อีแทมบูทอล (Ethambutol)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาอีแทมบูทอล (Ethambutol) เป็นยาที่ออกฤทธิ์ยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุของวัณโรค ปกติจะใช้ร่วมกับยาวัณโรคอีก 3 ตัว คือ Isoniazid , Rifampicin, และ Pyrazinamide, การใช้ยานี้กับผู้ป่วยอาจก่อปัญหาเรื่อง การมองเห็นภาพ, ตับทำงานผิดปกติ/ตับอักเสบ, รวมถึงอาการแพ้, และผลข้างเคียงจากยาที่ติดตามมา

หลังรับประทาน ยาอีแทมบูทอลจะถูกดูดซึมได้ดีจากระบบทางเดินอาหาร และจะเข้ารวมตัวกับพลาสมาโปรตีนในปริมาณ 20 - 30% ตับจะเป็นตัวเปลี่ยนโครงสร้างของยานี้ และร่างกายต้องใช้เวลา 3 - 4 ชั่วโมงในการกำจัดยานี้ออกจากกระแสเลือด 50% โดยผ่านไปกับปัสสาวะ

องค์การอนามัยโลกจัดให้ยาอีแทมบูทอลเป็นยาจำเป็นในระบบสาธารณสุขขั้นมูลฐาน โดยคณะกรรมการอาหารและยาของไทยได้บรรจุยาอีแทมบูทอลลงในบัญชียาหลักแห่งชาติในหมวด ยาอันตราย การใช้ยานี้ของผู้ป่วยจึงต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ผู้ทำการรักษาเท่านั้น

ยาอีแทมบูทอลมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?

อีแทมบูทอล

ยาอีแทมบูทอลมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้:

  • ใช้รักษาวัณโรคที่มีสาเหตุจากเชื้อวัณโรคชนิด Mycobacterium avium complex และชนิด Mycobacterium kansasii

ยาอีแทมบูทอลมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

กลไกการออกฤทธิ์ของยาอีแทมบูทอลคือ ตัวยาจะออกฤทธิ์ยับยั้งการเติบโตของเชื้อ วัณโรค โดยขัดขวางการสร้างผนังเซลล์ของเชื้อวัณโรค ทำให้เกิดการชะลอและหยุดการแพร่พันธุ์ในที่สุด

ยาอีแทมบูทอลมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาอีแทมบูทอลมีรูปแบบการจัดจำหน่าย:

  • ยาเม็ด ขนาด 400 และ 500 มิลลิกรัม/เม็ด
  • ยาผสมชนิดเม็ด ขนาด 275 มิลลิกรัม

ยาอีแทมบูทอลมีขนาดรับประทานอย่างไร?

ยาอีแทมบูทอลมีขนาดรับประทาน เช่น

ก. ผู้ใหญ่:

  • ขนาดรับประทานเริ่มต้น 15 กรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วัน เป็นเวลา 8 สัปดาห์ โดยให้พร้อมกับยา Isoniazid ,Rifampicin, และ Pyrazinamide
  • สำหรับผู้ป่วยที่มีประวัติติดเชื้อวัณโรคมาก่อน ให้เริ่มต้นด้วยรับประทานยา 25 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วัน เป็นเวลา 60 วัน หลังจากนั้นลดขนาดรับประทานเหลือ 15 มิลลิ กรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วัน

ข. เด็ก (นิยามคำว่าเด็ก):

  • สำหรับภาวะที่มีเชื้อวัณโรคที่ดื้อยาให้รับประทาน 15 - 25 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วัน
  • ทารกแรกเกิดจนถึงอายุมากกว่า 1 เดือน: รับประทาน 15 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วัน

อนึ่ง:

  • ควรรับประทานยานี้พร้อมอาหาร
  • ระยะเวลาในการรับประทานยานี้ขึ้นกับคำแนะนำของแพทย์

*****หมายเหตุ: ขนาดยา และระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ผู้รักษาได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษา แพทย์ หรือเภสัชกร ก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาอีแทมบูทอล ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกร เช่น

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจ ลำบาก/ หอบเหนื่อย
  • มีโรคประจำตัวต่างๆรวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาอีแทมบูทอลอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาอีแทมบูทอล สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า

ยาอีแทมบูทอลมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาอีแทมบูทอลสามารถก่อให้เกิดผล/อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) เช่น

  • อาจทำให้การมองเห็นภาพผิดปกติ
  • มีภาวะเลือดออกในจอตา
  • ทำให้ไตทำงานผิดปกติ
  • ระคายเคืองต่อระบบทางเดินอาหาร
  • คลื่นไส้- อาเจียน
  • ปวดท้อง
  • เบื่ออาหาร
  • มีผื่นคัน
  • ปวดหัว
  • วิงเวียน
  • สับสน
  • ประสาทหลอน
  • ตัวเหลือง ตาเหลือง

มีข้อควรระวังการใช้ยาอีแทมบูทอลอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาอีแทมบูทอล เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยาอีแทมบูทอล
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ที่มีประสาทตาอักเสบ
  • ห้ามใช้ยานี้กับหญิงที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร
  • ระวังการใช้ยานี้กับ หญิงตั้งครรภ์ ผู้สูงอายุ เด็ก
  • ระวังเรื่องการมองเห็นใน ผู้ป่วยต้อกระจก ผู้ป่วยเบาหวาน
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาอีแทมบูทอลด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยา ทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยา ทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

ยาอีแทมบูทอลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาอีแทมบูทอลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • การใช้ยาอีแทมบูทอลร่วมกับยาลดกรด เช่นยา Aluminium hydroxide อาจทำให้การดูดซึมยาอีแทมบูทอลลดลง หากต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะปรับเปลี่ยนขนาดหรือเวลาของการรับประทานให้เหมาะสมต่อคนไข้เป็นรายบุคคลไป
  • การใช้ยาอีแทมบูทอล ร่วมกับ ยาวัณโรคชนิดอื่น จะเกิดการเสริมฤทธิ์ของการรักษา โดยขนาดรับประทานต้องเป็นไปตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด

ควรเก็บรักษายาอีแทมบูทอลอย่างไร?

ควรเก็บยาอีแทมบูทอล เช่น

  • เก็บยาที่อุณหภูมิระหว่าง 20 - 25 องศาเซลเซียส (Celsius)
  • เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด และความชื้น
  • เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง และ
  • ไม่ควรเก็บยาในห้องน้ำ

ยาอีแทมบูทอลมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาอีแทมบูทอลที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้าอื่นและบริษัทผู้ผลิต เช่น

ชื่อการค้า บริษัทผู้ผลิต
A.T.B. (เอ.ที.บี.) BJ Benjaosoth
Etham (อีแทม) Pond’s Chemical
Ethambutol GPO (อีแทมบูทอล จีพีโอ) GPO
Ethbutol (เอทบูทอล) Pharmasant Lab
Lambutol (แลมบูทอล) Atlantic Lab
Rifafour e-275 (ริฟาโฟร์ อี-275) sanofi-aventis
Tibitab (ทิบิแทป) T.O. Chemicals
Tobutol (โทบูทอล) General Drugs House

บรรณานุกรม

1 http://en.wikipedia.org/wiki/Ethambutol [2020,Aug29]
2 http://www.mims.com/Captcha/DefaultCaptcha?returnUrl=http%3a%2f%2fwww.mims.com%2fUSA%2fdrug%2finfo%2fethambutol%2f%3ftype%3dfull%26mtype%3dgeneric#Dosage [2020,Aug29]
3 http://www.mims.com/Thailand/drug/search/?q=ethambutol[2020,Aug29]