อิโทริคอกซิบ (Etoricoxib)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาอิโทริคอกซิบ (Etoricoxib) หรือยาชื่อการค้าที่คนรู้จัก คือ ‘อาร์โคเซีย (Arcoxia)’ เป็นยากลุ่มเอ็นเซด (NSAIDs) ถูกนำมารักษาอาการปวดที่มีสาเหตุต่างๆ เช่น โรคข้อรูมาตอยด์ ข้ออักเสบ โรคเกาต์ และอาการปวดเฉียบพลัน

จากการศึกษาด้านเภสัชจลนศาสตร์ (Pharmacokinetic, การศึกษาความเป็นไปของยาเมื่อ ยาเข้าสู่ร่างกาย) พบว่า อิโทริคอกซิบดูดซึมได้ดีจากทางเดินอาหารถึง 100% และจะจับตัวกับพลาสมาโปรตีนในกระแสเลือดประมาณ 90% ตับจะเป็นตัวเปลี่ยนโครงสร้างทางเคมีของยานี้ ร่าง กายต้องใช้เวลาประมาณ 22 ชั่วโมงในการกำจัดยาออกจากร่างกาย 50% โดยผ่านไปกับปัสสาวะประมาณ 70% และที่เหลือผ่านไปกับอุจจาระ

สำหรับประเทศไทยจัดจำหน่ายอิโทริคอกซิบในชื่อการค้าว่า Arcoxia แต่ประเทศเพื่อนบ้าน อย่างเช่น อินเดีย จะมีบริษัทผู้ผลิตมากมายเพื่อเป็นการรองรับความต้องการของประชากรที่มีมาก กว่าพันล้านคน ผนวกกับประสิทธิภาพการรักษาของยานี้สอดรับกับการตอบสนองของอาการโรคใน ตัวผู้ป่วย คณะกรรมการอาหารและยาของไทยจัดให้อิโทริคอกซิบอยู่ในหมวดยาควบคุมพิเศษ การ ใช้ยานี้จึงต้องเป็นไปตามคำสั่งของแพทย์แต่เพียงผู้เดียว

ยาอิโทริคอกซิบมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?

อิโทริคอกซิบ

ยาอิโทริคอกซิบมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น

  • รักษาอาการปวดจาก ข้ออักเสบ ข้อเสื่อม โรคข้อรูมาตอยด์ โรคเกาต์
  • รักษาอาการปวด หลังผ่าตัด

ยาอิโทริคอกซิบมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

อิโทริคอกซิบมีกลไกการออกฤทธิ์ โดยตัวยาจะยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ ชื่อไซโคล - ออกซิจิเนส (COX-2, เอนไซม์ที่เกี่ยวข้องกับการอักเสบและการเจ็บปวด) เป็นผลให้ร่างกายลดการสร้างสารโพรสตาแกลนดิน (Prostagladin) ที่เป็นสาเหตุของความเจ็บปวด และยานี้ยังมีผลข้าง เคียงต่อระบบทางเดินอาหารน้อย จึงถือเป็นข้อโดดเด่นของอิโทริคอกซิบ และใช้เป็นจุดขาย

ยาอิโทริคอกซิบมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาอิโทริคอกซิบมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น

  • ยาเม็ด ขนาดความแรง 30, 60, 90, และ 120 มิลลิกรัม/เม็ด

ยาอิโทริคอกซิบมีขนาดรับประทานอย่างไร?

ยาอิโทริคอกซิบมีขนาดรับประทาน เช่น

ก.สำหรับอาการปวดจากข้อเสื่อม (Osteoarthritis): เช่น

  • ผู้ใหญ่/อายุตั้งแต่16ปีขึ้นไป: รับประทาน 60 มิลลิกรัม วันละครั้ง

ข.สำหรับอาการปวดจากโรคข้อรูมาตอยด์ (Rheumatoid arthritis): เช่น

  • ผู้ใหญ่/อายุตั้งแต่16ปีขึ้นไป: รับประทาน 90 มิลลิกรัม วันละครั้ง

ค.สำหรับอาการปวดจากโรคเกาต์แบบเฉียบพลัน: เช่น

  • ผู้ใหญ่/อายุตั้งแต่16ปีขึ้นไป: รับประทาน 120 มิลลิกรัม วันละครั้ง และรักษาต่อเนื่องได้ต้องไม่เกิน 8 วัน

อนึ่ง:

  • สามารถรับประทานยานี้ ก่อน หรือ หลัง อาหารก็ได้
  • เด็ก (นิยามคำว่าเด็ก): ห้ามใช้ยานี้ในเด็ก และในผู้มีอายุต่ำกว่า 16 ปี

*****หมายเหตุ: ขนาดยา และระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ผู้รักษาได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษา แพทย์ หรือเภสัชกร ก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาอิโทริคอกซิบ ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก /หอบเหนื่อย
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาอิโทริคอกซิบอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาอิโทริคอกซิบ สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับ การรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า

ยาอิโทริคอกซิบมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาอิโทริคอกซิบ สามารถก่อให้เกิดผล/อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) เช่น

  • รู้สึกไม่สบายภายในท้อง
  • ส่งผลต่อการทำงานของหัวใจ (เช่น หัวใจเต้นผิดปกติ)
  • ปวดศีรษะ /ปวดหัว
  • วิงเวียน
  • สับสน
  • ซึมเศร้า
  • ง่วงนอน หรือ นอนไม่หลับ
  • เกิดผื่นแพ้แสงแดด
  • มีอาการคล้ายเป็นโรคเลือด (มีห้อเลือดตามเนื้อตัว)
  • ตัวบวม
  • ปากคอแห้ง
  • ความดันโลหิตสูง
  • การรับรสชาติอาหารเปลี่ยนไป
  • ช่องปากเป็นแผล
  • เจ็บหน้าอก
  • อ่อนเพลีย
  • มีอาการของกลุ่มอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่
  • เป็นพิษกับไต

มีข้อควรระวังการใช้ยาอิโทริคอกซิบอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาอิโทริคอกซิบ เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้แพ้ยานี้
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ที่มีโรคลำไส้อักเสบ
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ที่มี ภาวะหัวใจล้มเหลวขั้นรุนแรง ผู้ป่วยที่มีโรคหลอดเลือดสมอง (อัมพาต)
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ที่มีบาดแผลในช่องทางเดินอาหาร
  • ห้ามใช้ยานี้ ในหญิงที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร และในผู้ที่อายุต่ำกว่า 16 ปี
  • ระวังการใช้ยานี้กับหญิงตั้งครรภ์
  • ระวังการใช้ยานี้กับผู้ที่มีภาวะเลือดออกง่าย
  • ระวังการใช้ยานี้กับผู้ที่เคยมีประวัติด้วยโรคหัวใจล้มเหลว
  • ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วยที่มีอาการบวมของร่างกาย เนื่องจากเป็น โรคไต โรคตับ โรคหัวใจ
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง: ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาอิโทริคอกซิบด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตาม ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด เสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

ยาอิโทริคอกซิบมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาอิโทริคอกซิบมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • การรับประทานยาอิโทริคอกซิบ ร่วมกับยาต้านการแข็งตัวของเลือด เช่นยา Warfarin อาจทำให้เกิดภาวะเลือดออกง่าย หากไม่จำเป็นควรหลีกเลี่ยงการใช้ร่วมกัน
  • การรับประทานยาอิโทริคอกซิบ ร่วมกับยาแก้ปวดบางชนิด เช่นยา แอสไพริน อาจก่อให้เกิด ความเสี่ยงของแผลในกระเพาะอาหารและลำไส้ หากมีความจำเป็นต้องใช้ร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดรับประทานให้เหมาะสม
  • การรับประทานยาอิโทริคอกซิบ ร่วมกับยากลุ่มเอ็นเสด (NSAIDs)ตัวอื่น เช่นยา Ibuprofen, Diclofenac, Naproxen อาจเกิดความเสี่ยงของภาวะเลือดออกในเดินอาหาร ควรหลีกเลี่ยงไม่นำมาใช้ร่วมกัน
  • การรับประทานยาอิโทริคอกซิบ ร่วมกับยาบางกลุ่ม อาจทำให้ระดับยาในกระแสเลือดของ ยากลุ่มนั้นๆเพิ่มขึ้นจนก่อให้เกิดอาการข้างเคียง(ผลข้างเคียง)ตามมา แพทย์อาจต้องปรับขนาดรับประทานหรือให้หยุดการใช้ร่วมกัน ยากลุ่มดังกล่าว เช่น
    • ยาโรคหัวใจ เช่นยา Digoxin
    • ยาจิตเวช เช่นยา Lithium
    • ยารักษามะเร็ง/ยาเคมีบำบัด เช่นยา Methotrexate
    • ยาเม็ดคุมกำเนิด เช่นยา Estrogens

ควรเก็บรักษายาอิโทริคอกซิบอย่างไร?

ควรเก็บยาอิโทริคอกซิบ เช่น

  • เก็บยาที่อุณหภูมิต่ำกว่า 30 องศาเซลเซียส (Celsius)
  • เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/ แสงแดด และความชื้น
  • เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
  • ไม่ควรเก็บยาในห้องน้ำ

ยาอิโทริคอกซิบมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาอิโทริคอกซิบที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้าอื่นและบริษัทผู้ผลิต เช่น

ชื่อการค้า บริษัทผู้ผลิต
Arcoxia (อาร์โคเซีย) MSD
90-AIM (90-เอไอเอ็ม) Dhara
ALCOX (อัลคอกซ์) Altar
ALCOXIB (อัลคอกซิบ) Alkem (Bergen)
ASOGIX (แอโซจิกซ์) Wonder (Asrox)
AUTZIB (อัทซิบ) Genesis (Autus)
BIOCOZ (ไบโอคอส) Biochemix
BIOTROX (ไบโอทร็อกซ์) Biochemix (Mediconcept)
COX (คอกซ์) Race Pharma
COXET (โคเซท) Anthus
Etorica (อิโทริกา) Brown & Burk
Etoshine (อิโทชายน์) Sun Pharma
Nucoxia (นูโคเซีย) Zydus Cadila
Rofedol Plus (โรฟีดอล พลัส) Zifam India
Arcoxib (อาร์คอกซิบ) IBN Sina
Xibra-90 (ซีบรา-90) Aristopharma

บรรณานุกรม

1. http://en.wikipedia.org/wiki/Etoricoxib [2020,Dec26]
2. http://www.mims.com/Captcha/DefaultCaptcha?returnUrl=http%3a%2f%2fwww.mims.com%2fUSA%2fdrug%2finfo%2fetoricoxib%2f%3ftype%3dfull%26mtype%3dgeneric [2020,Dec26]
3. http://www.mims.com/Hongkong/Drug/search/?q=etoricoxib [2020,Dec26]
4. http://www.mims.com/Thailand/drug/search/?q=arcoxia [2020,Dec26]
5. http://www.mims.com/India/drug/search/?q=etoricoxib [2020,Dec26]
6. http://www.mims.com/Philippines/Drug/search/?q=etoricoxib [2020,Dec26]
7. http://www.netdoctor.co.uk/seniors-health/medicines/arcoxia.html [2020,Dec26]