อุปทานหมู่

อุปทานหมู่-1

      

      จากกรณีเมื่อวันที่ 15 พย.เกิดความโกลาหลที่โรงเรียนบางขันวิทยา จ.นครศรีธรรมราช เมื่อเด็กนักเรียนลักษณะคล้ายอุปทานหมู่ล้มตึงเป็นลม ชักเกร็งเลื้อยเหมือนงู จนต้องสั่งปิดโรงเรียนแล้วรีบนำตัวนักเรียนส่ง รพ.บางขัน เพื่อให้แพทย์ดูอาการจนทุกคนปลอดภัยหายดีเป็นปกติ และทางโรงเรียนต้องนิมนต์พระวัดบ้านลำนาวทำพิธีอุทิศส่วนกุศลแผ่เมตตาให้เจ้าที่เจ้าทาง เพื่อความสบายใจของทุกฝ่าย

      ล่าสุดเมื่อวันที่ 29 พย. ทางโรงเรียนบางขันวิทยา ได้จัดพิธีบวงสรวงเซ่นไหว้ขอขมาพระภูมิเจ้าที่เจ้าทาง วิญญาณผู้วายชนม์ไปแล้ว ซึ่งจู่ๆ ระหว่างเด็กนักเรียนกำลังแต่งกายด้วยชุดนางรำ บางคนกลับมีอาการร้องไห้สะอึกสะอื้น ขณะที่บางส่วนได้ร่ายรำได้อย่างสวยงามสะกดใจ สร้างความตกตะลึงให้แก่ผู้เข้าร่วมในพิธี

      ภาวะอุปาทานหมู่ (Mass hysteria / Collective hysteria / Mass psychogenic illness / Collective obsessional behavior) เป็นกลุ่มอาการอันเนื่องมาจากความกดดันทางด้านจิตใจแล้วส่งผลให้มีอาการแสดงออกทางด้านร่างกาย เช่น มีอาการเกร็งของกล้ามเนื้อ คลื่นไส้ ปวดท้อง เกร็งท้อง กรีดร้อง หายใจหอบเร็ว (Hyperventilation or difficult breathing) ชักไม่รู้สึกตัว เป็นต้น

      แต่เมื่อทําการตรวจทางการแพทย์แล้วไม่พบสิ่งผิดปกติทางร่างกายที่อธิบายอาการต่างๆ เหล่านี้ได้ การระบาดของภาวะอุปาทานหมู่ในประเทศไทยสามารถเกิดได้ทุกเดือน แต่พบน้อยช่วงเดือนมีนาคม-พฤษภาคม เนื่องจากเป็นช่วงปิดภาคเรียน ส่วนใหญ่เกิดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคอื่นๆ พบได้น้อยกว่า พื้นที่ที่พบปัญหามักพบในเขตชนบทมากกว่าเขตเมือง เพศหญิงพบมากกว่าเพศชาย เกิดมากในวัยรุ่นหรือวัยเด็ก หรือกําลังศึกษาในระดับประถมศึกษาถึงระดับมัธยมศึกษาตอนต้น

      ภาวะอุปาทานหมู่เป็นเรื่องที่ถูกเขียนและกล่าวถึงมาเป็นเวลาหลายร้อยปีทั่วโลกแม้ในสังคมที่แตกต่างกัน โดยส่วนใหญ่จะเริ่มจากการมีสิ่งแวดล้อมเป็นตัวกระตุ้น (Trigger) เช่น กลิ่นเหม็น ข่าวลือเรื่องการแพร่ของสารพิษ เชื้อโรค เป็นต้น

      เมื่อคนหนึ่งมีอาการป่วย คนอื่นในกลุ่มก็เลยมีอาการป่วยไปด้วย โดยอาการป่วยเกิดขึ้นจริง เช่น ปวดศีรษะ ปวดท้อง ฯลฯ แต่สาเหตุของอาการไม่ได้เกิดจากสิ่งที่คิด เช่น การถูกวางยาพิษ เป็นต้น ทั้งนี้ เราอาจกล่าวได้ว่าเกิดจากภาวะอุปทานหมู่ได้ในกรณีที่

  • ผลการตรวจทางกายภาพปกติ
  • แพทย์ไม่สามารถหาสาเหตุแห่งความผิดปกตินั้นได้
  • มีหลายคนที่ป่วยเหมือนกัน

      ส่วนใหญ่อาการจะหายไปหากมีการเคลื่อนย้ายออกจากบริเวณที่เริ่มเกิดเหตุ แต่หากมีอาการต่อไปนี้ ให้ไปพบแพทย์

  • มีอาการป่วยนานหลายวัน
  • เป็นไข้
  • กล้ามเนื้อกระตุก
  • น้ำตาไหล
  • รู้สึกเหมือนผิวหนังแสบไหม้

      

แหล่งข้อมูล:

  1. ลี้ลับ “อุปทานหมู่” เกิดขึ้นซ้ำ! นร.ชุดรำกรีดร้องร่ำไห้สะอื้น. https://www.dailynews.co.th/regional/679805 [2018, January 7].
  2. การระบาดของโรคอุปาทานหมู่ระหว่างการอบรมจริยธรรมในโรงเรียนมัธยมศึกษาแห่งหนึ่ง อําเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี มิถุนายน 2560. http://www.wesr.moph.go.th/wesr_new/file/y61/F61151_1658.pdf [2018, January 7].
  3. What Is Mass Psychogenic Illness? https://www.aafp.org/afp/2000/1215/p2655.html [2018, January 7].
  4. What is mass psychogenic illness? https://familydoctor.org/condition/mass-psychogenic-illness/ [2018, January 7].