เข้าครัวกับโภชนากร (โรงพยาบาล) : ตอน รู้จักกินช่วยชะลอความเสื่อมของไต ตอนที่ 1

การกินอาหารให้ถูกต้อง และเหมาะสมกับความต้องการของร่างกายโดยมีจุดมุ่งหมายหลักคือ การชะลอความเสื่อมในการทำงานของไตเพื่อให้ไตที่เหลืออยู่มีความสามารถในการขับถ่ายของเสียออกจากร่างกายเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดในการชะลอไม่ให้เนื้อไตถูกทำลายมากขึ้นจนเข้าสู่ไตวายระยะสุดท้าย

  1. อาหารประเภทโปรตีน การรับประทานอาหารโปรตีนสูงมีผลเสียต่อการทำหน้าที่ของไต การศึกษาทางคลินิกพบว่าการลดอาหารโปรตีนลงจะทำให้อาการของโรคไตวายลดลงผู้ที่เป็นโรคไตเรื้อรังควรกินโปรตีนประมาณ 3 ใน 4 ของคนปกติ เช่นถ้าคนปกติกินเนื้อสัตว์วันละ 8-10 ช้อนกินข้าวต้องกินลดลงเหลือประมาณ 6-7 ช้อนกินข้าว

    ดังนั้นเมื่อควบคุมปริมาณโปรตีนจึงควรต้องบริโภค โปรตีนที่มีคุณภาพสูงหมายถึงโปรตีนจำพวกเนื้อสัตว์ อาทิ ไข่ขาว เนื้อปลา นม เนื่องจากมีกรดอะมิโนที่จำเป็นต่อร่างกายครบถ้วนซึ่งดีกว่าโปรตีนจากพืชหรือถั่วต่างๆ ที่อาจมีการขาดกรดอะมิโนที่จำเป็นบางตัวทำให้ร่างกายได้สารโปรตีนไม่ครบถ้วน และอาจเกิดการสูญเสียสมดุลของไนโตรเจนที่เกี่ยวข้องกับโปรตีนได้

    แสดงปริมาณเนื้อสัตว์ 1 ส่วน ( 30 กรัม ) มีโปรตีน 7 กรัม ให้พลังงาน 55-75 กิโลแคลอรี
    เนื้อสัตว์ ปริมาณ เนื้อสัตว์ ปริมาณ
    เนื้อหมู / เนื้อไก่ ไม่ติดมันไม่ติดหนัง 2 ช้อนกินข้าว เนื้อปลานึ่ง (2x2x1/3 นิ้ว) 1 ชิ้น
    เนื้อหมู เนื้อไก่สับ 2 ช้อนกินข้าว ไข่ทั้งฟอง 1ฟอง
    กุ้งนาง 1 ตัวขนาดกลาง ไข่ขาว 2 ฟอง
    กุ้งกุลาดำลาย ( ขนาด 2 นิ้ว ) 4 ตัว ซี่โครงหมูทอด( 1.5 x 1.5 นิ้ว ) 4 ชิ้น
    ปลาทู (เฉพาะเนื้อ ) 1 ตัวเล็ก ลูกชิ้น (ขนาดกลาง ) 4-5 ลุก
    ปลาแดง (เฉพาะเนื้อ ) 1 ตัวเล็ก ปลาดุก / ปลาช่อน ( หนา ½ นิ้ว) 3 แว่น

    เนื้อสัตว์ที่ควรหลีกเลี่ยง

    1. เนื้อสัตว์ที่มีไขมันและโคเลสเตอรอลมาก เช่น ไข่แดง เครื่องในสัตว์ หนังหมู หนังไก่ เนื้อหมู เนื้อวัวที่ติดมัน ซี่โครงหมูติดมันมากๆ เป็ดปักกิ่ง หมูสามชั้น หมูกรอบ เป็ดย่าง ไข่ปลา ฯลฯ
    2. เนื้อสัตว์ที่มีกรดอะมิโนจำเป็นไม่ครบ หรือโปรตีนคุณภาพไม่ดี ทำให้ไตต้องทำงานหนักขึ้นในการขับถ่ายของเสีย เช่น เอ็นสัตว์ต่างๆ เอ็นหมู เอ็นวัว เอ็นไก่ หูฉลาม ตีนเป็ด ตีนไก่ กระดูกอ่อน
    3. ถั่วเมล็ดแห้ง เป็นโปรตีนที่มีกรดอะมิโนจำเป็นไม่ครบถ้วนจัดเป็นโปรตีนคุณภาพไม่ดีเมื่อรับประทานเข้าไป จะมีของเสียที่ต้องขับออกทางไตมาก ถัวเมล็ดแห้งยังมีฟอสฟอรัสมาก ผู้ป่วยโรคไตจะขับถ่ายฟอสฟอรัสได้น้อยทำให้ฟอสฟอรัสในเลือดสูง ไตเสื่อมสภาพเร็วขึ้น และยังมีผลรบกวนการดูดซึมของแคลเซียมในระบบทางเดินอาหาร ทำให้เสียสมดุลแคลเซียมและฟอสฟอรัส จะทำให้เป็นปัจจัยเสี่ยงของ โรคกระดูกพรุน ปวดกระดูก กระดูกหักง่าย คันตามผิวหนัง ฯลฯ
    4. น้ำนมเป็นอาหารที่มีโปรตีนคุณภาพดี นม 1 กล่อง ( 240 มิลลิลิตร ) มีโปรตีน 8 กรัม ในน้ำนมมีแคลเซียม ฟอสฟอรัส โปแตสเซียมสูง จึงรับประทานได้แต่ไม่ควรเกิน 240 ซีซีต่อวัน หากรับประทานนมก็ต้องลดปริมาณเนื้อสัตว์ในวันนั้นด้วย
  2. อาหารประเภทข้าว/แป้ง ร่างกายยังต้องการพลังงานอย่างเพียงพอในการทำกิจกรรมต่างๆเพื่อป้องกันไม่ให้ร่างกายสลายโปรตีนที่กินได้อย่างจำกัดมาเป็นแหล่งของพลังงานจึงต้องกินอาหารพวกข้าวแป้งให้เพียงพอด้วย

    เนื่องจากอาหารประเภทข้าว/แป้ง มีส่วนประกอบของโปรตีนอยู่ด้วยประมาณ 1-2 กรัมต่อ 1 ทัพพี ดังนั้นจึงต้องระวังไม่กินอาหารประเภทข้าวเพิ่มมากขึ้นกว่าปกติโดยทั่วไปอาจกินข้าว/แป้งรวมทั้งวันไม่ควรเกิน 6-7 ส่วน และให้ไปเพิ่มพลังงานจากกลุ่มอาหารพวกแป้งไม่มีโปรตีนเช่นวุ้นเส้น ก๋วยเตี๋ยวเซี่ยงไฮ้ สาคู ลอดช่องสิงคโปร์ ซ่าหริ่ม รวมมิตรอาหารเหล่านี้สามารถกินได้โดยไม่ต้องคิดคำนวณปริมาณโปรตีน ส่วนข้าวกล้อง ข้าวซ้อมมือ ข้าวโอต ลูกเดือย จะมีฟอสฟอรัสสูง ผู้ป่วยโรคไตจึงควรหลีกเลี่ยง ให้รับประทานข้าวขาว ขนมปังขาวแทน

    น้ำตาล เป็นแหล่งที่ให้พลังงานที่สำคัญของผู้ป่วยโรคไต ผู้ป่วยควรรับประทานน้ำตาลในรูปของขนมหวาน น้ำหวาน จะช่วยให้ผู้ป่วยได้รับพลังงานมากขึ้น ควรเลือกขนมที่ไม่มีส่วนผสมของไข่แดง ถั่วเมล็ดแห้ง และส่วนผสมของเนยหรือกะทิขนมที่ควรรับประทาน มีดังนี้

    ขนมที่ทำจากแป้งไม่มีโปรตีนเช่น วุ้นน้ำหวาน ขนมรวมมิตร ลอดช่องสิงคโปร์ สาคูลอยแก้ว สาคูเปียก มะพร้าวอ่อน- สาคู -แคนตาลูป ซ่าหริ่ม ทับทิมกรอบ ขนมหยกมณี ขนมลืมกลืน วุ้นกรอบ ลูกชิดเชื่อม ขนมครองแครง ขนมชั้น ขนมมัน ฯลฯ

    ขนมที่ทำจากแป้งที่มีโปรตีนเช่น ขนมปังทาเนยเทียมโรยน้ำตาล ขนมปังหวาน ขนมไส้แยม เผือกกวน เผือกน้ำกะทิ ข้าวต้มน้ำวุ้น ข้าวเหนียวเปียกเผือก ข้าวเหนียวเปียกแห้ว โดนัท เค้กไข่ขาว ข้าวโพด ขนมเหนียว คุกกี้ ขนมในกลุ่มนี้รับประทานได้ในปริมาณที่พอเหมาะ

    ขนมที่ควรหลีกเลี่ยง มีดังนี้ ทองหยิบ ทองหยอด ฝอยทอง เม็ดขนุน ถั่วกวน สังขยา ขนมหม้อแกง ขนมทองเอก ถั่วดำกวน กล้วยบวชชี ข้าวเหนียวตัด ข้าวเหนียวมูน เค้กใส่นัทคุกกีใส้ถั่ว ไอศกรีมนม ขนมที่มีกะทิ ฯลฯ

แหล่งข้อมูล:

  1. ชนิดา ปโชติการ . โภชนบำบัดสำหรับผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง. การประชุมอบรมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง การอบรมแนวทางการให้คำปรึกษาด้านโภชนบำบัดแก่ผู้ป่วยในโรงพยาบาล ; วันที่ 29 – 31 กรกฏาคม 2552; ณ ห้องพญาไท ชั้น 11 อาคารเฉลิมพระเกียรติ ร.พ. ราชวิถี. กรุงเทพฯ.