อีทิโซแลม (Etizolam)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาอีทิโซแลม(Etizolam) เป็นยาสังเคราะห์ที่มีกลไกการออกฤทธิ์เลียนแบบกลุ่มยาเบนโซไดอะซีปีน(Benzodiazepine) ในต่างประเทศถือเป็นยาควบคุมที่ต้องมีใบสั่งจากแพทย์เท่านั้น ทางคลินิกได้นำยานี้มารักษาอาการนอนไม่หลับ ลดความวิตกกังวล และภาวะตื่นตระหนก โดยแพทย์จะให้ใช้ยานี้เพียงระยะเวลาสั้นๆเท่านั้นเพื่อหลีกเลี่ยงการติดยา หากนำเอายาอีทิโซแลมมาเปรียบเทียบกับยา Alprazolam และ Bromazepam เพื่อรักษาอาการวิตกกังวลภายใน 2–4 สัปดาห์ ยา อีทิโซแลมจะออกฤทธิ์ได้ดีกว่ามาก หรือจะเปรียบเทียบกับยาDiazepam เพื่อรักษาอาการวิตกกังวล พบว่ายาอีทิโซแลมจะมีความแรงกว่ายาDiazepamถึง 6 เท่า

รูปแบบเภสัชภัณฑ์ของยาอีทิโซแลม มีทั้งยารับประทาน ยาอม และยาเหน็บทวารหนัก ตัวยาสามารถดูดซึมจากระบบทางเดินอาหารเข้าสู่ร่างกายได้ประมาณ 93% และตับจะคอยทำลายยานี้อย่างต่อเนื่อง ร่างกายต้องใช้เวลาเฉลี่ยประมาณ 6.2 ชั่วโมงเพื่อกำจัดยานี้ออกจากกระแสเลือดโดยผ่านทิ้งไปกับปัสสาวะ

ทั้งนี้ยังมีข้อห้ามและข้อควรระวังของยาอีทิโซแลมที่ผู้บริโภค/ผู้ป่วยควรทราบดังต่อไปนี้

  • ห้ามใช้กับผู้แพ้ยานี้
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วย โรคต้อหิน โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง ผู้ที่มีภาวะหายใจขัด/หายใจลำบากหรือมีปัญหาทางการหายใจแบบเฉียบพลัน ผู้ที่หยุดหายใจขณะนอนหลับ ผู้ป่วยโรคตับระยะรุนแรง ผู้ป่วยโรคจิตแบบเรื้อรัง ผู้ที่เคยมีประวัติทำร้ายตนเอง ด้วยตัวยาอีทิโซแลม จะทำให้อาการป่วยดังกล่าวรุนแรงมากยิ่งขึ้น
  • ห้ามใช้ร่วมกับยาเบนโซไดอะซีปีนชนิดอื่นโดยไม่มีคำสั่งจากแพทย์
  • ห้ามใช้กับสตรีมีครรภ์/ตั้งครรภ์ สตรีในช่วงให้นมบุตร รวมถึงกับเด็ก
  • เพิ่มความระวังเมื่อต้องใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคไต ผู้ที่ติดสุรา หรือมีประวัติติดยาเสพติด ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคความดันโลหิตต่ำ
  • ระวังการติดยา หรือผู้ที่มีพฤติกรรมใช้ยาที่ผิด(Drug abuse) เช่น ปรับขนาดรับประทานเอง หรือใช้ชอบใช้ยาต่างๆนานเกินจากคำสั่งแพทย์ อาจได้รับพิษ(ผลข้างเคียงรุนแรง)จากยาอีทิโซแลม อาทิ ง่วงนอนอย่างรุนแรงจนไม่รู้สึกตัว และกล้ามเนื้ออ่อนแรง บางกรณีก็ทำให้ผู้ป่วยมีอาการพูดไม่ชัด ตัวสั่น ตาพร่า ปัสสาวะไม่ออก/ปัสสาวะขัด รู้สึกปั่นป่วนในกระเพาะอาหารและลำไส้ ตลอดจนกระทั่งสูญเสียความทรงจำ หากพบเห็นเหตุการณ์เหล่านี้ ต้องรีบนำตัวผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน

ปัจจุบันยาอีทิโซแลม ยังไม่มีจำหน่ายในไทย แต่มีใช้ในประเทศญี่ปุ่นค่อนข้างแพร่หลาย ทั้งนี้อาจมีความเกี่ยวพันกับสภาพของเศรษฐกิจและความกดดันจากการทำงาน อย่างไรก็ตามการใช้ยานี้เป็นเรื่องปลายเหตุ และอาจเกิดอันตรายได้หากใช้แบบผิดวิธี การรักษาและบริหารความเครียด ความวิตกกังวล ภาวะนอนไม่หลับ โดยไม่ต้องอาศัยยาเป็นทางเลือกต้นๆที่ผู้บริโภค/ผู้ป่วยควรหันมาใส่ใจ ทั้งนี้มีหลายบทความเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวในเว็บไซด์ หาหมอ.com ที่นำเสนอความเข้าใจและสามารถนำมาใช้เป็นแนวทางปฏิบัติในชีวิตประจำวันได้เป็นอย่างดี

อีทิโซแลมมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?

อีทิโซแลม

ยาอีทิโซแลมมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น ใช้เป็นยาคลายความวิตกกังวล/ ยาคลายเครียด และช่วยให้นอนหลับ

อีทิโซแลมมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ตัวยาอีทิโซแลม มีกลไกการออกฤทธิ์ที่ตัวรับ(Receptor)ในสมอง ที่เรียกกันว่า Benzodiazepine receptor โดยมีฤทธิ์กดการทำงานของสมอง และทำให้มีการเปลี่ยนแปลงปริมาณสารสื่อประสาทต่างๆในสมอง ส่งผลให้ผู้ที่ได้รับยานี้มีอาการ ง่วงนอน คลายความวิตกกังวล และลดความตื่นตระหนก ได้ตามสรรพคุณ โดยยานี้มักออกฤทธิ์ประมาณ 30-50 นาทีหลังการบริโภค

อีทิโซแลมมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาอีทิโซแลมมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น

  • ยาเม็ดชนิดรับประทาน ที่ประกอบด้วย Etizolam 0.25, 0.5 และ 1 มิลลิกรัม/เม็ด

อีทิโซแลมมีขนาดรับประทานอย่างไร?

ยาอีทิโซแลมมีขนาดรับประทาน เช่น

  • ผู้ใหญ่: สามารถรับประทานยาได้ถึง 3 มิลลิกรัม/วัน โดยแบ่งรับประทานหรือรับประทานเพียงครั้งเดียวก่อนนอน ซึ่งขนาดการใช้ยานี้ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของแพทย์ โดยแพทย์จะพิจารณาจากอาการและความรุนแรงของผู้ป่วยที่แตกต่างกันออกไป
  • เด็ก: ห้ามใช้ยานี้

อนึ่ง:

  • ห้ามรับประทานยานี้นานเกินคำสั่งแพทย์ นอกจากจะทำให้เกิดการติดยาตามมาแล้ว ยังมีรายงานว่าผู้ที่ใช้ยานี้เป็นเวลานานๆ จะทำให้เกิดอาการทางใบหน้า คือ หนังตาตก หรือหนังตากระตุก

*****หมายเหตุ: ขนาดและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาอีทิโซแลม ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาอีทิโซแลม อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาอีทิโซแลม สามารถรับประทานทันทีเมื่อนึกขึ้นได้ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2เท่า ให้รับประทานยาที่ขนาดปกติ

อีทิโซแลมมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาอีทิโซแลมสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์จากยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกายดังนี้ เช่น

  • ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น รู้สึกไม่สบายในท้อง
  • ผลต่อระบบประสาท: เช่น เกิดฤทธิ์สงบประสาท/กดสมอง ทำให้ง่วงนอน วิงเวียน ปวดศีรษะ พูดไม่ชัด ตัวสั่น จำอะไรไม่ได้
  • ผลต่อกล้ามเนื้อ: เช่น กล้ามเนื้ออ่อนแรง เดินเซ
  • ผลต่อตา: เช่น ตาพร่า
  • ผลต่อระบบทางเดินปัสสาวะ: เช่น ปัสสาวะขัด
  • ผลต่อสภาพจิตใจ: เช่น รู้สึกสับสน ซึม

มีข้อควรระวังการใช้อีทิโซแลมอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาอีทิโซแลม เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
  • ห้ามปรับขนาดรับประทานด้วยตนเอง
  • ห้ามรับประทานยานี้ร่วมกับยาเบนโซไดอะซีปีนชนิดใดๆ นอกจากมีคำสั่งแพทย์
  • การใช้ยากับสตรีมีครรภ์ สตรีในช่วงให้นมบุตร และเด็ก ต้องเป็นไปตามคำสั่งของแพทย์เท่านั้น
  • กรณีพบอาการแพ้ยานี้ เช่น มีผื่นคัน ผิวหนังบวมแดง ผิวลอก แน่นหน้าอก หายใจขัด ใบหน้า-ปาก-คอมีอาการบวม ต้องหยุดใช้ยานี้ทันทีแล้วรีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยาอีทิโซแลมด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ

อีทิโซแลมมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาอีทิโซแลมมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาอีทิโซแลมร่วมกับยาที่มีฤทธิ์กดการทำงานของสมอง อาทิ ยารักษาอาการซึมเศร้า/ยาต้านเศร้า ยาต้านฮีสตามีน/ยาแก้แพ้ และยารักษาโรคทางจิตเวชชนิดต่างๆ ด้วยจะก่อให้เกิดฤทธิ์กดการทำงานของสมองมากยิ่งขึ้น
  • ห้ามใช้ยาอีทิโซแลมร่วมกับเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ เพราะจะทำให้ตัวยานี้ได้รับการดูดซึมเข้าสู่ร่างกายอย่างรวดเร็ว จนเกิดผลข้างเคียงที่รุนแรง เช่น เกิดอาการวิงเวียนอย่างรุนแรง นอนหลับลึกจนไม่ได้สติ ตามมา
  • ห้ามใช้ยาอีทิโซแลมร่วมกับยา Itraconazole และ Fluvoxamine เพราะจะทำให้ร่างกายกำจัดยาอีทิโซแลมได้น้อยลงจนเกิดการสะสมยาอีทิโซแลมเพิ่มมากขึ้นในร่างกายจนกระทั่งทำให้ได้รับอาการข้างเคียงจากอีทิโซแลมสูงมากขึ้นตามมา
  • ห้ามใช้ยาอีทิโซแลมร่วมกับ ยาCarbamazepine เพราะจะเร่งให้ร่างกายทำลายยาอีทิโซแลมได้เร็วมากขึ้นจนทำให้ประสิทธิภาพการรักษาของยาอีทิโซแลมด้อยลงไป

ควรเก็บรักษาอีทิโซแลมอย่างไร?

ควรเก็บยาอีทิโซแลมภายใต้อุณหภูมิห้องที่เย็น ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งตู้เย็น เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง และไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์

อีทิโซแลมมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาอีทิโซแลม มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Arophalm (อะโรฟาล์ม)Nichi-Iko Pharmaceutical
Capsafe (แคปเซฟ)Ohara Yakuhin
Depas (ดีพาส)Abbott
Dezolam (ดีโซแลม)Taisho Yakuhin
E1 (อี1)Aarpik
Eticalm (อีทิคาล์ม)Towa Yakuhin
Etisedan (อีทิซีดาน)Kyowa Yakuhin
ETIZOLA (อีทิโซลา)Macleods
Etizolam Amel (อีทิโซแลม เอเมล)Kyowa Yakuhin
Etizolam EMEC (อีทิโซแลม อีเอ็มอีซี)Sannova
Etizolam KN (อีทิโซแลม เคเอ็น)Kobayashi Kako
Etizolam Nichi-iko (อีทิโซแลม นิชิ-อิโค)Nichi-Iko Pharmaceutical
Etizolam Ohara (อีทิโซแลม โอฮารา)Ohara Yakuhin
Etizolam SW (อีทิโซแลม เอสดับเบิลยู)Medisa Shinyaku
Etizolam TCK (อีทิโซแลม ทีซีเค)Tatsumi Kagaku
Etizolam Towa (อีทิโซแลม โทวา)Towa Yakuhin
Etizolan (อีทิโซแลน)Kobayashi Kako
Mozun (โมซัน)Tatsumi Kagaku
New Zomnia (นิว ซอมเนีย)Molekule
Nonnerv (นอนเนอร์บ)Nisshin Pharmaceutical
Palgin (พัลจิน)Fujinaga Seiyaku
Pasaden (พาซาเดน)Bayer
Sedekopan (เซเดโคปัน)Choseido Pharmaceutical
Sedekopan 1% (เซเดโคปัน 1%)Choseido Pharmaceutical
Sylkam (ซิลคาม)Dr. Reddy's

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Etizolam[2017,Dec16]
  2. http://www.mims.com/india/drug/info/etizolam/?type=full&mtype=generic#Indications[2017,Dec16]
  3. http://www.mims.com/india/drug/info/etizola[2017,Dec16]
  4. https://www.drugs.com/international/etizolam.html[2017,Dec16]
  5. https://www.deadiversion.usdoj.gov/drug_chem_info/etizolam.pdf[2017,Dec16]
  6. http://www.who.int/medicines/access/controlled-substances/CriticalReview_Etizolam.pdf?ua=1[2017,Dec16]