อีทิโอนาไมด์ (Ethionamide)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาอีทิโอนาไมด์ (Ethionamide) หรือยาชื่อการค้าในต่างประเทศคือ ยา Trecator เป็นยาปฏิชีวนะตัวหนึ่งที่นำมาใช้รักษาวัณโรคชนิดที่ดื้อต่อยาปฏิชีวนะตัวอื่น (Multi-drug-resistant tuberculosis) อย่างเช่น Isoniazid, Rifampin เป็นต้น ยาอีทิโอนาไมด์ถูกนำไปใช้รักษาวัณโรคในประเทศแอฟริกาใต้ซึ่งขณะนั้นมีการแพร่ระบาด โดยมีการดื้อยาของเชื้อวัณโรคร่วมด้วย ทางคลินิกจึงใช้ยาอีทิโอนาไมด์ร่วมกับยา Gatifloxacin ในการบำบัดรักษา

รูปแบบยาแผนปัจจุบันของยาอีทิโอนาไมด์จะมีแต่เพียงยาชนิดรับประทาน ยานี้มีการดูดซึมได้ดีจากระบบทางเดินอาหารของมนุษย์ เมื่อเข้าสู่กระแสเลือด ตัวยาสามารถกระจายเข้าสู่ของเหลวและเนื้อเยื่อต่างๆของร่างกายได้เป็นอย่างดีรวมถึงน้ำไขสันหลังและรกของมารดา ประมาณ 30%ของยาในกระแสเลือดจะเข้าจับตัวกับพลาสมาโปรตีน การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของยาอีทิโอนาไมด์เกิดที่อวัยวะตับ และจะได้ตัวยาที่ออกฤทธิ์และไม่ออกฤทธิ์มาพร้อมกัน ร่างกายต้องใช้เวลาประมาณ 2 – 3 ชั่วโมงในการกำจัดปริมาณยา 50% ออกจากกระแสเลือดโดยผ่านทิ้งไปกับปัสสาวะ

มีเงื่อนไขบางประการที่แพทย์มักจะใช้พิจารณาก่อนสั่งจ่ายยาอีทิโอนาไมด์เช่น

  • ผู้ป่วยต้องไม่เคยมีประวัติแพ้ยาชนิดนี้มาก่อน
  • ต้องไม่ป่วยเป็นโรคตับขั้นรุนแรงด้วยตัวยาจะออกฤทธิ์ฆ่าเชื้อวัณโรคได้จะต้องให้ตับเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเคมีก่อนเท่านั้น
  • หากผู้ป่วยมีโรคประจำตัวอื่นๆเช่น เบาหวาน โรคตับ มีปัญหาทางสายตา การใช้ยาอีทิโอนาไมด์อาจต้องปรับเปลี่ยนขนาดรับประทานให้เหมาะสมกับผู้ป่วยเป็นรายบุคคลไป
  • สำหรับผู้ป่วยเด็กได้ถูกพิจารณาด้านความปลอดภัยว่าสามารถใช้ยานี้ได้ตั้งแต่อายุ 12 ปีขึ้นไป
  • หากเป็นสตรีอยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรืออยู่ในภาวะให้นมบุตรแพทย์ต้องพิจารณารายละเอียดเป็นพิเศษด้วยตัวยาสามารถซึมผ่านรกตลอดจนอาจส่งผลต่อการเจริญเติบโตของทารกได้

องค์การอนามัยโลกได้กำหนดให้อีทิโอนาไมด์เป็นยาจำเป็นขั้นพื้นฐานสำหรับสถานพยาบาลที่สมควรมีไว้เพื่อสำรองใช้รักษาประชาชน คณะกรรมการอาหารและยาของไทยก็ได้บรรจุยานี้ลงในบัญชียาหลักแห่งชาติและจัดอยู่ในหมวดยาอันตราย ผู้ป่วยที่ได้รับการสั่งจ่ายยานี้จะต้องรับประทานยานี้ตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัด ห้ามหยุดการใช้ยาหรือปรับเปลี่ยนขนาดรับประทานด้วยตนเองโดยมิได้มีคำสั่งจากแพทย์โดยเด็ดขาด

อีทิโอนาไมด์มีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?

อีทิโอนาไมด์

ยาอีทิโอนาไมด์มีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้เพื่อใช้รักษาวัณโรคชนิดที่ดื้อต่อยาต้านวัณโรคชนิดอื่น

อีทิโอนาไมด์มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

กลไกการออกฤทธิ์ของยาอีทิโอนาไมด์คือ ตัวยาจะออกฤทธิ์ต่อเชื้อแบคทีเรียชนิด Mycobac teria เช่น M.tuberculosis, M.kansasi, M.avium complex และ M.leprac โดยตัวยาจะยับยั้งการสร้างสารประกอบประเภทเปปไทด์ (Peptide) ของแบคทีเรียนี้ที่ทำให้เชื้อวัณโรค/แบคทีเรียนี้ไม่สามารถเจริญเติบโต จึงหยุดการแพร่พันธุ์และตายลงในที่สุด

อีทิโอนาไมด์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาอีทิโอนาไมด์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายเป็นยาเม็ดชนิดรับประทาน ขนาด 250 มิลลิกรัม

อีทิโอนาไมด์มีขนาดรับประทานอย่างไร?

ยาอีทิโอนาไมด์มีขนาดรับประทานเช่น

  • ผู้ใหญ่: รับประทาน 500 มิลลิกรัม - 1 กรัม/วัน สามารถรับประทานเพียงวันละครั้งหรือจะแบ่งรับประทานก็ได้โดยต้องเป็นไปตามคำสั่งแพทย์ และขนาดรับประทานสูงสุดไม่เกิน 1 กรัม/วัน
  • เด็กอายุ 12 ปีขึ้นไป: รับประทานครั้งละ 10 - 20 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมโดยแบ่งรับประทาน 2 - 3 ครั้ง/วัน หรือรับประทาน 15 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมวันละครั้งหลังอาหาร และขนาดรับประทานสูงสุดไม่เกิน 1 กรัม/วัน
  • เด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี: ยังไม่มีการศึกษาแน่ชัดถึงผลข้างเคียงของยานี้ในเด็กกลุ่มวัยนี้ การใช้ยาในเด็กกลุ่มนี้จึงอยู่ในดุลพนิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีๆไป

*อนึ่ง:

  • สามารถรับประทานยานี้ก่อนหรือพร้อมอาหารก็ได้
  • ผู้ป่วยโรคไตที่มีค่าการทำงานของไต (ครีเอตินินเคลียแรนซ์/CrCl/Creatinine clearance) น้อยกว่า 30 มิลลิลิตร/นาที แพทย์อาจปรับลดขนาดรับประทานเช่น รับประทานยาที่ 250 - 500 มิลลิกรัม/วัน
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคตับขั้นรุนแรงด้วยจะไม่เกิดประโยชน์และยังเสี่ยงต่อการได้รับผลข้างเคียงต่างๆของยานี้ตามมา

*****หมายเหตุ:

  • ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมถึงยาอีทิโอนาไมด์ ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกร ดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิดเช่น กินยาแล้วคลื่นไส้มาก ขันผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆรวมทั้งกำลังกินยาอะไรอยู่ เพราะยาอีทิโอนาไมด์อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรือเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กินอยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรกและเข้าสู่ทารกจนเกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาอีทิโอนาไมด์สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า

อย่างไรก็ตามเพื่อประสิทธิผลของการรักษาควรรับประทานยาอีทิโอนาไมด์ให้ตรงเวลา

อีทิโอนาไมด์มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

การใช้ยาอีทิโอนาไมด์กับผู้ป่วยวัณโรคอาจแสดงผลไม่พึงประสงค์ (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) ได้มากน้อยในผู้ป่วยแต่ละรายแตกต่างกัน ผู้ป่วยบางรายอาจไม่ได้รับผลข้างเคียงเลยก็เป็นได้

สำหรับอาการข้างเคียงของยานี้ที่พบได้บ่อยเช่น วิงเวียน เบื่ออาหาร ท้องเสีย ปวดศีรษะ ปวดท้อง การรับรสชาติของลิ้นเปลี่ยนไป คลื่นไส้หรืออาเจียน เกิดแผลในปาก ง่วงนอน กระสับกระส่าย

ส่วนอาการข้างเคียงที่พบได้น้อยของยานี้เช่น เกิดภาวะเต้านมโต

อนึ่งปกติการเกิดอาการข้างเคียงของยานี้ไม่จำเป็นต้องใช้ยารักษา ร่างกายมักจะปรับตัวและทำให้อาการข้างเคียงค่อยๆหายไปในที่สุด

อย่างไรก็ตามหากพบอาการข้างเคียงของยานี้ที่รบกวนการดำเนินชีวิตประจำวัน ควรต้องกลับไปปรึกษาแพทย์/ไปโรงพยาบาลก่อนนัด เพื่อแพทย์พิจารณาปรับแนวทางการรักษา

มีข้อควรระวังการใช้อีทิโอนาไมด์อย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้อีทิโอนาไมด์เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคตับขั้นรุนแรง
  • ห้ามใช้ยานี้กับเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 12 ปี สตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร โดยไม่มีคำสั่งจากแพทย์ผู้ทำการรักษา
  • ห้ามปรับเปลี่ยนขนาดรับประทานหรือหยุดการใช้ยานี้เองโดยมิได้ปรึกษาแพทย์
  • ห้ามใช้ยาที่มีสภาพเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม
  • การรับประทานยานี้พร้อมสุราหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนประกอบอาจทำให้ผู้ป่วยมีอาการทางจิตประสาท
  • การใช้ยานี้กับผู้ป่วยเบาหวานต้องควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดตามแพทย์แนะนำ ด้วยยานี้สามารถทำให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำได้
  • การใช้ยานี้กับผู้ป่วยภาวะไทรอยด์ฮอร์โมนต่ำ/ภาวะขาดไทรอยด์ฮอร์โมนควรต้องหมั่นตรวจสอบการทำงานของต่อมไทรอยด์ว่ายังเป็นปกติดีหรือไม่ตามแพทย์แนะนำ
  • ผู้ป่วยที่ได้รับยาอีทิโอนาไมด์อาจต้องได้รับยากลุ่มวิตามินเสริมด้วยเช่น วิตามินบี 12 และกรดโฟลิก เป็นต้น ทั้งนี้ขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษา
  • ระหว่างที่ใช้ยานี้ต้องควบคุมและตรวจสอบระบบการทำงานของเลือดควบคู่กันไปตามแพทย์แนะนำด้วยอาจเกิดภาวะโลหิตจางชนิด Megaloblastic anemia และชนิด Sideroblastic anemia ติดตามมา
  • หากพบอาการแพ้ยานี้เช่น อึดอัดหายใจไม่ออก/หายใจลำบาก ตัวบวม มีลมพิษ ผด ผื่น ขึ้นเต็มตัว ให้หยุดใช้ยานี้แล้วรีบกลับมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน
  • มาโรงพยาบาลตามแพทย์นัดทุกครั้ง
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง:

ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาอีทิโอนาไมด์ด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิดและสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

อีทิโอนาไมด์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาอีทิโอนาไมด์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นเช่น

  • การใช้ยาอีทิโอนาไมด์ร่วมกับยา Rifampin อาจเพิ่มความเสี่ยงก่อให้เกิดภาวะตับทำงานผิดปกติ หากมีอาการไข้ ปวดข้อหรือมีอาการข้อบวม มีภาวะเลือดออกง่าย ผื่นคันขึ้นตามผิวหนัง เบื่ออาหาร อ่อนเพลีย คลื่นไส้ อาเจียน ปัสสาวะมีสีคล้ำ อุจจาระมีสีซีดจาง ตัวเหลืองตาเหลือง ซึ่งเป็นอาการที่ตับถูกทำลาย ต้องรีบนำตัวผู้ป่วยกลับมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลโดยทันที/ฉุกเฉิน
  • การใช้ยาอีทิโอนาไมด์ร่วมกับยา Isoniazid อาจทำให้เพิ่มความเสี่ยงของเส้นประสาทถูกทำลาย เพื่อลดภาวะเสี่ยงดังกล่าวแพทย์จะปรับขนาดรับประทานให้เหมาะสมเป็นรายบุคคลไป
  • ห้ามใช้ยาอีทิโอนาไมด์ร่วมกับวัคชีน BCG vaccine ด้วยจะทำให้การกระตุ้นภูมิคุ้มกันต้าน ทานโรคของ BCG vaccine ด้อยประสิทธิภาพลงไป
  • การใช้ยาอีทิโอนาไมด์ร่วมกับยา Disulfiram (ยารักษาโรคพิษสุรา), Chloroquine, Lovastatin, Levodopa อาจเพิ่มความเสี่ยงของเส้นประสาทในร่างกายถูกทำลาย หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกันแพทย์จะปรับขนาดการใช้ยาให้เหมาะสมเป็นกรณีไป

ควรเก็บรักษาอีทิโอนาไมด์อย่างไร?

ควรเก็บยาอีทิโอนาไมด์ในช่วงอุณหภูมิ 20 - 25 องศาเซลเซียส (Celsius) ไม่เก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น เก็บในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อนและความชื้น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง และไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์

อีทิโอนาไมด์มีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาอีทิโอนาไมด์ที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้าอื่นและบริษัทผู้ผลิตเช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Ethionamide Medopharm (อีทิโอนาไมด์ เมโดฟาร์ม) Medopharm
Eton-250 (อีตอน-250) Pond’s Chemical

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Ethionamide [2015,Nov7]
  2. http://www.drugs.com/dosage/ethionamide.html#Usual_Adult_Dose_for_Tuberculosis___Active [2015,Nov7]
  3. https://www.mims.com/Thailand/drug/info/Ethionamide%20Medopharm/ [2015,Nov7]
  4. http://www.mims.com/THAILAND/Home/GatewaySubscription/?generic=Ethionamide [2015,Nov7]
  5. http://drug.fda.moph.go.th:81/nlem.in.th/medicine/essential/list/92#item-8637 [2015,Nov7]
  6. http://www.drugs.com/sfx/ethionamide-side-effects.html [2015,Nov7]
  7. http://www.drugs.com/cdi/ethionamide.html [2015,Nov7]
  8. http://www.drugs.com/drug-interactions/ethionamide-index.html?filter=3&generic_only= [2015,Nov7]