อิโพรซาร์แทน (Eprosartan)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาอิโพรซาร์แทน(Eprosartan หรือ Eprosartan mesylate)เป็นยาในกลุ่มแอนจิโอเทนซิน II รีเซพเตอร์ แอนตาโกนิสต์ (Angiotensin II receptor antagonist) ทางคลินิกนำมาใช้รักษาโรคความดันโลหิตสูง โดยตัวยามีกลไกการออกฤทธิ์ที่สำคัญอยู่ 2 ขั้นตอน คือ

  • ทำให้กล้ามเนื้อเรียบตรงผนังหลอดเลือดคลายตัว ส่งผลให้หลอดเลือดขยายตัวตามมา
  • จำกัดการผลิตสารสื่อประสาทประเภท Norepinephrine จากเนื้อเยื่อต่างๆ

ซึ่งกลไกดังกล่าวข้างต้น เป็นเหตุผลต่อการลดความดันโลหิตของร่างกาย ยาอิโพรซาร์แทน มีรูปแบบเภสัชภัณฑ์เป็นยาชนิดรับประทาน ตัวยานี้/ชนิดนี้สามารถถูกดูดซึมจากระบบทางเดินอาหารได้เพียง 13–15% จึงเป็นเหตุผลให้เม็ดยาต้องประกอบไปด้วยยาอิโพรซาร์แทนเป็นปริมาณ 400–600 มิลลิกรัม/เม็ด เพื่อให้สอดคล้องกับขนาดรับประทานที่ทำให้แสดงการออกฤทธิ์ลดความดันโลหิต ยานี้จะถูกเปลี่ยนโครงสร้างทางเคมีจากตับเป็นปริมาณที่น้อยมาก ร่างกายต้องใช้เวลาประมาณ 5–9 ชั่วโมงเพื่อกำจัดตัวยาอิโพรซาร์แทนไปกับอุจจาระและปัสสาวะ

ผู้ที่ได้รับยาอิโพรซาร์แทน ต้องคอยตรวจสอบวัดความดันโลหิตของตนอย่างสม่ำเสมอตามคำแนะนำของ แพทย์/ พยาบาล/ เภสัชกร และมารับการตรวจเลือดที่โรงพยาบาลตามแพทย์สั่งเพื่อวัด ระดับครีเอตินิน(Creatinine) ปริมาณอิเล็กโทรไลต์(Electrolyte) อย่างเช่น โปแตสเซียม เป็นต้น

ยาอิโพรซาร์แทนไม่เหมาะที่จะใช้กับสตรีมีครรภ์/ตั้งครรภ์ และสตรีในช่วงให้นมบุตร ด้วยยานี้ก่อให้เกิดอันตรายกับทารกได้โดยตรง สตรีที่ใช้ยานี้และมีการตั้งครรภ์เกิดขึ้น จะต้องรีบแจ้งแพทย์เพื่อปรับเปลี่ยนไปใช้ยาลดความดันโลหิตชนิดอื่นที่ปลอดภัยมากกว่า

*การรับประทานยาอิโพรซาร์แทนเกินขนาด เป็นอีกประเด็นที่ผู้ป่วยต้องให้ความสำคัญ ด้วยจะส่งผลให้มีความดันโลหิตต่ำ กรณีนี้ต้องรีบนำตัวผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลโดยเร็ว ไม่ต้องรอจนถึงวันแพทย์นัด เพื่อบำบัดรักษาอาการ

ผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง อาจได้รับยาต่างๆมาบำบัดอาการมากกว่า 1 รายการ ซึ่งการใช้ยาชนิดต่างๆนั้น ต้องเป็นไปตามดุลยพินิจของแพทย์เท่านั้น

ยาอิโพรซาร์แทนยังมีข้อห้ามใช้ร่วมกับยาลดความดันโลหิตที่มีชื่อว่า “Aliskiren” ด้วยจะเพิ่มความเสี่ยงทำให้ไตทำงานผิดปกติ เกิดความดันโลหิตต่ำ และยังทำให้ระดับเกลือโปแตสเซียมในเลือดสูงขึ้นมาก ซึ่งกรณีที่รุนแรงมาก อาจเกิดอาการไตวาย กล้ามเนื้อเป็นอัมพาต และหัวใจหยุดเต้นตามมา

การใช้ยาอิโพรซาร์แทนให้เกิดประสิทธิผล จำเป็นต้องรับประทานยานี้ต่อเนื่องตามคำสั่งของแพทย์ ห้ามหยุดรับประทานหรือปรับขนาดรับประทานยานี้โดยมิได้ขอคำปรึกษาจากแพทย์ก่อน

ยาอิโพรซาร์แทน ยังสามารถทำให้มีอาการข้างเคียง(ผลข้างเคียง)ต่างๆได้มากมาย เช่น ต่อระบบเลือด โดยทำให้เกิดโลหิตจาง, ทำให้ตับผลิตเอนไซม์มากกว่าปกติ/ตับอักเสบ ทำให้มีอาการปวดกล้ามเนื้อ ฯลฯ หากพบอาการข้างเคียงที่ทำให้เกิดอุปสรรคต่อการดำรงชีวิตประจำวัน ผู้ป่วยสามารถเข้ามาปรึกษาแพทย์/มาโรงพยาบาลก่อนวันแพทย์นัดเพื่อขอคำปรึกษาจากแพทย์ เพื่อแพทย์พิจารณาปรับแนวทางการใช้ยานี้หรือปรับเปลี่ยนเป็นยาใหม่ที่มีความเหมาะสมยิ่งขึ้น

สูตรตำรับยาอิโพรซาร์แทนมี 2 แบบ คือ เป็นสูตรตำรับยาเดี่ยวโดยมีตัวยาสำคัญคือ ยาอิโพรซาร์แทนเพียงตัวเดียว และสูตรตำรับที่มีส่วนผสมของยาอิโพรซาร์แทนกับยาขับปัสสาวะอย่างเช่นยา Hydrochlorothiazide การที่จะเลือกใช้สูตรตำรับใดนั้น ต้องเป็นไปตามดุลยพินิจของแพทย์แต่ผู้เดียว

อิโพรซาร์แทนมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?

อิโพรซาร์แทน

ยาอิโพรซาร์แทนมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น

  • รักษาโรคความดันโลหิตสูง

อิโพรซาร์แทนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยาอิโพรซาร์แทนเป็นยาในกลุ่มแอนจิโอเทนซิน II รีเซพเตอร์ แอนตาโกนิสต์ ที่มีกลไกการออกฤทธิ์กับตัวรับ(Receptor)ที่อยู่ในผนังหลอดเลือดซึ่งถูกเรียกว่า AT1/Angiotensin1 receptor มีผลทำให้หลอดเลือดขยายตัวจนส่งผลลดความดันโลหิต นอกจากนี้ ยาอิโพรซาร์แทน ยังยับยั้งการหลั่งสาร Norepinephrine ซึ่งทำให้สนับสนุนการลดความดันโลหิตของร่างกายตามมาด้วย

อิโพรซาร์แทนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาอิโพรซาร์แทนมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น

  • ยาเม็ดชนิดรับประทาน ที่ประกอบด้วยตัวยา Eprosartan mesylate ขนาด 400 และ 600 มิลลิกรัม/เม็ด
  • ยาเม็ดชนิดรับประทานที่ผสมร่วมกับยาอื่น เช่น Eprosartan mesylate 600 มิลลิกรัม + Hydrochlorothiazide 12.5 มิลลิกรัม/เม็ด, Eprosartan mesylate 600 มิลลิกรัม + Hydrochlorothiazide 25 มิลลิกรัม/เม็ด

อิโพรซาร์แทนมีขนาดรับประทานอย่างไร?

ยาอิโพรซาร์แทน มีขนาดรับประทาน เช่น

  • ผู้ใหญ่: เริ่มต้นรับประทานยา 600 มิลลิกรัม วันละ1ครั้ง ขนาดรับประทานที่คงระดับการรักษาอยู่ที่ 400 – 800 มิลลิกรัม วันละ1ครั้ง หรือจะแบ่งรับประทานเป็น 2 ครั้ง/วันตามคำแนะนำของแพทย์ โดยรับประทานยานี้ ก่อน หรือ หลังอาหาร ก็ได้
  • เด็ก: ยังไม่มีข้อมูลทางคลินิกที่แน่ชัดถึง ขนาดยานี้ ผลข้างเคียง และความปลอดภัยในการใช้ยานี้ในเด็ก การใช้ยานี้ในเด็ก จึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีๆไป

อนึ่ง:

  • อาจต้องใช้ยานี้ต่อเนื่องนาน 2–3 สัปดาห์ จึงจะทำให้เกิดการลดความดันโลหิต จนมีความเป็นปกติอย่างสม่ำเสมอ

*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาอิโพรซาร์แทน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก/หายใจขัด
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ อย่างเช่น โรคหัวใจ โรคไต โรคเบาหวาน รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาอิโพรซาร์แทนอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาอิโพรซาร์แทน สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ห้ามเพิ่มขนาดรับประทานเป็น 2 เท่า ให้รับประทานยานี้ที่ขนาดปกติ

แต่อย่างไรก็ตาม เพื่อประสิทธิผลของการรักษา ควรรับประทานยาอิโพรซาร์แทน ให้ตรงเวลา

อิโพรซาร์แทนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาอิโพรซาร์แทน อาจก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์จากยา(ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกาย ดังนี้ เช่น

  • ผลต่อระบบการเผาผลาญพลังงานของร่างกาย: เช่น มีค่าไตรกลีเซอร์ไรด์ในเลือดสูง น้ำตาลในเลือดสูง มีโรคเกาต์เล่นงาน ระดับโปแตสเซียมในเลือดสูง
  • ผลต่อระบบประสาท: เช่น ปวดศีรษะ วิงเวียน เกิดไมเกรน ความรู้สึกสัมผัสเพี้ยน ง่วงนอน ตัวสั่น
  • ผลต่อระบบทางเดินหายใจ: เช่น ทางเดินหายใจส่วนบนติดเชื้อ/โรคติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบน ไอ คออักเสบ ไซนัสอักเสบ หลอดลมอักเสบ หายใจขัด/หายใจลำบาก
  • ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น ปวดท้อง ท้องเสียหรือท้องผูก อาหารไม่ย่อย ปากแห้ง อาเจียน ท้องอืด เหงือกอักเสบ กระเพาะอาหารอักเสบ คลื่นไส้
  • ผลต่อกล้ามเนื้อ: เช่น ปวดกล้ามเนื้อ ปวดหลัง เอ็นอักเสบ
  • ผลต่อสภาพจิตใจ: เช่น ซึมเศร้า วิตกกังวล กระสับกระส่าย นอนไม่หลับ
  • ผลต่อผิวหนัง: เช่น เกิดผื่นคัน มีเหงื่อออกมาก ผิวหนังบวม
  • ผลต่อระบบทางเดินปัสสาวะ: เช่น โรคติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ มีน้ำตาลในปัสสาวะ ปัสสาวะมีเลือดปน/ปัสสาวะเป็นเลือด พบโปรตีนปนมากับปัสสาวะ/โปรตีนในปัสสาวะ ปัสสาวะขัด
  • ผลต่อระบบภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของร่างกาย: เช่น ติดเชื้อไวรัสง่ายขึ้น มีอาการหูอักเสบ/หูติดเชื้อง่าย
  • ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด: เช่น ชีพจรเต้นผิดปกติ ความดันโลหิตต่ำ ใบหน้าแดง หัวใจขาดเลือด หัวใจเต้นช้าหรือไม่ก็เต้นเร็ว หัวใจเต้นผิดจังหวะ
  • ผลต่อระบบเลือด: เช่น เกิดภาวะโลหิตจาง เกิดภาวะฮีโมโกลบินต่ำ
  • ผลต่อตา: เช่น เกิดอาการตาพร่า เยื่อตาอักเสบ
  • ผลต่อตับ: เช่น มีภาวะเอนไซม์การทำงานของตับในเลือดสูง
  • ผลต่อไต: เช่น ค่าคริเอตินิน(Creatinine)ในเลือดเพิ่มขึ้น เกิดนิ่วในไต มีภาวะไตวาย

มีข้อควรระวังการใช้อิโพรซาร์แทนอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาอิโพรซาร์แทน เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
  • ห้ามปรับเปลี่ยนขนาดรับประทานเอง
  • ห้ามใช้ยานี้ในสตรีมีครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร และเด็ก
  • ห้ามใช้ร่วมกับยา Aliskiren ด้วยจะก่อให้เกิดปัญหาต่อการทำงานของไต อย่างรุนแรง เกิดความดันโลหิตต่ำ
  • ระวังการใช้ยากับคนชรา/ผู้สูงอายุ
  • ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วยที่ต้องรับประทานยาที่มีเกลือโปแตสเซียมเป็นส่วนประกอบ เช่นยา Potassium chloride
  • หมั่นตรวจวัดภาวะความดันโลหิตหลังการใช้ยาอย่างสม่ำเสมอตามคำแนะนำของ แพทย์/พยาบาล/เภสัชกร
  • การใช้ยาทุกตัวมีระยะเวลาของการรักษา หากพบว่าอาการไม่ดีขึ้นหลังจากการ ใช้ยาอิโพรซาร์แทน ควรรีบกลับไปปรึกษาแพทย์/มาโรงพยาบาลอีกครั้งโดยไม่ต้องรอถึงวันแพทย์นัด
  • ปฏิบัติตามคำแนะนำของ แพทย์/พยาบาล/เภสัชกร อย่างเคร่งครัด และมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามแพทย์นัดทุกครั้ง
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาอิโพรซาร์แทนด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ

อิโพรซาร์แทนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาอิโพรซาร์แทนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • ห้ามใช้ยาอิโพรซาร์แทนร่วมกับ ยาQuinapril ด้วยจะสร้างความเสียหายให้กับไต/ ไตอักเสบ ทำให้เกิดความดันโลหิตต่ำ และก่อใหเกิดภาวะเกลือโปแตสเซียมในเลือดสูงตามมา
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาอิโพรซาร์แทนร่วมกับ ยาPotassium iodide ด้วยจะทำให้เกลือโปแตสเซียมสะสมในร่างกายเพิ่มมากขึ้น
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาอิโพรซาร์แทนร่วมกับ ยาIbuprofen เพราะอาจทำให้ฤทธิ์ของการลดความดันโลหิตของยาอิโพรซาร์แทนด้อยประสิทธิภาพลง
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาอิโพรซาร์แทนร่วมกับยาที่ใช้สวนล้างลำไส้ อย่างเช่นยา Sodium biphosphate ด้วยอาจทำให้เกิดภาวะไตวายตามมา

ควรเก็บรักษาอิโพรซาร์แทนอย่างไร?

ควรเก็บยาอิโพรซาร์แทนในช่วงอุณหภูมิ 20–25 องศาเซลเซียส (Celsius) ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งตู้เย็น เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง และไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์

อิโพรซาร์แทนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาอิโพรซาร์แทน มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
TEVETEN (เทวิเทน)Abbott Laboratories

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Eprosartan[2017,Dec9]
  2. https://www.accessdata.fda.gov/drugsatfda_docs/label/2011/020738s026lbl.pdf[2017,Dec9]
  3. https://www.accessdata.fda.gov/drugsatfda_docs/label/2014/021268s019lbl.pdf[2017,Dec9]
  4. http://www.mims.com/thailand/drug/info/eprosartan/?type=brief&mtype=generic[2017,Dec9]
  5. https://www.drugs.com/cdi/eprosartan.html[2017,Dec9]
  6. https://www.drugs.com/dosage/eprosartan.html[2017,Dec9]
  7. https://www.drugs.com/drug-interactions/eprosartan-index.html?filter=3&generic_only=[2017,Dec9]