อุบัติเหตุจราจรกับโรคลมชัก (Traffic accident and epileptic patients)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ช่วงสายๆของวันพุธที่ 11 มิถุนายน 2557 ที่ผ่านมานั้น ผมเชื่อว่าทุกคนตกใจกับเหตุ การณ์ที่ครูท่านหนึ่งขับรถยนตร์ชนเด็กเสียชีวิต 4 คนที่จังหวัดหนองบัวลำภู เพราะมีอาการชักขณะขับรถ จึงหมดสติและสูญเสียความสามารถการควบคุมรถ ก่อให้เกิดอุบัติเหตุข่าวเศร้า และเป็นอุทาหรณ์สำหรับผู้ป่วยโรคลมชักและสังคมไทยว่า ถึงเวลาแล้วหรือยังที่จะปรับเปลี่ยนแนวทางการทำใบอนุญาตขับขี่ ที่ควรเพิ่มการประเมินปัญหาสุขภาพสำหรับการขอใบอนุญาตขับขี่ เช่น โรคลมชักหรือยัง ซึ่งเหตุการณ์นี้เป็นที่มาของการเขียนบทความนี้ เพื่อให้ทุกคนเข้าใจเรื่อง “ชักไม่ขับ” ลองติดตามบทความนี้ดูครับ

ผู้ป่วยโรคลมชักมีโอกาสเกิดอุบัติเหตุจราจรสูงกว่าคนทั่วไปหรือไม่?

อุบัติเหตุจราจรกับโรคลมชัก

ผู้ป่วยโรคลมชักมีโอกาสเกิดอุบัติเหตุสูงกว่าคนทั่วไปประมาณ 7 เท่า เพราะผู้ป่วยโรคลมชักชนิดที่เป็นทั้งตัวหรือชนิดพฤติกรรมผิดปกติ จะไม่สามารถควบคุมยานพาหนะที่ใช้ได้

ผู้ป่วยโรคลมชักทุกคนมีโอกาสเกิดอุบัติเหตุจราจรเท่ากันหรือไม่?

ผู้ป่วยโรคลมชักแต่ละคนมีโอกาสการเกิดอุบัติเหตุจราจรแตกต่างกัน ผู้ป่วยที่มีการชัก ชนิดที่หมดสติหรือล้มลงกับพื้น ได้แก่ การชักชนิด Generalized tonic clonic seizures, Myoclonic seizures, Atonic seizures, และ Complex partial seizures มีโอกาสเกิดอุบัติเหตุได้บ่อย เพราะมีการสูญเสียการควบคุมสติ จึงส่งผลให้ไม่สามารถควบคุมรถได้ แต่ถ้าเป็นการชักเฉพาะส่วนของร่างกายและผู้ป่วยมีสติดี โอกาสเกิดอุบัติเหตุก็น้อยมาก

อะไรเป็นปัจจัยที่มีผลต่อการเกิดอุบัติเหตุจราจรในผู้ป่วยโรคลมชัก?

ปัจจัยที่มีผลต่อการเกิดอุบัติเหตุในผู้ป่วยโรคลมชักที่สำคัญ ได้แก่ ชนิดของการชัก ดังได้กล่าวแล้วในหัวข้อก่อนหน้านี้ และยังมีอีกหลายปัจจัยที่สำคัญเช่นกัน ได้แก่

  1. ความถี่ของการชัก ผู้ป่วยที่มีการชักมากกว่า 1 ครั้งต่อเดือน มีโอกาสเกิดอุบัติเหตุจากการชักได้สูง
  2. ผลข้างเคียงของยากันชัก ผลข้างเคียงจากยากันชักทำให้ผู้ป่วยมีอาการมือสั่น เดินเซ เห็นภาพซ้อน ทำให้ผู้ป่วยเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุต่างๆมากขึ้น
  3. ผู้ป่วยโรคลมชักที่ได้รับยากันชักมากกว่า 3 ชนิดขึ้นไป มีโอกาสเกิดอุบัติเหตุฯจากการชักได้สูง
  4. ระยะเวลาที่ไม่มีอาการชัก ถ้าไม่มีอาการชักติดต่อกันนานมากกว่า 6 เดือน โอกาสการเกิดอุบัติเหตุฯลดลงได้ 85% และถ้าไม่ชักติดต่อกันนานมากกว่า 12 เดือน โอกาสเกิดอุบัติเหตุลดลงได้ถึง 93%
  5. ผู้ป่วยที่มีช่วงอายุ 18 - 25 ปี มีโอกาสเกิดอุบัติเหตุทางจราจรสูงเป็น 3 - 4 เท่าของกลุ่มอายุอื่น
  6. เกิดจากเป็นการชักครั้งแรก พบเป็น 18% ของการเกิดอุบัติเหตุฯในผู้ป่วยโรคลมชัก
  7. ผู้ชายพบบ่อยกว่าผู้หญิง
  8. ประวัติอุบัติเหตุจากการชักก่อนหน้านี้ พบว่า 28% ของผู้ป่วยโรคลมชักเกิดอุบัติฯเหตุมากกว่า 1ครั้ง

สามารถทำนายได้ไหมว่า รายใดจะเกิดอุบัติเหตุจากการชัก?

สามารถทำนายได้ว่า ผู้ป่วยโรคลมชักรายใดจะเกิดอุบัติเหตุจากการชักหรือไม่ โดยประ เมินจากข้อมูลเฉพาะบุคคลของผู้ป่วย คือ อายุ, จำนวนยากันชักที่กินอยู่ทั้งชนิดและปริมาณ, ความถี่การชัก, การชักเป็นชนิด Generalized tonic clonic seizures, และมีการชักในช่วงกลาง วัน แล้วนำข้อมูลดังกล่าวมากรอกลงในเว็บ “ http://sribykku.webs.com (หัวข้อ Seizure related injury prediction)” ท่านก็จะทราบว่ามีโอกาสเกิดอุบัติเหตุมากน้อยแค่ไหน ซึ่งการทำ นายนี้จัดทำโดย นพ.สมศักดิ์ เทียมเก่าและคณะ ที่ได้พัฒนาเครื่องมือในการช่วยทำนายโอกาสการเกิดอุบัติเหตุจากการชัก โดยศึกษาในโรงพยาบาลระดับตติยภูมิทั้งในประเทศไทยและอัง กฤษ ซึ่งวิธีการนี้ ผ่านการทดสอบพบว่ามีความแม่นยำ กล่าวคือ มีความไว (Sensitivity) มากถึง 90.3% มีความเฉพาะ (Specificity) 46.7% และผลงานนี้ได้ตีพิมพ์ในวารสารทางการแพทย์นา นาชาติ Tiamkao S, Sawanyawisuth K, Asawavichienjinda T, et al. Predictive risk factors of seizure-relate injury in persons with epilepsy. Journal of the Neurological Sciences 2009;285:59-61.

ความรุนแรงอุบัติเหตุจราจรที่เกิดจากโรคลมชักต่างจากทั่วไปไหม?

โดยทั่วไปแล้ว การเกิดอุบัติเหตุจราจรในผู้ป่วยโรคลมชักจะมีความรุนแรงน้อยกว่าคนทั่วไป เพราะส่วนใหญ่จะมีความระมัดระวังอยู่แล้วและไม่ขับรถเร็ว

โอกาสการเกิดอุบัติเหตุจราจรในผู้ป่วยโรคลมชักคนไทยพบบ่อยไหม?

จากการศึกษาพบว่าผู้ป่วยโรคลมชักคนไทยเกือบ 75% ขับรถ, 30% เคยเกิดอาการชักขณะขับรถ, 60% ของการชักก่อให้เกิดอุบัติเหตุ, และ 20% ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล

หมายเหตุ: ผู้ป่วยโรคลมชัก 1 คน สามารถมีลักษณะดังกล่าวได้หลายลักษณะ

ชนิดของยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุบ่อยๆคือชนิดใด?

ชนิดของยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุจากผู้ป่วยโรคลมชัก โดยเกิดจากยานพาหนะชนิดรถจักรยานยนต์ 81.8%, จากรถยนต์ 25.0% และรถจักรยาน 6.8%

หมายเหตุ: ผู้ป่วยโรคลมชัก 1 คน ใช้ยานพาหนะมากกว่า 1 ชนิด

สามารถป้องกันไม่ให้เกิดอุบัติเหตุจราจรจากโรคลมชักได้หรือไม่?

การป้องกันอุบัติเหตุจราจรจากโรคลมชักสามารถทำได้ดังนี้

  1. รักษาโรคลมชักจนควบคุมโรคได้อย่างดี หลักการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคลมชัก นอกจากการรักษาด้วยยากันชักแล้ว แพทย์ผู้ดูแลจะแนะนำผู้ป่วยโรคลมชักทุกรายให้หลีกเลี่ยงกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดอุบัติเหตุ
  2. การให้ความรู้แก่ผู้ป่วยโรคลมชักและผู้ดูแล เกี่ยวกับการป้องกันอุบัติเหตุที่เกิดจากการชัก (อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง อุบัติเหตุที่เกิดจากโรคลมชัก)
  3. หลีกเลี่ยงยากันชักที่มีอาการข้างเคียง (ผลข้างเคียง) มาก เช่น มือสั่น ซึม เดินเซ เห็นภาพซ้อน เป็นต้น หากมีอาการดังกล่าวควรแจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบเพื่อปรับ เปลี่ยนการรักษาที่เหมาะสม
  4. ระหว่างที่มีการปรับเปลี่ยนขนาดของยา ผู้ป่วยไม่ควรขับรถ
  5. ควรทานยาที่แพทย์ที่ดูแลรักษาโรคลมชักสั่งสม่ำเสมอ ถ้าวันใดลืมทานยา ควรงดขับรถวันนั้น
  6. ผู้ป่วยที่มีอาการเตือนนำมาก่อนการชัก ควรหยุดรถทันทีที่มีอาการเตือนเกิดขึ้น ไม่ควรรีบขับรถเพื่อให้ถึงจุดหมายปลายทางเพราะจะเกิดอุบัติเหตุก่อนถึงได้
  7. ไม่ควรขับรถในที่ที่มีการจราจรติดขัดมาก และควรขับในช่องจราจรที่สามารถหยุดรถได้ทันที หรือขับในช่วงเวลาที่รถไม่มาก
  8. กรณีผู้ป่วยหญิงที่มีอาการชักในช่วงมีรอบประจำเดือนเป็นประจำ ไม่ควรขับรถในช่วงดังกล่าว
  9. ควรให้ข้อมูลที่เป็นจริงกับแพทย์ผู้รักษา เพื่อป้องกันอันตรายที่จะเกิดกับผู้อื่นและตนเอง10. พบแพทย์ตามนัดเสมอ เพราะแพทย์ต้องทำการประเมินผลการรักษาอย่างละเอียดถี่ถ้วน เพราะบางครั้งเพียงการสอบถามอาการว่ามีอาการชักหรือไม่ อาจไม่ทราบผลการรักษาโรคลมชักที่ถูกต้อง

ผู้ป่วยโรคลมชักควรหยุดขับรถนานเท่าใด?

หลังได้รับการรักษาและการกินยาอย่างถูกต้อง ผู้ป่วยโรคลมชักควรหยุดขับรถอย่างน้อย 3 ปีถ้ามีอาการชักเฉพาะกลางคืน แต่ถ้ามีอาการชักช่วงกลางวันควรควบคุมอาการชักให้ได้อย่างน้อย 1 ปีหลังจากการชักครั้งสุดท้าย แต่ถ้าเป็นรถโดยสารควรหยุดขับรถนาน 10 ปี หลังจากการชักครั้งสุดท้าย

ผู้ป่วยโรคลมชักคนไหนที่สามารถขับรถได้ปลอดภัย?

ผู้ป่วยโรคลมชักที่มีการชักเฉพาะส่วนของร่างกายและรู้สติดี 100% หรือผู้ป่วยที่ควบคุมการชักได้ดีอย่างน้อย 1 ปีสำหรับการขับรถส่วนตัว แต่ถ้าเป็นรถสาธารณะหรืออาชีพขับรถ ควรไม่มีอาการชักเลยอย่างน้อย 10 ปี หรือผู้ป่วยที่รักษาจนหายดีเป็นปกติ หยุดทานยากันชักแล้ว(โดยแพทย์เป็นผู้ประเมิน) ก็สามารถขับรถได้ตามปกติ อย่างไรก็ดี ก็ไม่ควรประมาทขับรถเร็ว หรือกลับไปดื่มแอลกอฮอล์ เพราะอาจทำให้มีอาการชักซ้ำได้เช่นกัน

ถ้าต้องขับรถ ผู้ป่วยลมชักควรปฏิบัติอย่างไร?

ผู้ป่วยโรคลมชักที่จำเป็นต้องขับรถ ควรปฏิบัติดังนี้ คือ

  • กรณีที่ยังต้องทานยากันชักอยู่ ต้องทานยาให้สม่ำเสมอ ห้ามขาดยาโดยเด็ดขาด ถ้าลืมทานยาก็ไม่ควรขับรถในวันนั้นหรือวันรุ่งขึ้น
  • ไม่ควรดื่มเหล้าหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
  • ไม่ควรขับรถเร็ว
  • ขับรถเฉพาะในช่องทางที่สามารถจอดรถได้ทันทีกรณีมีสัญญาณเตือนการชัก หรือรู้สึกผิดปกติ
  • ขับรถเท่าที่จำเป็น ไม่ควรขับรถเที่ยวเล่น
  • ไม่ควรอดนอน นอนดึก
  • ไม่ควรขับรถทางไกล

มีวิธีลดโอกาสเกิดการชักขณะขับรถไหม?

การปฏิบัติตัวที่ดี คือ ต้องไม่ลืมทานยากันชัก ถ้าลืมไม่ควรขับรถ ไม่เครียด ไม่อดนอน ไม่นอนดึก ขับรถไม่เร็ว ไม่ขับทางไกล ไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

กฎหมายห้ามผู้ป่วยโรคลมชักขับรถ จะช่วยลดการเกิดอุบัติจราจรได้ไหม?

การออกกฎหมายห้ามผู้ป่วยโรคลมชักขับรถ ก็ดูเหมือนจะดี แต่ก็อาจเกิดปัญหาได้ เพราะในการบอกว่าใครเป็นโรคมชักหรือไม่นั้นไม่ง่ายในการบอก ถ้าผู้ป่วยไปพบแพทย์แล้วบอกว่าปกติ ก็จะได้ใบรับรองแพทย์เพื่อนำไปทำใบอนุญาตขับขี่ ทั้งที่จริงแล้วเป็นผู้ป่วยโรคลมชัก เพราะแพทย์ที่ไม่เคยดูแลผู้ป่วยรายนั้นจะไม่สามารถบอกได้เลยว่า คนๆนั้นเป็นโรคลม ชักหรือไม่

ทางออกที่ดีคือ การเชื่อมโยงฐานข้อมูลการวินิจฉัยโรคของแพทย์จากทุกๆโรงพยาบาลในประเทศไทย ไปเชื่อมต่อกับฐานข้อมูลของกรมขนส่งทางบก เมื่อมีผู้ป่วยโรคลมชักไปทำการขอใบอนุญาตขับขี่ ก็จะทราบว่าเคยถูกวินิจฉัยว่าเป็นโรคลมชัก ต้องแนะนำให้คนเหล่านั้นกลับ มาพบแพทย์ที่โรงพยาบาลนั้น เพื่อให้แพทย์ได้ประเมินว่าสามารถขับรถได้หรือยัง ซึ่งเกณฑ์การพิจารณานั้นก็ขึ้นกับแนวทางที่ผู้เกี่ยวข้องต้องพิจารณาร่วมกัน

มีแนวทางใดอีกบ้างเพื่อลดอุบัติเหตุจราจรในผู้ป่วยโรคลมชัก?

การสร้างจิตสำนึกให้ผู้ป่วยและครอบครัวมีความเข้าใจว่า ตนเองนั้นต้องไม่ขับรถ และครอบครัวก็ต้องคอยห้ามและช่วยเหลือในการเดินทาง เพื่อให้ผู้ป่วยโรคลมชักสามารถไปไหนมาไหนได้ โดยไม่ลำบาก เมื่อผู้ป่วยสามารถไปไหนมาไหนได้ ก็คงลดหรือหยุดการขับรถได้ ก็จะไม่เกิดอุบัติเหตุขึ้น

การออกกฎหมายเพียงอย่างเดียว โดยไม่สร้างจิตสำนึกของผู้ป่วย ครอบครัว และของคนในสังคมไทย ก็ไม่สามารถลดการเกิดอุบัติเหตุลงได้ ดังนั้นพวกเราชาวไทยทุกคนต้องร่วมกันรณรงค์ “ชักไม่ขับ”