ยวข้อง เช่น

  • อาหารโปรตีนสูงในผู้ป่วยไตวายระยะรุนแรงเพราะจะส่งต่อการทำงานของไต
  • อาหารหวาน/แป้ง (คาร์โบไฮเดรต) อาหารไขมันสูงในผู้ป่วย โรคเบาหวานโรคความดันโลหิตสูงโรคหลอดเลือดหัวใจโรคหลอดเลือดสมองโรคหลอดเลือดแดงแข็ง และโรคไขมันในเลือดสูง เพราะจะลดประสิทธิภาพของยาที่ใช้รักษาควบคุมโรคเหล่านี้ เป็นต้น

ความเชื่อเรื่องอาหารแสลงที่อันตรายที่สุด คือ ในเรื่องของโรคมะเร็ง ทางการแพทย์ ไม่มีอาหารชนิดใดเลยที่แสลงต่อโรคมะเร็ง ผู้ป่วยและครอบครัวจึงควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์เสมอ ไม่งดอาหารใดๆจากความเชื่อ โดยเฉพาะ อาหารโปรตีน และโดยเฉพาะในช่วงกำลังรักษาโรคมะเร็ง โปรตีนจะเป็นอาหารจำเป็นที่สุดที่จะช่วยสร้างไขกระดูกเพื่อช่วยให้ผู้ป่วยสามารถรับการรักษาทางเคมีบำบัด และรังสีรักษาได้อย่างต่อเนื่อง ไม่ต้องหยุดพักการรักษาจากเม็ดเลือดขาวต่ำจากไขกระดูกทำงานต่ำ ซึ่งจะส่งผลต่อประสิทธิภาพในการรักษา

ดังนั้น เราทุกคนจึงไม่ควร “กิน หรือไม่กิน” อาหารจากความเชื่อ โดยเฉพาะผู้ป่วย ควรต้องกินอาหารตาม แพทย์ พยาบาล โภชนากร แนะนำเสมอ

สรุป ในทางการแพทย์ “ไม่มีอาหารแสลง” เพราะอาหารเป็นสิ่งมีประโยชน์ แต่จะก่อโทษเมื่อเรากินในปริมาณมากเกินไป กินไม่เหมาะสมกับสภาพร่างกาย และ/หรือกับโรคภัยไข้เจ็บที่เราเป็นอยู่ ดังนั้น แพทย์ พยาบาลและโภชนากร จึงไม่ใช้คำว่า อาหารแสลง ในการดูแลรักษาโรค แต่จะใช้คำว่า “จำกัดหรือหลีกเลี่ยง” อาหารนั้นๆแทนเช่น จำกัดอาหารหวาน อาหารเค็ม ดังนั้น คำว่า “อาหารแสลง” จึงเป็นคำที่ผู้ป่วยและคนทั่วไปใช้ ไม่ใช่จากบุคลากรทางการ แพทย์

แหล่งข้อมูล:

  1. กมล ไชยสิทธิ์.โภชนบำบัดมะเร็ง.ใน:ดวงสมรทิวะทรัพย์,พัชราณีภวัตกุล,ศัลยา คงสมบูรณ์เวช,บรรณธิการ.กรุงเทพ:ฮั่งยี; 2552 .หน้า 136-138.
  2. งานโภชนาการ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์.อาหารสุขภาพ.หาดใหญ่;2555
  3. ณัฐยา รัชตะวรรณ:ท้องผูก รุนแรง[ อินเตอร์เน็ต].[เข้าถึงเมื่อ 13 มกราคม 2556].เข้าได้จาก - http://www.real-parenting.com/detail.aspx?articleId=430
  4. ปรีชาญอุ่นรัตนะ.เคล็ดลับสุขภาพ : กินตามธาตุเจ้าเรือน[ อินเตอร์เน็ต].[เข้าถึงเมื่อ 12 มกราคม 2556].เข้าได้จาก - http://203.155.220.217/hpd/slide2.html
  5. วิเชียร ศรีมุนินทร์นิมิต.Management of cancer-induced weight loss.งานประชุมสมาคมนักกำหนดอาหาร ร่วมกับโรงพยาบาลราชวิถี ;วันที่29 มิถุนายน 2549;ณ ห้องประชุม ชั้น12 อาคารเฉลิมพระเกียรติ โรงพยาบาลราชวิถี.กรุงเทพฯ.
  6. วิทวัส(ภาสกิจ)วัฒนาวิบูล.อาหารแสลง ต้องห้าม [ อินเตอร์เน็ต].[เข้าถึงเมื่อ 11 มกราคม 2556].เข้าได้จาก - http://www.doctor.or.th/article/detail/2916
  7. สุรเกียรติ อาชานานุภาพ :ท้องเดินเรื้อรัง -โรคธาตุอ่อน[ อินเตอร์เน็ต].[เข้าถึงเมื่อ 13 มกราคม 2556].เข้าได้จาก - http://www.doctor.or.th/article/detail/3175
  8. ศัลยา คงสมบูรณ์เวช.ท้องผูกแก้ไขได้.ใน:มูลนิธิคุณภาพ.กินเพื่อสุขภาพ:คู่มือเพื่อคุณรักสุขภาพ.กรุงเทพมหานคร:อักษรสัมพันธ์;2552.หน้า 68-71.