อินดาคาเทอรอล (Indacaterol)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาอินดาคาเทอรอล(Indacaterol หรือ Indacaterol maleate) เป็นยาในกลุ่มเบต้า2 แอดริเนอร์จิก อโกนิสท์(Beta 2 adrenergic agonist) ที่ออกฤทธิ์ได้ยาวนาน (Ultra-long-acting beta2 agonists) ถูกพัฒนาขึ้นโดยบริษัทยาNovartis ทางคลินิก ได้นำมาใช้เป็นยาบำบัดอาการโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง(COPD) โดยยาอินดาคาเทอรอลจะทำหน้าที่บรรเทาอาการและชะลอพัฒนาการของโรค นอกจากนี้ แพทย์จะให้คำแนะนำกับผู้ป่วยเพื่อหลีกเลี่ยง ปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรค เช่น หยุดการสูบบุหรี่ เลือกอยู่ในสถานที่ที่ไม่มีมลพิษทางอากาศ รวมถึงการปฏิบัติตัวอย่างเหมาะสม อย่างเช่น การออกกำลังกายสม่ำเสมอ การพักผ่อน และการรับประทานอาหารมีประโยชน์5หมู่ให้ครบถ้วนในทุกวัน ปัจจุบัน ยาอินดาคาเทอรอลมีจำหน่ายและเป็นที่ยอมรับอย่างแพร่หลายในแถบยุโรปตลอดจนอเมริกาและเอเชีย

ยาอินดาคาเทอรอล มีรูปแบบเภสัชภัณฑ์เป็นยาสูดพ่นทางปาก(ยาพ่นปาก) เพื่อให้ตัวยาถูกนำส่งไปยังหลอดลมและทำให้มีการขยายตัวของหลอดลม ส่งผลให้อากาศไหลเวียนเข้าถุงลมในปอดได้สะดวกมากขึ้น นอกจากประสิทธิภาพทางการรักษาแล้ว จุดเด่นของยาอินดาคาเทอรอลยังเป็นเรื่องวิธีการใช้งาน ด้วยผงยาจะถูกบรรจุในแคปซูล การพ่นยาแต่ละครั้งต้องนำแคปซูลใส่อุปกรณ์สูดพ่น จากนั้นต้องกดปุ่มหรือก้านกระแทกให้แคปซูลแตกออกก่อน แล้วจึงสูดพ่นเอาผงยาเข้าปอดจนหมด ดังนั้นข้อดีของเภสัชภัณฑ์ดังกล่าว คือ ช่วยใช้การสูดพ่นแต่ละครั้งได้ปริมาณยาที่ค่อนข้างคงที่

สิ่งสำคัญที่แพทย์และเภสัชกร ย้ำกับผู้ที่ใช้ยานี้/ผู้ป่วย คือ ห้ามรับประทานแคปซูลยานี้ เพราะแคปซูลยานี้ถูกออกแบบมาเพื่อใช้กับอุปกรณ์สูดพ่นเท่านั้น โดยหลังการสูดพ่น ตัวยานี้จะเริ่มออกฤทธิ์ภายในประมาณ 5 นาที ยาอินดาคาเทอรอลมีช่วงเวลาของการออกฤทธิ์นานได้ถึง 24 ชั่วโมง ตัวยานี้สามารถดูดซึมจากทางเดินหายใจเข้าสู่กระแสเลือดได้ประมาณ 43% จากนั้นยาอินดาคาเทอรอลในกระแสเลือดจะเข้ารวมตัวกับพลาสมาโปรตีนได้ถึงประมาณ 95% ตัวยานี้จะถูกเอนไซม์ในตับที่เรียกว่า CYP3A4 (Cytochrome P450 3A4), CYP1A1(Cytochrome P450 1A1), และ CYP2D6(Cytochrome P450 2D6) ทำลายโครงสร้างทางเคมี ซึ่งร่างกายต้องใช้เวลาประมาณ 40–56 ชั่วโมงเพื่อกำจัดยานี้ออกจากกระแสเลือด โดยผ่านทิ้งไปกับอุจจาระ และมียาเพียงส่วนน้อยที่ถูกขับออกไปกับปัสสาวะ

ยังมีข้อห้ามใช้ ข้อควรระวัง รวมถึงวิธีการใช้อุปกรณ์พ่นยา ของยา อินดาคาเทอรอลที่ผู้ป่วยควรทราบดังนี้ เช่น

  • ต้องไม่ใช้กับผู้ที่มีประวัติแพ้ยาอินดาคาเทอรอล
  • ห้ามใช้ยานี้ขณะที่ผู้ป่วยมีอาการหอบหืด หรือขณะที่มีอาการแน่นหน้าอก/หายใจลำบาก/หายใจขัด ไอ
  • ห้ามใช้ร่วมกับยารักษาโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังที่ออกฤทธิ์นานตัวอื่นๆ
  • การใช้ยานี้กับสตรีมีครรภ์/ตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร จะต้องเป็นไปตามดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษาเท่านั้น
  • ยานี้สามารถทำให้อาการของโรคบางประเภทรุนแรงขึ้นได้ ดังนั้นควรหลีกเลี่ยงการใช้ยานี้กับผู้ที่มีโรคประจำตัวดังต่อไปนี้ เช่น ต่อมไทรอยด์เป็นพิษ โรคลมชัก โรคเบาหวาน ผู้ที่มีภาวะเกลือโปแตสเซียม/โพแทสเซียมในเลือดต่ำ โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ โรคความดันโลหิตสูง
  • แคปซูลยานี้ที่จะนำมาสูดพ่น ต้องอยู่ในแผงยาซึ่งเป็นอลูมิเนียมฟอยด์ที่ป้องกันความชื้น ห้ามใช้แคปซูลที่ถูกแกะออกจากแผงยาและทิ้งไว้เป็นเวลานาน ซึ่งกรณีเช่นนี้ให้ทิ้งทำลายแคปซูลนั้น
  • ใส่แคปซูลยานี้ลงในอุปกรณ์สูดพ่น กดปุ่มของอุปกรณ์สูดพ่นจนได้ยินเสียงดังคลิ้กที่แสดงว่าตัวยาถูกปลดปล่อยจากแคปซูลแล้ว
  • การสูดพ่นยานี้ ผู้ป่วยจะต้องผ่อนลมหายใจออก กลั้นหายใจเล็กน้อย อมปากท่อของอุปกรณ์สูดพ่น แล้วสูดหายใจทางปาก เพื่อดึงผงยาออกจากอุปกรณ์ ห้ามมิให้พ่นลมหายใจใส่อุปกรณ์เด็ดขาด หลังจากนั้น นำอุปกรณ์พ่นยาออกจากปาก แล้วกลั้นหายใจไว้นานเท่าที่ทำได้
  • การสูดพ่นยานี้ ควรต้องทำถึง 2 ครั้งต่อ 1 แคปซูล เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับยาจนหมดแคปซูล หรือตามคำแนะนำของแพทย์/พยาบาล
  • ทิ้งเปลือกแคปซูลออกจากอุปกรณ์พ่นยา ทำความสะอาดอุปกรณ์ฯตามแพทย์/พยาบาล/เดอกสารกำกับยาแนะนำ และเก็บไว้ในสถานที่ที่แห้ง
  • ต้องใช้ยานี้ต่อเนื่อง ห้ามหยุดการใช้ยาด้วยตนเอง นอกจากจะมีคำสั่งแพทย์
  • ยาอินดาคาเทอรอลไม่สามารถระงับอาการของโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังได้ภายในทันทีทันใด กรณีที่ผู้ป่วยเกิดอาการกำเริบของโรค ทางคลินิก แพทย์จะแนะนำให้ใช้ยาระงับอาการอย่างเฉียบพลัน เช่น Albuterol ซึ่งผู้ป่วยควรมีติดตัวเพื่อใช้ในกรณี ฉุกเฉิน
  • หากอาการของโรคปอดอุดกั้นไม่ดีขึ้น ถึงแม้จะใช้ยาไปสักระยะหนึ่งแล้ว ผู้ป่วยควรกลับมาขอคำปรึกษาจากแพทย์/มาโรงพยาบาลก่อนแพทย์นัด
  • ห้ามใช้ยานี้กับเด็ก ด้วยยาอินดาคาเทอรอลถูกออกแบบมาสำหรับผู้ใหญ่ ทางคลินิกยังไม่มีข้อมูลยืนยันถึงประสิทธิภาพ และผลข้างเคียงการใช้ยานี้กับเด็ก

ผู้ที่ได้รับยาอินดาคาเทอรอล อาจมีอาการข้างเคียง(ผลข้างเคียง)บางอย่าง เช่น ไอ ปวดศีรษะ คลื่นไส้ กระสับกระส่าย เป็นต้น

*สำหรับผู้ที่ใช้ยาอินดาคาเทอรอล อย่างขาดความระมัดระวังจนเป็นเหตุให้ได้รับยานี้เกินขนาด จะก่อให้เกิดอาการ แน่นหน้าอก/หายใจลำบาก เป็นลม หัวใจเต้นผิดจังหวะ เกิดลมชัก วิงเวียน ปากแห้ง ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ อ่อนแรง/เหนื่อย เป็นตะคริว คลื่นไส้ ตัวสั่น นอนไม่หลับ กระหายน้ำ หิวอาหาร ซึ่งหากพบอาการเหล่านี้ ควรรีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน

ด้วยยาอินดาคาเทอรอล เป็นยาประเภทยาควบคุมพิเศษ เราจึงพบเห็นการใช้ยานี้ได้แต่ในสถานพยาบาล และการใช้ยาต้องเป็นไปตามคำสั่งของแพทย์แต่เพียงผู้เดียว

อินดาคาเทอรอลมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?

อินดาคาเทอรอล

ยาอินดาคาเทอรอลมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น

  • บำบัดรักษาอาการโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง (COPD)

อินดาคาเทอรอลมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

กลไกการออกฤทธิ์ของยาอินดาคาเทอรอลคือ ตัวยาเป็นยาประเภทเบต้า2 แอดริเนอร์จิก อโกนิสท์ สามารถออกฤทธิ์ต่อกล้ามเนื้อของผนังหลอดลม โดยทำให้เกิดการคลายตัวของกล้ามเนื้อนั้น ส่งผลให้หลอดลมขยายและกว้างขึ้น อากาศจึงไหลเวียนเข้าปอด/ถุงลมได้สะดวก จนเป็นผลให้อาการโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังทุเลาลงได้ตามสรรพคุณ

อินดาคาเทอรอลมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาอินดาคาเทอรอลมีรูปแบบการจัดจำหน่ายเป็น

  • ยาผง สำหรับสูดพ่นทางปาก(ยาพ่นปาก) บรรจุอยู่ในแคปซูลที่ประกอบด้วยตัวยา Indacaterol maleate ขนาด 150 และ 300 ไมโครกรัม/แคปซูล

อินดาคาเทอรอลมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?

ยาอินดาคาเทอรอลมีขนาดการบริหารยา/ใช้ยา เช่น

  • ผู้ใหญ่: สูดพ่นยาทางปาก ขนาด 150 ไมโครกรัม/แคปซูล วันละ 1 ครั้ง ขนาดการใช้ยาสูงสุดไม่เกิน 300 ไมโครกรัม/ครั้ง/วัน
  • เด็ก: ห้ามใช้ยานี้กับเด็ก ด้วยยังไม่มีข้อมูลทางคลินิกที่แน่ชัดถึงประสิทธิผลและผลข้างเคียงของยานี้ในเด็ก

อนึ่ง:

  • ห้ามรับประทานยาแคปซูลอินดาคาเทอรอล ด้วยเป็นยาสำหรับสูดพ่นทางปากเท่านั้น
  • ใช้ยานี้ตรงตามขนาดและเวลาในแต่ละวัน และต้องใช้ยาต่อเนื่อง ห้ามหยุดใช้ยาเอง
  • ระหว่างใช้ยานี้ ควรต้องเฝ้าระวังเรื่อง น้ำตาลและเกลือโปแตสเซียมในกระแสเลือด ความดันโลหิต รวมถึงอัตราการเต้นของหัวใจและผลการกระตุ้นประสาท(ยากระตุ้นประสาทส่วนกลาง)ของยานี้ตามแพทย์ พยาบาล แนะนำ

*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาอินดาคาเทอรอล ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ อย่างเช่น โรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง โรคความดันโลหิตต่ำ โรคตับ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาอินดาคาเทอรอล อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมพ่นยาควรทำอย่างไร?

หากลืมพ่นยาอินดาคาเทอรอล สามารถพ่นยาทันทีเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการใช้ยาในครั้งถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่าให้ใช้ยาในขนาดปกติเท่านั้น

อย่างไรก็ดี การใช้ยาอินดาคาเทอรอลอย่างมีประสิทธิผล จะต้องใช้ยาตรงตามคำสั่งแพทย์เสมอ

อินดาคาเทอรอลมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาอินดาคาเทอรอลสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์จากยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกาย ดังนี้ เช่น

  • ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น คลื่นไส้
  • ผลต่อระบบประสาท: เช่น ปวดศีรษะ วิงเวียน
  • ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด: เช่น มือ-เท้าบวม หัวใจเต้นเร็ว ชีพจรเต้นผิดปกติ
  • ผลต่อผิวหนัง: เช่น เกิดผื่นคัน
  • ผลต่อระบบเผาผลาญพลังงานของร่างกาย: เช่น น้ำตาลในเลือดสูง
  • ผลต่อกล้ามเนื้อ: เช่น ปวดกล้ามเนื้อ
  • ผลต่อระบบทางเดินหายใจ: เช่น ไอ ทางเดินหายใจอักเสบ/โรคติดเชื้อทางเดินหายใจ ปวดในช่องทางเดินหายใจ ไซนัสอักเสบ

มีข้อควรระวังการใช้อินดาคาเทอรอลอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาอินดาคาเทอรอล เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่มีประวัติแพ้ยานี้
  • ห้ามใช้ร่วมกับยารักษาโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังตัวอื่น โดยไม่ได้ขอคำปรึกษาจากแพทย์ก่อน
  • ห้ามใช้ยาขณะที่ผู้ป่วยมีอาการ หอบ ไอ เป็นลมชัก ยานี้ใช้เพื่อบำบัดและ ป้องกันการเกิดอาการโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง แต่ไม่สามารถระงับอาการแบบเฉียบพลันได้
  • ห้ามใช้ยานี้กับสตรีมีครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร และเด็ก โดยไม่มีคำสั่ง จากแพทย์
  • ห้ามปรับขนาดการพ่นยานี้ด้วยตนเอง
  • ห้ามใช้ยาที่มีสภาพเปลี่ยนไปจากเดิม เช่น แคปซูลแตก หรือเปียกชื้น
  • พ่นยานี้ต่อเนื่องตรงตามขนาดและเวลาในแต่ละวันตามแพทย์สั่ง
  • มาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามแพทย์นัดทุกครั้ง เพื่อรับการตรวจร่างกายและดูความก้าวหน้าของการรักษาจากแพทย์
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาอินดาคาเทอรอลด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ

อินดาคาเทอรอลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาอินดาคาเทอรอลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาอินดาคาเทอรอลร่วมกับยา Corticosteroids, ยาขับปัสสาวะ และอนุพันธ์ของยากลุ่มแซนทีน (Xanthine derivatives) ด้วยจะทำให้ร่างกายผู้ป่วยมีภาวะเกลือโปแตสเซียม/โพแทสเซียมในเลือดต่ำ
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาอินดาคาเทอรอลร่วมกับยากลุ่ม TCAs, MAOIs, ด้วยจะก่อให้เกิดผลกระทบ(ผลข้างเคียง)ต่อการทำงานของระบบหัวใจและหลอดเลือดตามมา
  • ห้ามใช้ยาอินดาคาเทอรอลร่วมกับยา Carteolol, Nadolol, Sotalol ด้วยจะทำให้ประสิทธิภาพในการรักษาของยาทุกตัวด้อยลงไป รวมถึงยาอินดาคาเทอรอลด้วย
  • ห้ามใช้ยาอินดาคาเทอรอลร่วมกับยา Pseudoephedrine ด้วยจะทำให้ผู้ป่วยได้รับผลข้างเคียงจากยาอินดาคาเทอรอลมากขึ้น เช่น หัวใจเต้นเร็วขึ้น ความดันโลหิตสูง

ควรเก็บรักษาอินดาคาเทอรอลอย่างไร?

เก็บยาอินดาคาเทอรอลภายใต้อุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส(Celsius) ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์ และเก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น

อินดาคาเทอรอลมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาอินดาคาเทอรอลที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Onbrez Breezhaler (ออนเบรซ บรีซเฮเลอร์)Novartis
Ultibro Breezhaler (อัลทิโบร บรีซเฮเลอร์)Novartis

อนึ่ง ยาชื่อการค้าอื่นชองยานี้ที่จำหน่ายในต่างประเทศ เช่น Arcapta

บรรณานุกรม

  1. https://www.drugs.com/cdi/indacaterol.html[2017,March25]
  2. https://en.wikipedia.org/wiki/Indacaterol[2017,March25]
  3. http://www.mims.com/thailand/drug/info/indacaterol/?type=brief&mtype=generic[2017,March25]
  4. https://www.medicines.org.uk/emc/PIL.23261.latest.pdf[2017,March25]
  5. https://www.youtube.com/watch?v=9-ErVE--vjM[2017,March25]
  6. http://www.mims.com/thailand/drug/info/onbrez%20breezhaler/?type=brief[2017,March25]
  7. http://www.mims.com/thailand/drug/info/ultibro%20breezhaler/?type=brief[2017,March25]
  8. https://www.drugs.com/drug-interactions/indacaterol-index.html?filter=3&generic_only=[2017,March25]