อีพิรูบิซิน (Epirubicin)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาอีพิรูบิซิน(Epirubicin) เป็นยาเคมีบำบัดประเภทแอนทราไซคลีน(Anthracycline) ซึ่งสกัดได้จากจุลินชีพที่อาศัยในดินสกุล Streptomyces ทางคลินิกใช้เป็นยารักษามะเร็งชนิดต่างๆ เช่น มะเร็งเต้านม ในต่างประเทศอาจจะนิยมใช้ยาอีพิรูบิซินมากกว่ายาด็อกโซรูบิซิน(Doxorubicin) ด้วยมีผลข้างเคียงที่น้อยกว่า

เภสัชภัณฑ์ของยาอีพิรูบิซิน เป็นแบบยาฉีดเข้าหลอดเลือดดำ หรือ เจือจางเป็นสารละลายแล้วถ่ายใส่กระเพาะปัสสาวะโดยผ่านทางสายสวนปัสสาวะเพื่อรักษามะเร็งกระเพาะปัสสาวะก็ได้

ตัวอีพิรูบิซินในกระแสเลือดสามารถกระจายเข้าสู่อวัยวะต่างๆของร่างกาย และจะถูกทำลายโครงสร้างทางเคมีที่ตับ ร่างกายต้องใช้เวลานานประมาณ 30-40 ชั่วโมงเพื่อกำจัดยานี้ออกจากกระแสเลือด โดยผ่านทิ้งไปกับอุจจาระ

ยาอีพิรูบิซินมีการออกฤทธิ์ยับยั้งการสังเคราะห์สารพันธุกรรม(DNA)ของเซลล์มะเร็งทำให้เซลล์มะเร็งชะลอการเจริญเติบโตและหยุดการแพร่กระจายในที่สุด

ผู้ได้รับยาอีพิรูบิซินอาจพบอาการข้างเคียง(ผลข้างเคียง)ที่เกิดขึ้นได้บ่อยๆ เช่น

  • เจ็บ/ปวดบริเวณที่ได้รับการฉีดยา ซึ่งสามารถบรรเทาอาการปวดด้วยการประคบเย็น
  • ผู้ป่วยจะมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน หรืออาจพบเลือดปนในปัสสาวะ/ปัสสาวะเป็นเลือด
  • หลังได้รับยานี้ไปแล้วประมาณ 2 สัปดาห์ จำนวนเม็ดเลือดและเกล็ดเลือดจะลดลงชั่วคราว ทำให้ผู้ป่วยมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อโรคประเภทต่างๆ อาจมีภาวะโลหิตจางและมีภาวะเลือดออกง่าย อาการเหล่านี้จะดีขึ้นและกลับมาเป็นปกติเมื่อหยุดใช้ยานี้
  • ผู้ป่วยหลายรายจะประสบอาการผมร่วงหลังให้ยานี้ไปแล้ว 1-2 สัปดาห์ โดยร่วงเป็นหย่อมๆหรือร่วงทั้งศีรษะก็ได้ อย่างไรก็ตามเส้นผมของผู้ป่วยสามารถงอกขึ้นมาใหม่ และยาวได้เหมือนปกติเมื่อหมดฤทธิ์ของยานี้
  • กรณีผู้ป่วยได้รับการฉายรังสีรักษาและได้รับอีพิรูบิซินร่วมด้วย อาจทำให้เกิดผิวคล้ำขึ้นในบริเวณที่ฉายรังสีรักษา
  • *สำหรับผู้ป่วยที่ได้รับการให้ยาอีพิรูบิซินแล้วมีอาการดังต่อไปนี้ ควรต้องถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลเพื่อให้แพทย์ช่วยเหลือภายใน 24 ชั่วโมง
  • มีไข้สูง 38 องศาเซลเซียส(Celsius)
  • เกิดแผลพุพองขึ้นบริเวณที่ได้รับการฉีดยา
  • หายใจลำบาก ใบหน้าบวม และมีผื่นคันขึ้นตามร่างกาย
  • คลื่นไส้อาเจียนบ่อยๆและอาการไม่ดีขึ้นเลย
  • เกิดแผลในช่องปากร่วมกับมีอาการปวดแสบ-ปวดร้อน
  • ท้องเสีย 4–6 ครั้งอย่างต่อเนื่องภายใน 24 ชั่วโมง
  • เกิดภาวะเลือดออกง่ายตามร่างกาย
  • ถ่ายอุจจาระมีสีคล้ำหรือดำซึ่งแสดงถึงมีภาวะเลือดออกในทางเดินอาหาร
  • เคืองตาหรือมีตาแดง

อนึ่ง คณะกรรมการอาหารและยาได้ระบุให้อีพิรูบิซินเป็นยาควบคุมพิเศษและยาอันตรายที่ต้องใช้ภายใต้การดูแลของแพทย์ และจะพบเห็นการใช้ยานี้แต่ในสถานพยาบาลเท่านั้น

อีพิรูบิซินมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?

อีพิรูบิซิน

ยาอีพิรูบิซินมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้เพื่อ

  • ใช้รักษาโรคมะเร็งชนิดต่างๆ เช่น มะเร็งเต้านม มะเร็งเม็ดเลือดขาว มะเร็งต่อมน้ำเหลือง มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ

อีพิรูบิซินมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

กลไกการออกฤทธิ์ชองยาอีพิรูบิซินคือ ตัวยามีคุณสมบัติเป็นพิษต่อเซลล์ของสิ่งมีชีวิตและเซลล์มะเร็ง โดยตัวยาจะเข้าสอดแทรกหรือแทรกแซงการจับคู่ของหน่วยย่อยบนสารพันธุกรรม DNA และ RNA ในเซลล์มะเร็งที่เรียกว่า Nucleobases ส่งผลให้เซลล์มะเร็งหมดสภาพในการจำลองสารพันธุกรรมรุ่นใหม่ เป็นเหตุให้เซลล์หยุดการเจริญเติบโต ไม่สามารถแพร่กระจายและฝ่อตัวตายลง

อีพิรูบิซินมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาอีพิรูบิซินมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น

  • ยาฉีดที่ประกอบด้วยตัวยาEpirubicin ขนาด 50 มิลลิกรัม/25 มิลลิลิตร และ 200 มิลลิกรัม/100 มิลลิลิตร

อีพิรูบิซินมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?

ยาอีพิรูบิซินมีขนาดการบริหารยา/ใช้ยา ดังนี้

  • ผู้ใหญ่: ขนาดการใช้ยานี้เพื่อรักษาโรคมะเร็งที่แพทย์ใช้กับผู้ป่วย จะคำนวณจากพื้นที่ผิวของร่างกายผู้ป่วยมาเป็นเกณฑ์อ้างอิง แพทย์จะให้ยานี้กับผู้ป่วยผ่านทางหลอดเลือดดำ ยารักษามะเร็งส่วนมากที่รวมถึง ยาอีพิรูบิซิน จะเข้าทำลายเซลล์มะเร็ง และก่อให้เกิดผลกระทบ(ผลข้างเคียง)ต่อเซลล์ปกติของร่างกายด้วยเช่นกัน เพื่อหลีกเลี่ยงผลข้างเคียงต่างๆ แพทย์จำเป็นต้องให้ยานี้เป็นระยะๆหรือแบ่งเป็นรอบของการรักษา ทั้งนี้เพื่อให้ร่างกายผู้ป่วยมีโอกาสฟื้นสภาพหลังจากได้รับยาอีพิรูบิซินไปแล้ว ผู้ป่วยจึงควรให้ความร่วมมือมารับการให้ยานี้ตามที่แพทย์นัดหมายทุกครั้ง
  • เด็ก: ทางคลินิก ยังไม่มีข้อมูลด้านความปลอดภัยและขนาดยานี้ในเด็ก

*****หมายเหตุ:

  • สำหรับการรักษามะเร็งกระเพาะปัสสาวะ แพทย์อาจใช้วิธีปล่อยยาอีพิรูบิซินที่เตรียมเป็นสารละลายผ่านสายสวนเข้าไปในกระเพาะปัสสาวะ แล้วทิ้งค้างไว้ประมาณ 1 ชั่วโมง จากนั้นจึงทำการถ่ายยาออกจากกระเพาะปัสสาวะ แต่วิธีการนี้ไม่สามารถใช้กับมะเร็งกระเพาะปัสสาวะในระยะลุกลามที่เซลล์มะเร็งได้แทรกซึมหรือแพร่กระจายเข้าในผนังของกระเพาะปัสสาวะ
  • กรณีผู้ป่วยมีโรคตับ แพทย์อาจต้องลดขนาดการใช้ยานี้ลงมาตามความเหมาะสม
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยด้วย โรคหัวใจ ผู้ป่วยที่มีการติดเชื้อในกระเพาะปัสสาวะ / ผู้ป่วยที่มีภาวะกระเพาะปัสสาวะอักเสบ
  • ผู้ป่วยต้องมาโรงพยาบาลเพื่อรับ การตรวจเลือดดูการทำงานของไขกระดูก และตรวจความก้าวหน้าของการรักษาโรคมะเร็งจากแพทย์เป็นระยะๆตามแพทย์นัด

เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาอีพิรูบิซิน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ เช่น โรคตับ โรคหัวใจ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่เพราะยาอีพิรูบิซินอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมมารับการฉีดยาควรทำอย่างไร?

กรณีไม่สามารถมารับการฉีดยาอีพิรูบิซิน ให้ผู้ป่วยรีบติดต่อแพทย์/พยาบาล/เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องที่ดูแลรักษาผู้ป่วย เพื่อทำการนัดหมายมารับการฉีดยาครั้งใหม่โดยเร็ว

อีพิรูบิซินมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาอีพิรูบิซินสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์จากยา(ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกายดังนี้ เช่น

  • ผลต่อระบบทางเดินหายใจ: เช่น มีภาวะปอดบวม
  • ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น ปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน
  • ผลต่อผิวหนัง: เช่น เกิดภาวะผมร่วงแต่เส้นผมสามารถคืนสภาพและงอกใหม่ได้ อาจมีลมพิษ ผิวหนังแพ้แสงแดดง่าย
  • ผลต่อหัวใจ: เช่น อาจทำให้เกิดภาวะหัวใจล้มเหลว หัวใจเต้นช้าหรือไม่ก็เต้นเร็ว
  • ผลต่อระบบทางเดินปัสสาวะ: เช่น ปัสสาวะคล้ายมีเลือดปน กระเพาะปัสสาวะอักเสบ
  • ผลต่อระบบเลือด: เช่น กดไขกระดูก เกล็ดเลือดต่ำ
  • ผลต่อการทำงานของระบบต่อมไร้ท่อ: เช่น ประจำเดือนขาด(ในสตรี)
  • ผลต่อตา: เช่น กระจกตาอักเสบ เยื่อตาอักเสบ
  • ผลต่อระบบการเผาผลาญพลังงานของร่างกาย: เช่น ร่างกายเกิดภาวะขาดน้ำ

มีข้อควรระวังการใช้อีพิรูบิซินอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาอีพิรูบิซิน เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้แพ้ยานี้
  • การใช้ยาอีพิรูบิซินสามารถทำให้มีภาวะหัวใจล้มเหลวได้ ผู้ป่วยจึงควรมารับการตรวจการทำงานของหัวใจ เช่น การตรวจร่างกาย การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ ตามที่แพทย์นัดหมายทุกครั้ง
  • ผู้ป่วยอาจมีภาวะติดเชื้อได้ง่าย ด้วยยาเคมีบำบัดเกือบทุกตัวยาซึ่งรวมยาอีพิรูบิซินจะทำให้การผลิตเม็ดเลือดขาว ต่ำลง และส่งผลต่อภูมิคุ้มกัน/ภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของร่างกาย ขณะได้รับยานี้ ควรหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่มีผู้คนแออัดเพื่อป้องกันการติดเชื้อและควรล้างมือบ่อยครั้งในแต่ละวัน
  • กรณีเกิดอาการคลื่นไส้อาเจียนจากยาอีพิรูบิซิน ควรรับยาแก้อาการดังกล่าวจากแพทย์ผู้ที่ทำการรักษา และห้ามไปซื้อยามารับประทานเอง และการบริโภคอาหารปริมาณน้อยๆต่อมื้อแต่รับประทานถี่ขึ้นต่อวัน อาจเป็นทางเลือกที่ดีในการบรรเทาอาการคลื่นไส้ อาเจียน
  • ดื่มน้ำเปล่า สะอาด วันละ 2–3 ลิตร/วัน รับประทานอาหารอย่างเหมาะสม และพักผ่อนอย่างเพียงพอ เพื่อให้ร่างกายฟื้นสภาพโดยเร็ว
  • เลี่ยงการออกแดดจัด ด้วยผิวหนังของผู้ป่วยที่ได้รับยาอีพิรูบิซินจะไวต่อแสงแดดได้ง่ายกว่าผิวหนังของคนปกติ
  • ห้ามดื่มเครื่องดื่มประเภทแอลกอฮอล์ชนิดต่างๆ
  • กรณีปวดผิวหนังบริเวณที่โดนแทงเข็มฉีดยา อาจใช้ผ้าเย็นประคบเพื่อบรรเทาอาการปวดดังกล่าว
  • ห้ามใช้ยากับสตรีมีครรภ์ และสตรีในภาวะให้นมบุตร
  • ต้องป้องกันการตั้งครรภ์ทั้งสตรีและบุรุษ ขณะที่ได้รับยาชนิดนี้/ยานี้
  • มาโรงพยาบาลเพื่อรับการรักษาตามที่แพทย์นัดหมาย และไม่ควรหยุดการรักษาเองโดยมิได้ขอคำปรึกษาจากแพทย์ก่อน
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยาอีพิรูบิซินด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ

อีพิรูบิซินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาอีพิรูบิซินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • ห้ามใช้ยาอีพิรูบิซินร่วมกับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคฝีดาษ(Smallpox vaccine) และ วัคซีนป้องกันวัณโรค(BCG)ด้วยระบบภูมิคุ้มกันโรคของผู้ป่วยที่ได้รับยาอีพิรูบิซินจะอยู่ในระดับต่ำ ผู้ป่วยจึงเสี่ยงต่อการติดเชื้อฝีดาษ หรือเชื้อวัณโรคดังกล่าว
  • ห้ามใช้ยาอีพิรูบิซินร่วมกับ ยาAdalimumab เพราะจะทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการ ติดเชื้อได้อย่างรุนแรง
  • ห้ามใช้ยาอีพิรูบิซินร่วมกับ ยาClozapine เพราะจะทำให้มีภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำมาก และหัวใจเต้นผิดปกติตามมา
  • ห้ามใช้ยาอีพิรูบิซินร่วมกับ ยาDolasetron เพราะจะทำให้เกิดภาวะหัวใจเต้นผิดปกติตามมา

ควรเก็บรักษาอีพิรูบิซินอย่างไร?

ควรเก็บยาอีพิรูบิซิน ภายใต้อุณหภูมิ 2-8 องศาเซลเซียส(Celsius) ห้ามเก็บยาในช่องแข็งตู้เย็น เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น และเก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง

อีพิรูบิซินมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาอีพิรูบิซิน มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Epilem (อีพิเลม)Lemery
E.P. MYCIN (อี.พี.มัยซิน)Boryung
Pharmorubicin CS (ฟาร์มอรูบิซิน ซีเอส)Pfizer
Epirubicin Ebewe (อีพิรูบิซิน อีบิว)Ebewe

อนึ่ง ยาชื่อการค้าอื่นของยา อีพิรูบิซิน เช่น Ellence, Pharmorubicin

บรรณานุกรม

  1. http://chemocare.com/chemotherapy/drug-info/epirubicin.aspx [2018,April21]
  2. https://en.wikipedia.org/wiki/Epirubicin[2018,April21]
  3. http://www.hpra.ie/img/uploaded/swedocuments/2146063.PA1457_005_001.98801bba-0978-4b0f-9a18-45e97908fc34.000001Product%20Leaflet%20Approved.150713.pdf [2018,April21]
  4. http://www.mims.com/thailand/drug/info/epirubicin/?type=brief&mtype=generic [2018,April21]
  5. https://www.accessdata.fda.gov/drugsatfda_docs/label/2014/050778s021lbl.pdf [2018,April21]