ฮอร์โมนรก (Placental hormone)

บทความที่เกี่ยวข้อง
ฮอร์โมนรก

รก(Placenta)เป็นอวัยวะชั่วคราวเฉพาะกิจ มีเฉพาะเพศหญิงในช่วงการตั้งครรภ์ มีหน้าที่หลักในการลำเลียงอาหารและสารชนิดต่างที่สำคัญต่อการดำรงชีวิตของทารกระหว่างมารดาและทารกในครรภ์ ผ่านทางการไหลเวียนเลือด และยังรวมถึงการกำจัดของเสียจากทารก นอกจากนั้น รกยังสร้างฮอร์โมนต่างๆที่เรียกรวมกันว่า “ฮอร์โมนจากรก รกฮอร์โมน(Placental hormones)”เพื่อสนับสนุนภาวะตั้งครรภ์ของมารดาจากการควบคุมการทำงานของ รังไข่ มดลูก เต้านม และเพื่อสนับสนุนการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์ ทั้งนี้รกเจริญเติบโตได้จากระบบการทำงานทั้งของมารดาและของทารกในครรภ์ผ่านทางระบบไหลเวียนเลือดของทั้งมารดาและของทารกฯ

ฮอร์โมนรก หรือ ฮอร์โมนจากรก(Placental hormone)แบ่งเป็น 2กลุ่มใหญ่ คือ สเตียรอยด์ฮอร์โมน(Steroid hormones) และ เปปไทด์ฮอร์โมน(Peptide hormones) อีกชื่อคือโปรตีนฮอร์โมน(Protein hormones)

ก. Steroid hormones: ฮอร์โมนกลุ่มนี้จากรก เป็นกลุ่มฮอร์โมนเพศหญิง ชนิด เอสโตรเจน(Estrogen) และชนิด โพรเจสเทอโรน(Progesterone)

  • Estrogen: เอสโตรเจนชนิดที่สร้างในปริมาณมากจากรกคือ ชนิด Estriol(E3)มีหน้าที่สร้างและคงความแข็งแรงของกล้ามเนื้อมดลูกให้รองรับการตั้งครรภ์ได้สมบูรณ์ ซึ่งฮอร์โมนนี้จะลดระดับลงเมื่อใกล้คลอดเพื่อส่งเสริมให้เกิดการคลอดบุตรได้ นอกจากนั้นอีกหน้าที่สำคัญคือ ส่งเสริมการเจริญเติบโตของเต้านม/ต่อมสร้างน้ำนมเพื่อให้เกิดการสร้างน้ำนมที่พอเพียงต่อการเลี้ยงทารกหลังการคลอดบุตร
  • Progesterone ในช่วงตั้งครรภ์จะมีหน้าที่ส่งเสริมเยื่อบุโพรงมดลูกให้มีความสมบูรณ์เพื่อการยึดเกาะของตัวอ่อนที่จะเจริญเติบโตตลอดช่วงตั้งครรภ์ และป้องกัน/ลดการบีบตัว/หดตัวของกล้ามเนื้อมดลูกอันจะส่งผลให้เกิดการแท้งบุตร นอกจากนั้น ยังยับยั้งการเจริญเติบโตของไข่ในรังไข่เพื่อไม่ให้เกิดการตกไข่ในระหว่างตั้งครรภ์

ข. Peptide hormones คือ ฮอร์โมนชนิดที่โมเลกุลของมันเป็นสารโปรตีน/เปปไทด์/กรดอะมิโน ซึ่งฮอร์โมนนี้จากรกจะทำงานร่วมกับระบบต่อมไร้ท่อของมารดาที่จะช่วยสนับสนุนการตั้งครรภ์และสนับสนุนร่างกายของมารดาระยะหลังคลอด และยังมีผลต่อกระบวนการสันดาป(Metabolism)ของทารก ฮอร์โมนกลุ่มนี้จากรกที่สำคัญ ได้แก่

  • Human chorionic gonadotropin ย่อว่า hCG หรือ Human chorionic gonadotropin คนไทยเรียกว่า “ฮอร์โมนแห่งการตั้งครรภ์” เป็นฮอร์โมนช่วยการทำงานของรังไข่มารดาให้สร้างฮอร์โมนเพื่อการเจริญเติบโตของเยื่อบุโพรงมดลูกที่ทำให้การฝังตัวของไข่ที่ปฏิสนธิแล้วเจริญเติบโตเป็นตัวอ่อนเพื่อให้การตั้งครรภ์ดำเนินต่อไปได้อย่างสมบูรณ์ ซึ่งระดับของ hCGในเลือดและในปัสสาวะสามารถตรวจได้จากห้องปฏิบัติการทั่วไปที่ใช้ช่วยวินิจฉัยการตั้งครรภ์(Pregnancy test, อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง การวินิจฉัยการตั้งครรภ์)ตั้งแต่มารดาขาดประจำเดือนได้ 3-4สัปดาห์ รวมถึงการตรวจฮอร์โมนนี้จากปัสสาวะ(Urine) เป็นวิธีการที่ง่าย สะดวก ไม่แพง และมีจำหน่ายตามร้านขายยาทั่วไปที่เรียกว่า “Urine pregnancy test (อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง “การตรวจปัสสาวะดูการตั้งครรภ์ และการแปลผล)”
  • Human chorionic somatomammotropin ย่อว่า HCS อีกชื่อคือ Human placental lactogen, hPL การทำงานของฮอร์โมนนี้ ยังไม่ทราบชัดเจน แต่เชื่อว่าจะคล้ายกับ ฮอร์โมนเพื่อการเจริญเติบโต(hGH) ซึ่งนักวิทยาศาสตร์และแพทย์เชื่อว่า ฮอร์โมนนี้เกี่ยวข้องกับกระบวนการสันดาปของทั้งมารดาและของทารกในครรภ์
  • Relaxin เป็นฮอร์โมนสร้างจากรก และจากรังไข่ในช่วงตั้งครรภ์ ซึ่งในช่วงแรกของการตั้งครรภ์ ฮอร์โมนนี้จะทำให้กล้ามเนื้อมดลูกผ่อนคลาย ลดการบีบตัว จึงช่วยลดโอกาสเกิดการแท้งบุตร แต่ในช่วงใกล้คลอดฮอร์โมนนี้จะช่วยกระตุ้นการคลอดโดยการช่วยให้ถุงน้ำคร่ำแตกและช่วยให้ปากมดลูกอ่อนนุ่มพร้อมที่จะเปิดขยายในช่วงการคลอดบุตร และยังช่วยให้กล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานคลายตัวหลังการคลอด

อนึ่ง Relaxin ในผู้ชายจะสร้างจากต่อมลูกหมาก โดยเชื่อว่า เพื่อช่วยการเคลื่อนไหวของตัวอสุจิขณะอยู่ในน้ำอสุจิ

บรรณานุกรม

  1. http://www.yourhormones.info/glands/placenta/ [2018,March24]
  2. http://www.vivo.colostate.edu/hbooks/pathphys/reprod/placenta/endocrine.html [2018,March24]
  3. https://en.wikipedia.org/wiki/Placenta [2018,March24]