อินฟลิซิแมบ (Infliximab)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาอินฟลิซิแมบ (Infliximab)อยู่ในกลุ่มยา TNF หรือ Tumor necrosis factor inhibiting immunosuppressants หรือTNF blocker (ยากดภูมิคุ้มกันต้านทานโรค) เป็นยาประเภทแอนติบอดี(Antibody)ที่มนุษย์สร้างขึ้น ทางคลินิกนำมาใช้บำบัดอาการของกลุ่มโรคภูมิคุ้มกันเล่นงานตนเอง/โรคภูมิต้านตนเอง(โรคออโตอิมมูน) เช่นโรค Ankylosing spondylitis, Crohn’s disease, Ulcerative colitis, โรคสะเก็ดเงิน, โรคข้ออักเสบเหตุจากโรคสะเก็ดเงิน, โรคข้อรูมาตอยด์ ยาชนิดนี้จะถูกทำลายในระบบทางเดินอาหารของร่างกาย จึงมีรูปแบบผลิตภัณฑ์ยาเป็นยาฉีดเท่านั้น

ทั้งนี้เมื่อยาอินฟลิซิแมบ เข้าสู่กระแสเลือด ร่างกายต้องใช้เวลาประมาณ 9.5 วันขึ้นไปในการกำจัดยาอินฟลิซิแมบออกจากกระแสเลือด โดยกลไกการออกฤทธิ์ของยาอินฟลิซิแมบจะเกิดขึ้นโดยตัวยาจะเข้ารวมตัวกับสารโปรตีนประเภทหนึ่งในร่างกายที่เรียกว่า Cytokine ชนิดที่มีชื่อเฉพาะว่า Tumor necrosis factor alpha (TNF-alpha) ทำให้สารโปรตีนดังกล่าวไม่สามารถเข้ารวมตัวกับตัวรับ(Receptor)ภายในเซลล์ต่างๆได้ ส่งผลให้ระบบภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของร่างกายหยุดต่อต้าน หรือหยุดทำลายเซลล์ของร่างกาย จึงทำให้อาการป่วยดีขึ้น

มีข้อห้ามใช้ยาอินฟลิซิแมบกับผู้ป่วยบางกลุ่มที่ผู้บริโภคควรทราบไว้ เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้ หรือแพ้ส่วนประกอบของยานี้
  • เป็นผู้ป่วยด้วยโรคหัวใจล้มเหลวในระดับกลางจนถึงขั้นรุนแรง
  • มีภาวะการติดเชื้อระดับรุนแรง
  • เป็นผู้ที่ใช้ยาเหล่านี้อยู่ เช่น Abatacept, Adalimumab, Anakinra, Canakinumab, Certolizumab, Etanercept, Rilonacept, Rituximab, Tocilizumab, Tofacitinib

นอกจากนี้ยังมีเงื่อนไขทางสุขภาพอื่นๆที่ผู้ป่วยต้องแจ้งแพทย์ พยาบาล เภสัชกร ก่อนที่จะได้รับยาอินฟลิซิแมบนี้ เช่น

  • อยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือภาวะที่ให้นมบุตร
  • ป่วยด้วยโรคติดเชื้อต่างๆอยู่ก่อน
  • เป็นผู้ป่วยที่เพิ่งได้รับการผ่าตัดมาใหม่ๆ
  • เป็นผู้ที่มีปัญหาด้านภูมิคุ้มกันต้านทานโรค มีปัญหาด้านระบบเลือด ด้านไขกระดูก หรือเป็นผู้ป่วยมะเร็งต่อมน้ำเหลืองและมะเร็งชนิดต่างๆ
  • ผู้ป่วยที่ใช้ยาอินฟลิซิแมบ อาจมีความเสี่ยงของการติดเชื้อที่รุนแรงบางอย่าง เช่นจาก เชื้อแบคทีเรีย เชื้อไวรัส เชื้อรา รวมถึงการติดเชื้อวัณโรค ดังนั้นก่อนที่จะเริ่มต้นใช้ยาอินฟลิซิแมบ แพทย์อาจจะขอตรวจทดสอบว่าผู้ป่วยมีแนวโน้มที่จะเป็นวัณโรคหรือไม่

นอกจากนี้ การใช้ยาอินฟลิซิแมบต่อเนื่องเป็นเวลานาน ยังก่อให้เกิดความเสี่ยงที่จะเป็นมะเร็งได้ เช่น มะเร็งต่อมน้ำเหลือง มะเร็งผิวหนัง ผู้ป่วยบางรายหลังได้รับยานี้ก็เกิดอาการของโรคสะเก็ดเงินขึ้นมาใหม่ หรือไม่ก็มีอาการของโรคสะเก็ดเงินที่รุนแรงมากกว่าเดิม

ส่วนปัญหาที่เกิดกับการทำงานของตับอันเนื่องมาจากยาอินฟลิซิแมบ ยังพบได้น้อย อย่างไรก็ตามขณะที่มีการใช้ยานี้ แพทย์จะนัดผู้ป่วยมาตรวจเลือดเป็นระยะๆ เพื่อทดสอบว่า มีการติดเชื้อหรือไม่ มีปัญหาการทำงานของตับหรือไม่ รวมถึงปริมาณเม็ดเลือดของร่างกายยังเป็นปกติดีหรือไม่ หรือ เกิดภาวะแทรกซ้อน(ผลข้างเคียง)อื่นใดอีกหรือไม่

คณะกรรมการอาหารและยาของไทยได้จัดให้ยาอินฟลิซิแมบเป็นยาควบคุมพิเศษที่จะต้องมีใบสั่งยาจากแพทย์กำกับมาด้วยเท่านั้นจึงจะซื้อหามาใช้ได้ และหากมีข้อสงสัยเพิ่มเติมของการใช้ยานี้ ควรสอบถามได้จากแพทย์ผู้รักษา หรือจากเภสัชกรโดยทั่วไป

อินฟลิซิแมบมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?

อินฟลิซิแมบ

ยาอินฟลิซิแมบมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น

  • รักษาอาการ โรคข้อรูมาตอยด์, โรคCrohn’s disease, โรค Ulcerative colitis, โรค Ankylosing spondylitis, โรคสะเก็ดเงิน

อินฟลิซิแมบมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยาอินฟลิซิแมบมีกลไกการออกฤทธิ์โดย ตัวยาเป็นยาประเภทแอนติบอดี(Antibody)ที่จะออกฤทธิ์โดยทำการรวมตัวกับสารโปรตีนในเซลล์ร่างกายที่มีชื่อว่า TNF-alpha ทำให้ TNF-alpha หมดความสามารถที่จะเข้ารวมตัวกับตัวรับ มีผลให้กระบวนการทำงานของเม็ดเลือดขาวที่กระตุ้นให้เกิดการอักเสบของเซลล์/เนื้อเยื่อต่างๆในร่างกายหยุดชะงัก และทำให้อาการป่วยทุเลาลง

อินฟลิซิแมบมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาอินฟลิซิแมบมีรูปแบบการจัดจำหน่ายเป็น ยาฉีดขนาด 100 มิลลิกรัม/ขวด

อินฟลิซิแมบมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?

ขอยกตัวอย่าง ขนาดการบริหารยา/ใช้ยาอินฟลิซิแมบในบางโรค ดังนี้ เช่น

ก.สำหรับรักษาอาการโรคข้อรูมาตอยด์:

  • ผู้ใหญ่: กรณีใช้ร่วมกับยา Methotrexate ให้หยดยาอินฟลิซิแมบเข้าหลอดเลือดดำครั้งแรก ขนาด 3 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม, ให้ยานี้อีกครั้งในขนาดเดิมในสัปดาห์ที่ 2 และ 6 จากนั้นอาจให้ยานี้ต่ออีกทุกๆ 8 สัปดาห์ ทั้งนี้แพทย์อาจปรับขนาดการใช้ยานี้ทุกๆ 4 สัปดาห์โดยพิจารณาจากการตอบสนองต่อยานี้ของผู้ป่วย ซึ่งขนาดการใช้ยานี้สูงสุดไม่เกิน 7.5 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ทุก 8 สัปดาห์

ข.สำหรับรักษาอาการ Ulcerative colitis:

  • ผู้ใหญ่: เริ่มต้นหยดยาเข้าหลอดเลือดดำครั้งแรกขนาด 5 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1กิโลกรัม ให้ยาซ้ำอีกครั้งในขนาดเดิมในสัปดาห์ที่ 2 และสัปดาห์ที่ 6 การให้ยาครั้งถัดไปจะเป็นทุกๆ 8 สัปดาห์ กรณีให้ยาไป 3 ครั้งแล้วอาการไม่ดีขึ้น แพทย์จะพิจารณาหยุดการใช้ยานี้ และ จะปรับแนวทางการรักษาใหม่

ค.สำหรับรักษาอาการ Ankylosing spondylitis:

  • ผู้ใหญ่: เริ่มต้นหยดยาเข้าหลอดเลือดดำ ขนาด 5 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ให้ยาซ้ำอีกครั้ง ขนาดเดิม ในสัปดาห์ที่ 2 และสัปดาห์ที่ 6 จากนั้นให้ยาซ้ำทุกๆ 6 – 8 สัปดาห์ แพทย์จะพิจารณาหยุดการรักษาหากใช้ยา 2 ครั้งแล้วอาการผู้ป่วยไม่ดีขึ้น และ จะปรับแนวทางการรักษาใหม่

*อนึ่ง:

  • การให้ยานี้แต่ละครั้ง ควรใช้เวลาหยดยานานประมาณ 2 ชั่วโมงขึ้นไป
  • การเตรียมยาเพื่อให้ทางหลอดเลือดดำ ต้องผสมน้ำกลั่นปราศจากเชื้อขนาด10 มิลลิลิตร เพื่อให้ได้สารละลายยาเป็น 10 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร จากนั้น นำสารละลายยานี้ไปเจือจางกับสารละลายน้ำเกลือที่มีความเข้มข้น 0.9% โดยให้มีปริมาตรรวม 250 มิลลิลิตร
  • มาพบแพทย์เพื่อรับยาตามนัดทุกครั้ง
  • เด็ก: การใช้ยานี้กับเด็ก ต้องอยู่ในดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีๆไป

*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียง ตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาอินฟลิซิแมบ ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาอินฟลิซิแมบอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนม หรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมมารับยาควรทำอย่างไร?

เพื่อประสิทธิผลของการรักษาควรมารับยาอินฟลิซิแมบที่โรงพยาบาลตรงเวลาตามแพทย์นัด แต่หากลืมมารับยานี้ ควรรีบแจ้งให้แพทย์/พยาบาลผู้รักษาดูแลผู้ป่วย ทราบโดยเร็ว เพื่อการนัดหมายการให้ยาใหม่

อินฟลิซิแมบมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาอินฟลิซิแมบอาจก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์(ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกาย ดังนี้ เช่น

  • ผลต่อระบบภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของร่างกาย: เช่น อาจทำให้มีการติดเชื้อไวรัส เช่น ไข้หวัดใหญ่ การติดเชื้อเริม, การติดเชื้อแบคทีเรีย เช่น การติดเชื้อในกระแสเลือด(ภาวะพิษเหตุติดเชื้อ), การติดเชื้อที่ผิวหนัง, อาจติดเชื้อวัณโรค, และติดเชื้อราชนิดแคนดิดา(Candida), เกิดภาวะช่องคลอดอักเสบ, เยื่อหุ้มสมองอักเสบ
  • ผลต่อระบบทางเดินหายใจ: เช่น เกิดการติดเชื้อที่ระบบทางเดินหายใจส่วนบนและส่วนล่าง ไซนัสอักเสบ คอหอยอักเสบ มีอาการไอ หลอดลมอักเสบ
  • ผลต่อระบบประสาท: เช่น ปวดศีรษะ วิงเวียน ความรู้สึกสัมผัสเพี้ยน อาจพบอาการชัก
  • ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น คลื่นไส้ ปวดท้อง ท้องเสียหรือท้องผูก ท้องอืด มีเลือดออกในทางเดินอาหาร กรดไหลย้อน อาเจียน ตับอ่อนอักเสบ
  • ผลต่อหัวใจ: เช่น หัวใจเต้นเร็วหรือช้าผิดปกติ เจ็บหน้าอก ชีพจรเต้นผิดปกติ หัวใจล้มเหลว ตัวเขียวคล้ำ ระบบการไหลเวียนเลือดล้มเหลว หลอดเลือดหดเกร็งตัว หัวใจหยุดเต้น หัวใจเต้นผิดจังหวะ
  • ผลต่อผิวหนัง: เช่น มีผื่นคัน ลมพิษ ผิวแห้ง Stevens-Johnson syndrome
  • ผลต่อตับ: เช่น ตับทำงานผิดปกติ/ ตับอักเสบ ตัวเหลืองตาเหลือง
  • ผลต่อระบบเลือด: เช่น เกิดภาวะ Neutropenia (เม็ดเลือดขาวชนิด Neutrophilต่ำ), Leucopenia(เม็ดเลือดข่าวทุกชนิดต่ำ), Thrombocytopenia(เกล็ดเลือดต่ำ) Lymphopenia(เม็ดเลือดขาวชนิดLymphocyte ต่ำ), Thrombophlebitis(หลอดเลือดดำอักเสบ), ก้อนเลือดขัง(Hematoma)ในเนื้อเยื่อต่างๆ
  • ผลต่อกล้ามเนื้อ: เช่น มีอาการปวดกล้ามเนื้อ ปวดข้อ ปวดหลัง
  • ผลต่อไต: เช่น ไตล้มเหลว เกิดนิ่วในไต
  • ผลต่อระบบการเผาผลาญพลังงานของร่างกาย: เช่น มีภาวะขาดน้ำเกิดขึ้น
  • ผลต่อตา: เช่น เยื่อตาอักเสบ กระจกตาอักเสบ เป็นกุ้งยิง
  • ผลต่อสภาวะทางจิตใจ: เช่น ซึมเศร้า นอนไม่หลับ รู้สึกสับสน กระสับกระส่าย

มีข้อควรระวังการใช้อินฟลิซิแมบอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาอินฟลิซิแมบ เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยด้วยโรคหัวใจล้มเหลว ผู้ที่อยู่ในภาวะติดเชื้อ
  • การใช้ยานี้กับสตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร เด็ก และผู้สูงอายุ ต้องอยู่ภายใต้คำสั่งแพทย์ผู้รักษาเท่านั้น
  • แจ้งแพทย์ พยาบาล เภสัชกร ทุกครั้งว่ามีการเจ็บป่วย ติดเชื้อ หรือมียาอื่นใดที่ใช้อยู่ก่อน รวมถึงผู้ที่เพิ่งได้รับการฉีดวัคซีนต่างๆ
  • ระหว่างที่ใช้ยานี้ ควรมาตรวจเลือดตามแพทย์นัดทุกครั้ง
  • หากพบอาการป่วยหรือมีการติดเชื้อต่างๆเกิดขึ้น ให้รีบแจ้งแพทย์ พยาบาล/มาโรงพยาบาลโดยเร็ว
  • ระหว่างการใช้ยานี้ หากพบอาการอึดอัด/หายใจไม่ออก/หายใจลำบาก มีผื่นคันขึ้นเต็มตัว ซึ่งเป็นอาการแพ้ยา ต้องรีบแจ้งแพทย์/พยาบาลโดยเร็ว ทันที/ฉุกเฉิน
  • ปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของแพทย์ พยาบาล เภสัชกร อย่างเคร่งครัด
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาอินฟลิซิแมบด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด และสมุนไพร ต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บhaamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกร ประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ

อินฟลิซิแมบมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาอินฟลิซิแมบมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • การใช้ยาอินฟลิซิแมบร่วมกับยา Methyprednisolone, Hydrocortisone, Zidovudine, อาจทำให้มีการติดเชื้อในระดับรุนแรงตามมา หากไม่มีความจำเป็นใดๆ ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาอินฟลิซิแมบร่วมกับวัคซีนบีซีจี (BCG) ด้วยมีความเสี่ยงที่จะทำให้ผู้ป่วยติดเชื้อวัณโรคจากวัคซีนนี้
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาอินฟลิซิแมบร่วมกับยา Clozapine ด้วยจะส่งผลให้ยาClozapine ทำให้ปริมาณเม็ดเลือดขาวในร่างกายต่ำลงได้มาก รวมถึงเกิดผลกระทบ/ผลข้างเคียงกดการทำงานของไขกระดูก
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาอินฟลิซิแมบร่วมกับยา Leflunomide ด้วยอาจทำให้ผู้ป่วยได้รับผลข้างเคียงจากยาอินฟลิซิแมบเพิ่มมากขึ้น และส่งผลต่อการกดทำงานของไขกระดูกมากขึ้นตามมา

ควรเก็บรักษาอินฟลิซิแมบอย่างไร?

ควรเก็บยาอินฟลิซิแมบในช่วงอุณหภูมิ 2 – 8 องศาเซลเซียส(Celsius) ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงสว่าง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น และเก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง

อินฟลิซิแมบมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาอินฟลิซิแมบที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต เช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Remicade (เรมิเคด) Janssen-Cilag

อนึ่ง ยาชื่อการค้าอื่นของยานี้ในต่างประเทศ เช่น Inflectra

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Infliximab [2016,Sept3]
  2. https://www.drugs.com/cdi/infliximab.html [2016,Sept3]
  3. http://www.mims.com/thailand/drug/info/remicade/?type=brief [2016,Sept3]
  4. http://www.mims.com/thailand/drug/info/infliximab/?type=brief&mtype=generic [2016,Sept3]
  5. https://www.drugs.com/sfx/infliximab-side-effects.html [2016,Sept3]
  6. https://www.drugs.com/drug-interactions/infliximab-index.html?filter=3&generic_only= [2016,Sept3]