อีพลีรีโนน (Eplerenone)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาอีพลีรีโนน(Eplerenone) เป็นยากลุ่ม Aldosterone antagonist หรือAntimineralocorticoid ยานี้มีฤทธิ์ต่อต้านฮอร์โมนอัลดอสเตอโรน(Aldosterone) ที่สร้างจากต่อมหมวกไต ซึ่งหน้าที่หลักของฮอร์โมนอัลดอสเตอโรนคือ จะช่วยร่างกายรักษาระดับเกลือโซเดียมในเลือด โดยทำให้ไตดูดโซเดียมจากปัสสาวะ กลับเข้ากระแสเลือด แต่ส่งผลขับเกลือโปแตสเซียมทิ้งออกนอกร่างกายทางปัสสาวะ และด้วยกลไกการทำงานของยาอีพลีรีโนนนี้เอง จะทำให้ร่างกายขับเกลือโซเดียมและน้ำออกจากร่างกายได้มากยิ่งขึ้น ยานี้ถูกพัฒนาขึ้นในปี ค.ศ.2002(พ.ศ. 2545) ทางคลินิกได้นำยานี้มาใช้เป็นยารักษาภาวะ/โรคความดันโลหิตสูง(Hypertension) โรคหัวใจล้มเหลวที่มีสาเหตุจากกล้ามเนื้อหัวใจตาย(Congestive heart failure post-myocardial infarction) รวมถึงอาการของจอตาที่บวมน้ำ(Central serous retinopathy) ซึ่งรูปแบบเภสัชภัณฑ์ของยาอีพลีรีโนนเป็นยาชนิดรับประทาน หลังการดูดซึมจากระบบทางเดินอาหาร ตัวยานี้สามารถอยู่ในร่างกายได้นาน 4-6 ชั่วโมง ก่อนที่จะถูกกำจัดออกจากกระเสเลือดโดยผ่านไปกับปัสสาวะและอุจจาระ

สำหรับข้อจำกัดการใช้ยาอีพลีรีโนนที่ผู้บริโภค/ผู้ป่วยควรทราบมีดังนี้ เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้แพ้ยานี้
  • ห้ามใช้กับผู้ที่มีเกลือโปแตสเซียมในเลือดสูง และผู้ที่มีระดับเกลือโซเดียมใน เลือดต่ำอยู่แล้ว
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคไตในระยะรุนแรง ผู้ป่วยโรคเบาหวานประเภทที่ 2 ที่มีภาวะไมโครอัลบูมิน/โปรตีนในปัสสาวะ(Microalbuminuria) ผู้ป่วยโรคตับระยะ สุดท้าย ด้วยตัวยาอีพลีรีโนนสามารถส่งผลกระตุ้นให้อาการโรคดังกล่าว ทวีความรุนแรงมากขึ้น
  • ห้ามใช้ยานี้กับสตรีมีครรภ์/ตั้งครรภ์ สตรีในภาวะให้นมบุตร ทั้งนี้เพื่อเป็นการป้องกันการส่งผ่านตัวยานี้ไปสู่ทารก
  • ขณะใช้ยาอีพลีรีโนน ผู้ป่วยจะต้องมารับการตรวจเลือดตามแพทย์นัดหมายทุกครั้ง ทั้งนี้เพื่อตรวจสอบระดับเกลือแร่ต่างๆในเลือด อย่างเช่น โซเดียม และโปรแตสเซียมว่า ยังอยู่ในระดับปกติหรือไม่
  • การใช้ยาชนิดอื่นๆบางตัวร่วมกับยาอีพลีรีโนนสามารถก่อให้เกิดภาวะยาตีกัน(ปฏิกิริยาระหว่างยา)ตามมา เช่น ยารับประทานที่มีโปแตสเซียมเป็นส่วนประกอบหลัก(เช่น Potassium chloride), ACE inhibitors, กลุ่มยา Angiotensin receptor antagonists, NSAIDs, Glucocorticoids, Fluconazole, Erythromycin, Saquinavir, Amiodarone , Diltiazem, Verapamil, Clarithromycin, Itraconazole, Ketoconazole, Nefazodone, Nelfinavir, Ritonavir, Troleandomycin, ดังนั้นการใช้ยาชนิดใดร่วมกับยาอีพลีรีโนน ต้องได้รับการยินยอมจากแพทย์เท่านั้น
  • กรณีที่ได้รับยาอีพลีรีโนนแล้วเกิดอาการข้างเคียง(ผลข้างเคียง)จากยานี้ ที่เป็นอุปสรรคต่อการดำรงชีวิตประจำวัน เช่น เกิดผื่นคัน วิงเวียน อ่อนเพลีย ผู้ป่วยควรรีบกับมาปรึกษาแพทย์/มาโรงพยาบาลโดยเร็วโดยไม่ต้องรอถึงวันพทย์นัด

หากเปรียบเทียบระหว่างประสิทธิผลของ ยาอีพลีรีโนน กับยาSpironolactone จะพบว่า ยาอีพลีรีโนนมีการออกฤทธิ์ได้ดีกว่า และเป็นเหตุผลให้ราคาจำหน่ายของยาชนิดนี้ในท้องตลาดแพงกว่ายา Spironolactone ยาอีพลีรีโนนถือเป็นยาทางเลือกในกลุ่มอัลดอสเตอโรน แอนตาโกนิสต์ อีกหนึ่งรายการที่มีประสิทธิภาพในการรักษาภาวะหัวใจล้มเหลวและความดันโลหิตสูง แต่การใช้ยาชนิดนี้ได้อย่างเหมาะสม ปลอดภัย จะต้องเป็นไปตามคำสั่งแพทย์แต่ผู้เดียว

อีพลีรีโนนมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?

อีพลีรีโนน

ยาอีพลีรีโนนมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น

  • รักษาภาวะหัวใจล้มเหลว
  • รักษาโรคความดันโลหิตสูง

อีพลีรีโนนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยาอีพลีรีโนนมีกลไกการออกฤทธิ์ที่ไต โดยมีกลไกแข่งขันหรือยับยั้งการทำงานของฮอร์โมน อัลดอสเตอโรน ทำให้ไตเพิ่มการขับออกของโซเดียมและน้ำไปกับปัสสาวะ และยานี้ยังส่งผลดูดกลับของเกลือโปแตสเซียมจากปัสสาวะ คืนสู่ร่างกาย/กระแสเลือด หรือที่เรียกกันว่า โปแตสเซียม-สแปริ่ง ไดยูเรติก (Potassium-sparing diuretics) จากเหตุผลดังกล่าว ทำให้ยาอีพลีรีโนนมีฤทธิ์เป็นยาขับปัสสาวะ ลดอาการบวมน้ำ ลดความดันโลหิต และช่วยบำบัดภาวะหัวใจล้มเหลว ได้ตามสรรพคุณ

อีพลีรีโนนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาอีพลีรีโนน มีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น

  • ยาเม็ดชนิดรับประทาน ที่ประกอบด้วยตัวยา Eplerenone 25 และ 50 มิลลิกรัม/เม็ด

อีพลีรีโนนมีขนาดรับประทานอย่างไร?

ยาอีพลีรีโนนมีขนาดรับประทาน เช่น

ก. สำหรับโรคหัวใจล้มเหลวที่มีอาการกล้ามเนื้อหัวใจตายร่วมด้วย:

  • ผู้ใหญ่: รับประทานยาเริ่มต้น 25 มิลลิกรัม วันละ1ครั้ง ก่อนหรือหลังอาหาร ภายใน 4 สัปดาห์ แพทย์อาจปรับเพิ่มขนาดการใช้ยาเป็น 50 มิลลิกรัม วันละ1ครั้ง ทั้งนี้ขึ้นกับการตอบสนองต่อยานี้ของผู้ป่วย

ข. สำหรับโรคความดันโลหิตสูง:

  • ผู้ใหญ่: รับประทานยา 50 มิลลิกรัม วันละ1ครั้ง ก่อนหรือหลังอาหาร กรณีที่อาการความดันโลหิตสูงยังไม่บรรเทาลง แพทย์อาจปรับเพิ่มขนาดการใช้ยาเป็น 50 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง เช้า-เย็น

อนึ่ง:

  • การที่ต้องปรับขนาดการใช้ยานี้เพิ่มเป็นลำดับ เป็นเพราะแพทย์ต้องการลดความเสี่ยงต่อภาวะโปแตสเซียมในเลือดสูงเกิน
  • ระหว่างใช้ยานี้ ผู้ป่วยต้องรับการตรวจเลือดตามคำสั่งแพทย์ เพื่อควบคุมระดับเกลือแร่ในเลือด อย่างเช่น โปแตสเซียม ให้เป็นปกติอยู่เสมอๆ
  • เด็ก: ยังไม่มีข้อมูลทางคลินิกที่แน่ชัดถึง ขนาดยานี้ ผลข้างเคียง และความปลอดภัยในการใช้ยานี้ในเด็ก การใช้ยานี้ในเด็ก จึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีๆไป

*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียง ตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาอีพลีรีโนน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ อย่างเช่น โรคตับ โรคไต โรคความดันโลหิตสูง โรคความดันโลหิตต่ำ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาอีพลีรีโนน อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาอีพลีรีโนน สามารถรับประทานยาทันทีเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า ให้รับประทานยาที่ขนาดปกติ

แต่อย่างไรก็ดี การลืมรับประทานยาอีพลีรีโนน อาจส่งผลให้อาการโรคกำเริบตามมา

อีพลีรีโนนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาอีพลีรีโนนสามารถก่อให้เกิด ผลไม่พึงประสงค์จากยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกาย ดังนี้ เช่น

  • ผลต่อระบบประสาท เช่น วิงเวียน ปวดศีรษะ
  • ผลต่อระบบทางเดินอาหาร เช่น ท้องเสีย ปวดท้อง
  • ผลต่อระบบต่อมไร้ท่อ เช่น เกิดภาวะหน้าอก/เต้านมโต ประจำเดือน(ในสตรี)มาผิดปกติ เจ็บเต้านม
  • ผลต่อไต เช่น มีโปรตีนในปัสสาวะ
  • ผลต่อระบบการเผาผลาญพลังงานของร่างกาย เช่น เกลือโปแตสเซียมในเลือดสูง บางกรณีอาจมีภาวะไขมันคอเลสเตอรอลและไตรกลีเซอไรด์ ในเลือดสูง
  • ผลต่อตับ เช่น เอนไซม์การทำงานของตับในเลือดมีระดับเพิ่มขึ้น

มีข้อควรระวังการใช้อีพลีรีโนนอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาอีพลีรีโนน เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
  • ห้ามใช้ยากับสตรีมีครรภ์ สตรีในภาวะให้นมบุตร และเด็ก นอกจากมีคำสั่งแพทย์
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ที่มีภาวะขับปัสสาวะไม่ออก/ปัสสาวะขัด ผู้ป่วยไตวาย
  • ห้ามปรับขนาดรับประทานด้วยตนเอง
  • ปฏิบัติตามคำแนะนำของ แพทย์ พยาบาล เภสัชกร อย่างเคร่งครัด และมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามแพทย์นัดหมายทุกครั้ง
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยาอีพลีรีโนนด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บhaamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด)รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ

อีพลีรีโนนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

อีพลีรีโนนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • ห้ามใช้ยาอีพลีรีโนนร่วมกับยา ACE inhibitors, Angiotension receptor blocker, Ciclosporin, Tacrolimus, Trimethoprim เพราะจะทำให้ระดับโปแตสเซียมในกระแสเลือดสูงขึ้นจนก่อให้เกิดอาการข้างเคียงต่างๆตามมา
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาอีพลีรีโนนร่วมกับกลุ่ม ยาNSAIDs, Glucocorticoids, ด้วยจะทำให้ประสิทธิผลของการรักษาความดันโลหิตสูงของยาอีพลีรีโนนลดลง
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาอีพลีรีโนนร่วมกับกลุ่มยา Alpha-blockers (เช่นยา Alfuzosin, Prazosin), กลุ่มยาTCAs, Amifostine และ Baclofen เพราะเสี่ยงต่อภาวะความดันโลหิต่ำตามมา
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาอีพลีรีโนนร่วมกับยา Fluconazole, Erythromycin, Saquinavir, Amiodarone, Diltiazem, Verapamil ด้วยจะทำให้ระดับยาอีพลีรีโนนในกระแสเลือดเพิ่มสูงขึ้นจนเป็นเหตุให้เกิดอาการข้างเคียงต่างๆจากยาอีพลีรีโนนสูงขึ้นตามมา

ควรเก็บรักษาอีพลีรีโนนอย่างไร?

ควรเก็บยาอีพลีรีโนนภายใต้อุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส(Celsius) ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งตู้เย็น เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง และไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือรถยนต์

อีพลีรีโนนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาอีพลีรีโนน มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Inspra (อินสปรา)Fareva Amboise

อนึ่ง ยาชื่อการค้าอื่นของยานี้ เช่น Planep, Epleran, Eplecard, Eptus

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Eplerenone[2017,Oct7]
  2. http://www.mims.com/thailand/drug/info/eplerenone?mtype=generic[2017,Oct7]
  3. https://www.drugs.com/cdi/eplerenone.html[2017,Oct7]
  4. https://www.drugs.com/dosage/eplerenone.html[2017,Oct7]
  5. https://www.drugs.com/uk/inspra-50mg-film-coated-tablets-leaflet.html[2017,Oct7]