อีโบลา (Ebola virus disease)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

โรคอีโบลา หรือโรคติดเชื้อไวรัสอีโบลา หรือโรคอีวีดี (Ebola หรือ Ebola virus disease ย่อว่า EVD หรือ Ebola virus infection หรือ Ebola hemorrhagic fever ย่อว่า EHF) เป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสอีโบลา (Ebola virus) ซึ่งอยู่ในกลุ่มไวรัส วงศ์ (Family) Filovirus ซึ่งเป็นไว รัสชนิดที่รุนแรงมาก ที่มักทำให้ผู้ติดเชื้อเสียชีวิต

โรคอีโบลา มักพบเกิดในประเทศแอฟริกา เช่น ซูดาน คองโก โดย ‘อีโบลา’ เป็นชื่อแม่น้ำสายที่ไหลผ่านหมู่บ้านที่เกิดโรคนี้ที่อยู่ทางเหนือของประเทศคองโก แต่มีรายงานพบเชื้อไวรัสอีโบลาในจีนและฟิลิปปินส์ ที่เป็นคนละสายพันธุ์ย่อย (Species) กับที่เกิดการระบาดในแอฟริกา ซึ่งสายพันธุ์ที่พบในเอเชียนี้ ยังไม่มีรายงานว่าทำให้ผู้ติดเชื้อเสียชีวิต

โรคอีโบลา มักพบเกิดกับผู้ใหญ่และผู้สูงอายุ ไม่ค่อยพบในเด็ก โดยเฉพาะในเด็กเล็ก พบโรคได้ทั้งในผู้หญิงและในผู้ชายในอัตราส่วนใกล้เคียงกัน

อีโบลา เป็นโรคพบระบาดอยู่ในแอฟริกา โดยเชื่อว่ามีสัตว์ป่าที่สำคัญ คือ ลิงชนิดต่างๆและค้างคาวชนิดกินผลไม้เป็นพาหะโรคที่สำคัญ (พบในสัตว์อื่นได้อีก เช่น ละมั่ง เม่น สุนัข หมู) แล้วคนไปกินสัตว์ที่ติดโรค หรือสัมผัสสัตว์ที่ติดโรค ไวรัสจึงติดต่อเข้าสู่คนและก่อให้เกิดโรคนี้ขึ้น

โรคอีโบลาเกิดจากอะไร?

โรคทางเดินอาหาร

โรคอีโบลา เกิดจากคนติดเชื้อไวรัสอีโบลา (Ebola virus) ซึ่งมี 5 สายพันธุ์ย่อยที่สามารถติดต่อในคน ได้แก่

1. สายพันธุ์ย่อย Bundibugyo ebolavirus (BDBV)

2. สายพันธุ์ย่อย Zaire ebolavirus (EBOV)

3. สายพันธุ์ย่อย Sudan ebolavirus (SUDV)

4. สายพันธุ์ย่อย Reston ebolavirus (RESTV)

5. สายพันธุ์ย่อย Tai Forest ebolavirus (TAFV)

ทั้งนี้ สายพันธุ์ในข้อ 1 - 3 เป็นสายพันธุ์ที่รุนแรงที่ก่อการระบาดในแอฟริกา ส่วนอีก 2 สายพันธุ์ที่เหลือยังไม่พบว่าก่อให้เกิดการระบาด และสายพันธุ์ RESTV เป็นสายพันธุ์ที่พบในจีนและฟิลิปปินส์ ที่ยังไม่เคยก่อการระบาด และยังไม่เคยมีรายงานเป็นเหตุให้เสียชีวิต

โรคอีโบลาติดต่อได้อย่างไร?

โรคอีโบลา สามารถติดต่อได้จาก 2 ทางคือ

ก. ติดต่อจากสัตว์ โดยการสัมผัส ตัวสัตว์ สารคัดหลั่งของสัตว์ และ/หรือ กินสัตว์ที่เป็นพาหะโรคนี้ (ดังได้กล่าวแล้วในบทนำ)

ข. ติดต่อจากคนสู่คน โดยการคลุกคลีใกล้ชิดสัมผัสสารคัดหลั่ง (ที่รวมถึง น้ำอสุจิ และน้ำจากช่องคลอด) ของคนที่ติดเชื้อโรคนี้ (และเชื่อว่า การติดต่ออาจเกิดได้จากการ ไอ จาม หัวเราะซึ่งละอองน้ำลายมีขนาดใหญ่ แต่ยังไม่มีรายงานการติดต่อทางการหายใจ) ซึ่งการติด ต่อจากคนสู่คนนี้ เป็นวิธีการที่ทำให้เกิดการระบาดได้อย่างกว้างขวางจากโรคนี้สามารถติดต่อ กันได้ง่ายและอย่างรวดเร็ว โดยที่ร่างกายไม่สามารถสร้างภูมิคุ้มกันต้านทานโรคนี้ได้

ทั้งนี้ เมื่อเชื้ออีโบลาเข้าสู่ร่างกาย เชื้อจะแบ่งตัวเพิ่มปริมาณอย่างรวดเร็วมหาศาล และแพร่ กระจายทางเลือดไปสู่ทุกเซลล์ทุกอวัยวะในร่างกายโดยเฉพาะเยื่อเมือกต่างๆและตับ รวมทั้งจะสร้างสารที่เรียกว่า Cytokine หลายชนิดที่ส่งผลให้เซลล์ต่างๆทุกอวัยวะเกิดการอักเสบอย่างรุน แรง ส่งผลให้มี ไข้สูง บวมทั้งตัว รวมทั้งร่างกายสูญเสียการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันต้านทานโรค การติดเชื้อจึงยิ่งรุนแรงขึ้น อวัยวะต่างๆจึงเกิดการล้มเหลว เช่น ตับ ไต ปอด ม้าม ซึ่งการสูญเสียการทำงานของตับที่สร้างฮอร์โมนช่วยการแข็งตัวของเลือด เมื่อสูญเสียไป จึงเกิดภาวะเลือดออกในอวัยวะต่างๆร่วมด้วย ทั้งหมดจึงเป็นสาเหตุให้ผู้ป่วยเสียชีวิต ในที่สุด ซึ่งโดยทั่วไป ช่วงระยะเวลาการดำเนินโรค (Course of disease) จะประมาณ 14 - 21 วัน

โรคอีโบลามีอาการอย่างไร?

โดยทั่วไประยะฟักตัวของโรคอีโบลาจะประมาณ 2 - 21 วัน โดยอาการจะคล้ายคลึงกับโรคติดเชื้อได้หลายโรค เช่น โรคไข้จับสั่น โรคไข้เลือดออก โรคไทฟอยด์ และ/หรือ การติดเชื้อในกระแสโลหิต (ภาวะพิษเหตุติดเชื้อ) โดยอาการที่พบบ่อย เช่น

  • ไข้สูงเฉียบพลัน
  • หนาวสั่น
  • อ่อนเพลียมาก
  • เจ็บคอ
  • ปวดศีรษะมาก
  • ปวดเนื้อตัวมาก
  • ระยะต่อจากนั้นจะมี
    • คลื่นไส้ อาเจียน
    • ท้องเสีย
    • บวมทั่วตัว
    • มีเลือดออกตามอวัยวะต่างๆ (เช่น ตา หู จมูก)
    • ขึ้นผื่นเลือดออกที่ผิวหนังทั่วตัว
    • ช็อก โคม่า
    • และเสียชีวิตในที่สุด ซึ่งระยะเวลาตั้งแต่มีอาการจนถึงเสียชีวิต (การดำเนินโรค) จะประมาณ 14 - 21 วัน

ควรพบแพทย์เมื่อใด?

ควรรีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลเสมอ เมื่อ

  • มีอาการดังกล่าวใน ‘หัวข้อ อาการฯ’
  • มีอาการไข้สูงหลังเดินทางไปในถิ่นที่เป็นแหล่งเกิดโรคอีโบลา
  • มีไข้สูงหลังจากมีการเดินทางไปยังประเทศต่างๆ
  • มีไข้สูงหลังสัมผัสผู้ป่วยโรคต่างๆ

แพทย์วินิจฉัยโรคอีโบลาได้อย่างไร?

การวินิจฉัยโรคอีโบลาที่สำคัญที่สุด คือ จากประวัติการสัมผัสโรค (เพราะการย้อมเชื้อต่างๆจะใช้เวลานาน รวมไปถึงการตรวจเลือดทางด้านภูมิต้านทาน/ภูมิคุ้มกันโรคด้วย ที่จะมีข้อจำกัดทางเทคโนโลยี ทำให้ไม่สามารถตรวจได้ในเวลารวดเร็ว) นอกจากนั้น คือ

  • การตรวจร่างกาย
  • การตรวจเลือดดูสารภูมิต้านทานและดูสารก่อภูมิต้านทานสำหรับโรคนี้ เช่น Elisa antibody capture enzyme linked immunosorbent assay, Serum neutralization test, Reverse transcriptase polymerase chain reaction (RT-PCR) assay
  • การตรวจสารคัดหลั่งเพื่อหาเชื้อด้วยกล้องจุลทรรศน์ชนิดอีเล็กตรอน (Electron microscopy)
  • และ/หรือ การเพาะเชื้อจากสารคัดหลั่งของผู้ป่วย

รักษาโรคอีโบลาอย่างไร?

ปัจจุบัน ยังไม่มีตัวยาที่ใช้รักษาโรคอีโบลา (ยาฆ่า/ยาต้านไวรัส) ดังนั้นการรักษา จึงเป็นการรักษาประคับประคองตามอาการ แต่เนื่องจากเป็นโรคที่รุนแรง การรักษาจึงเป็นการรักษาในโรงพยาบาล (มีการแยกผู้ป่วย) เช่น

  • การให้สารน้ำทางหลอดเลือดดำ
  • การให้ออกซิเจน
  • การให้ยาตามอาการ เช่น ยาแก้ปวด ยาลดไข้ เป็นต้น

โรคอีโบลามีผลข้างเคียงอย่างไร?

ผลข้างเคียงจากโรคอีโบลา คือ การล้มเหลวของอวัยวะสำคัญต่างๆ เช่น ตับ ไต ปอด ที่ส่งผลให้เสียชีวิตได้ในที่สุด

ส่วนผู้รอดชีวิต มักไม่สามารถกลับมาแข็งแรงได้เหมือนเดิม ยังคงมีร่างกายที่อ่อนเพลีย และการรับความรู้สึกสัมผัสต่างๆมักลดน้อยลง

โรคอีโบลามีการพยากรณ์โรคอย่างไร?

โดยทั่วไป โรคอีโบลา เป็นโรคที่มีการพยากรณ์โรคที่เลว

  • อัตราการเสียชีวิตประมาณ 30 - 90% ขึ้นกับชนิดของเชื้อ
  • โดยถ้าเป็นเชื้อที่ทำให้เกิดการระบาด อัตราเสียชีวิตมักสูงถึง 90 -95%
  • และผู้ที่รอดชีวิต สามารถติดเชื้อได้ใหม่ เพราะร่างกายไม่สามารถสร้างภูมิคุ้มกันต้านทานโรคนี้ได้

ดูแลตนเองอย่างไร? ควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไร?

การดูแลตนเอง เมื่อรอดชีวิตจากโรคนี้ คือ

  • การรักษาสุขภาพอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ)
  • การกินอาหารมีประโยชน์ห้าหมู่
  • การออกกำลังกายสม่ำเสมอทุกวันตามควรกับสุขภาพ
  • การป้องกันไม่ให้ตนเองกลับไปสัมผัสโรคนี้อีก ตามแพทย์ พบาบาล เจ้าหน้าที่สาธารณสุข
  • การพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามแพทย์นัด
  • การพบแพทย์/มาโรงพยาบาลก่อนนัด: ในผู้ที่รอดชีวิตและกลับบ้านแล้ว ควรพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลก่อนนัดเสมอ เมื่อ
    • มีอาการต่างๆดังกล่าวใน ‘หัวข้ออาการฯ’ กลับมาใหม่
    • หรืออาการต่างๆที่มีอยู่ ผิดปกติไปจากเดิม
    • หรือเมื่อกังวลในอาการ

ป้องกันโรคอีโบลาอย่างไร?

การป้องกันโรคอีโบลา ที่สำคัญที่สุดขึ้นกับพฤติกรรมของเราเอง ที่สำคัญคือ การหลีกเลี่ยงการติดต่อจากสัตว์ และหลีกเลี่ยงการติดต่อระหว่างคนสู่คน

ก. การหลีกเลี่ยงการติดต่อจากสัตว์: เช่น

  • ไม่กินสัตว์ที่อาจเป็นพาหะโรค โดยเฉพาะปรุงไม่สุกทั่วถึง
  • ไม่เข้าไปในถิ่นที่มีสัตว์ที่เป็นพาหะโรคอาศัยอยู่
  • ไม่สัมผัสสารคัดหลั่ง และ/หรือ ซากสัตว์ต่างๆ
  • นอกจากนั้น
    • เมื่อพบสัตว์ตายหรือซากสัตว์ตาย ที่ไม่ทราบสาเหตุ หรือที่สงสัยการตายจากติดโรคต่างๆ ต้องรีบแจ้งเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องให้มาดูแลเสมอ เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรค

ข. ส่วนการหลีกเลี่ยงการติดต่อจากคนสู่คน: เช่น

  • หลีกเลี่ยงการคลุกคลีใกล้ชิดผู้ป่วย
  • ถ้าต้องดูแลผู้ป่วย เช่น คนในครอบครัว หรือเมื่อเป็นเจ้าหน้าที่สาธารณสุข หรือเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่ศึกษาโรคนี้ ต้อง’เคร่งครัดในการรักษากฎระเบียบข้อปฏิบัติต่างๆในการดูแลผู้ป่วยและในการดูแลตนเอง’ เช่น
    • ความสะอาดของเสื้อผ้า ปลอกหมอน ผ้าปูที่นอน ที่นอน ผ้าเช็ดหน้า ผ้าเช็ดตัว เครื่องใช้ส่วนตัวต่างๆ
    • การใช้ถุงมือเสมอ
    • การใช้หน้ากากอนามัย
    • การล้างมือให้สะอาดบ่อยๆเสมอ และทุกครั้งหลังการดูแลผู้ป่วย
    • การรักษาความสะอาด จาน ชาม ช้อน แก้วน้ำ
    • การดูแลสารคัดหลั่งของผู้ป่วย ที่รวมถึง เหงื่อ แผล น้ำมูก น้ำลาย อา เจียน การไอ จาม ปัสสาวะ และอุจจาระผู้ป่วย

ค. การมีเพศสัมพันธ์ในผู้ป่วยที่หายจากโรคแล้ว: โรคนี้ยังไม่ทราบแน่ชัดว่าเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้หรือไม่ แต่จากการที่พบเชื้อไวรัสนี้ได้ในเลือดและในสารคัดหลัง(ที่รวมถึงน้ำอสุจิ หรือ น้ำหล่อเลี้ยงช่องคลอด)ของผู้ป่วย ในทางทฤษฎี โรคนี้จึงน่าติดต่อได้จากการมีเพศสัมพันธ์

ทั้งนี้ องค์การอนามัยโรคได้แนะนำหลักในการมีเพศสัมพันธ์ของผู้ป่วยที่หายจากอีโบลา ดังนี้

  • ห้ามมี้เพศสัมพันธ์ช่วงเกิดโรค หรือเพิ่งหายจากโรค
  • หลังหายจากโรค การมีเพศสัมพันธ์ต้องได้รับการอนุญาติจากแพทย์ที่รักษาก่อน
  • โดยผู้จะมีเพศสัมพันธ์ได้ การตรวจเลือดต้องไม่พบเชื้อไวรัสนี้ในเลือด
    • หลังหายจากโรคนี้ แพทย์จะตรวจเลือดหาเชื้อไวรัสนี้ที่3 เดือนนับจากการติด โรค
    • ถ้ายังพบไวรัสนี้ในเลือด แพทย์จะตรวจเลือดซ้ำทุกเดือนจนกว่า จะไม่พบเชื้อ ไวรัส
    • เมื่อตรวจไม่พบเชื้อไวรัสในเลือดแล้ว แพทย์จะตรวจซ้ำเพื่อยืนยันอีกครั้งในเวลา 1สัปดาห์หลังตรวจไม่พบเชื้อไวรัส
    • เมื่อตรวจเลือดไม่พบเชื้อไวรัส2ครั้งติดต่อกัน แพทย์จึงจะอนุญาตให้มีเพศสัมพันธ์ได้ ‘โดยฝ่ายชายต้องใช้ถุงยางอนามัยชายเสมอ’

ง. วัคซีน: ปัจจุบันมีวัคซีนป้องกันโรคอีโบลาสายพันธ์ย่อย คือ Zaire ebolavirus แต่วัคซีนนี้ถึงจะมีการนำมาใช้ทางคลินิกแล้ว แต่ก็ยังอยู่ในขั้นตอนการศึกษาถึงประสิทธิภาพและโทษ จึงยังไม่มีการยอมรับให้ใช้ในคนทั่วไปและในภาวะทั่วไป แต่ยอมรับให้ใช้ในกรณีมีการระบาดของอีโบลาที่มีแนวโน้มว่า การระบาดจะเป็นวงกว้างและการแพทย์ควบคุมการระบาดให้อยู่ในวงจำกัดไม่ได้

บรรณานุกรม

  1. Sullivan,N. et al. (2003). J virol. 77, 9733-9737.
  2. Baize,S. et al.(2014). N Eng J Med. 371:1418-1425
  3. https://www.who.int/en/news-room/fact-sheets/detail/ebola-virus-disease [2019Jan19]
  4. https://www.cdc.gov/vhf/ebola/clinicians/index.html [2019Jan19]
  5. https://emedicine.medscape.com/article/216288-overview#showall [2019Jan19]
  6. https://en.wikipedia.org/wiki/Ebola_virus_disease [2019Jan19]
  7. https://www.who.int/ebola/drc-2018/faq-vaccine/en/ [2019Jan19]