ฮิคิโคโมริ ขออยู่คนเดียวนะเธอ (ตอนที่ 2 และตอนจบ)

ฮิคิโคโมริขออยู่คนเดียวนะเธอ-2

      

      คนที่เป็นโรคฮิคิโคโมริจะชอบทำกิจกรรมในบ้าน (Indoor activities) มีบางโอกาสที่จะออกไปผจญภัยข้างนอก การปลีกตัวเองจากสังคมจะค่อยๆ เกิดขึ้นทีละน้อยๆ คนที่เป็นจะรู้สึกว่าตัวเองไม่มีความสุข ไม่มีเพื่อน ไม่ปลอดภัย ขี้อาย และพูดน้อย

      และส่วนใหญ่คนที่เป็นโรคนี้ จะเป็นวัยรุ่นชายที่ล้มเหลวจากบางสิ่งบางอย่าง เช่น สอบไม่ผ่าน ถูกรังแก หรือได้รับแรงกดดันจากสังคม จึงแยกตัวเองจากสังคมเป็นแรมเดือนหรือแรมปี จนบางครั้งคนที่เป็นแม่จะต้องนำอาหารไปวางให้ลูกที่หน้าห้อง เพราะลูกจะไม่ยอมออกมากินข้าวกับครอบครัว มีแต่อยู่ในห้องท่องเว้ป เล่นเกมส์ หรืออ่านการ์ตูน

      นักจิตวิทยาส่วนใหญ่เชื่อว่า สาเหตุหนึ่งของการเกิดโรคฮิคิโคโมริมาจากแนวความคิดที่สำคัญอย่างยิ่งในสังคมญี่ปุ่นเรื่อง “Sekentei (世間体)” ซึ่งเป็นเรื่องของการถือชื่อเสียงในสังคมและการทำให้คนอื่นประทับใจ

      ดังนั้น ความล้มเหลวหรือการทำได้ไม่ดีเท่ารุ่นพ่อหรือรุ่นปู่ จึงเริ่มทำให้คนญี่ปุ่นหนีตัวเองจากสังคมไปเรื่อยๆ เช่นเดียวกับกรณีของคนที่อ้วนผิดปกติ ที่กินเพราะเครียดหรือไม่มีความสุข ซึ่งจะทำให้น้ำหนักเพิ่มขึ้นๆ แล้วก็เครียดหรือเป็นทุกข์มากขึ้นเรื่องน้ำหนัก ยิ่งเครียดยิ่งกินเป็นวัฏจักรไปเรื่อยๆ

      นอกจากแนวคิดเรื่อง Sekentei แล้ว จะพบแนวความคิดเรื่อง “Amae (甘え)” ซึ่งเป็นแนวความคิดของการที่ต้องการได้รับการดูแลจากคนรักอย่างอ่อนโยนเหมือนเด็ก จึงทำตัวเหมือนเด็ก โดยจะไม่ดูแลความสะอาด มีความรู้สึกต้องการพึ่งพา (Independence) และจะก้าวร้าวหากไม่ได้ดั่งใจ ซึ่งเป็นความสัมพันธ์ที่พบได้ทั่วไประหว่างแม่และลูกชายในสังคมญี่ปุ่น โดยเฉพาะกับลูกชายคนโต

      เป็นที่แน่ชัดว่า วัยรุ่นญี่ปุ่นที่เป็นโรคฮิคิโคโมริมีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งจะสร้างปัญหาสังคมที่รุนแรงให้กับญี่ปุ่น เพราะเด็กพวกนี้จะไม่ทำงาน ไม่จ่ายคืนสังคม ไม่แต่งงานหรือไม่มีลูก มีแต่ให้พ่อแม่เลี้ยง

      และเมื่อเร็วๆ นี้ ได้มีการพบกรณีศึกษาที่คล้ายโรคฮิคิโคโมริในประเทศอื่นที่มีวัฒนธรรมทางสังคมและเศรษฐกิจที่ต่างจากญี่ปุ่น เช่น ฮ่องกง โอมาน สเปน อินเดีย เกาหลีใต้ และสหรัฐอเมริกา นั่นหมายความว่า ลักษณะของฮิคิโคโมริได้มีการเพิ่มจำนวนมากขึ้นในระดับชาติแล้ว

      ทั้งนี้ สันนิษฐานว่า ปัจจัยหลักอาจเกิดจากวิวัฒนาการของการสื่อสารที่เปลี่ยนจากการพบปะหน้ากันโดยตรง (Face‐to‐face contacts) ไปเป็นการสื่อสารทางอ้อม (Indirect) ผ่านสื่อต่างๆ แทน

      และจากการวิจัยล่าสุดของ The National Center for Biotechnology Information (NCBI) ของสหรัฐอเมริกา โดยใช้ The Structured Clinical Interview for DSM‐IV Axis I Disorders พบว่า โรคฮิคิโคโมริเป็นโรคที่เกิดขึ้นร่วมกันปัญหาทางจิตเวชหลายอย่าง เช่น ความผิดปกติทางบุคลิกภาพแบบหลีกเลี่ยง (Avoidant personality disorder) โรคกังวลต่อการเข้าสังคม (Social anxiety disorder) และ โรคซึมเศร้า (Depression) และมีบางส่วนที่มีอาการคล้ายกับกลุ่มอาการออทิสติก (Autistic spectrum disorders) รวมถึงอาการแฝงหรืออาการนำของโรคจิตเภท (Latent or prodromal states of schizophrenia) ด้วย

แหล่งข้อมูล:

  1. Hikikomori. https://en.wikipedia.org/wiki/Hikikomori [2018, November 24].
  2. What Is Hikikomori? Could It Be One of Japan’s Most Serious Problems? http://jpninfo.com/64533 [2018, November 24].
  3. Hikikomori: experience in Japan and international relevance. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC5775123/ [2018, November 24].