อาหารเช้าป้องกันหลอดเลือดแดงแข็งตัว (ตอนที่ 1)

อาหารเช้าป้องกันหลอดเลือดแดงแข็งตัว-1

      

      เมื่อเร็วๆ นี้ รายงานในวารสารวิทยาลัยแพทย์โรคหัวใจอเมริกาได้เปิดเผยถึงความเสียหายที่เกิดขึ้นกับหลอดเลือดแดงก่อนที่อาการหรือโรคจะเกิดขึ้น ซึ่งนักวิจัยได้นำเสนอข้อมูลที่น่าสนใจไว้ว่า คนที่กินอาหารเช้าหรือกินอาหารที่ไม่ดีในมื้อแรกของวันมีโอกาสถึง 2 เท่าที่จะพัฒนาเป็นโรคหลอดเลือดแดงแข็งตัว ซึ่งอาจนำไปสู่โรคหัวใจขั้นร้ายแรง

      โดยใช้เวลาศึกษาพฤติกรรมการกินอาหารของพนักงานออฟฟิศวัยกลางคนจำนวน 4,000 ราย ในประเทศสเปนเป็นเวลา 6 ปี พร้อมกับใช้วิธีอัลตราซาวนด์สแกนดูไขมันสะสมในเส้นเลือด หรือค้นหาหลักฐานเบื้องต้นบางอย่างเกี่ยวกับโรค

      นักวิจัยพบว่าคน 1 ใน 4 กินอาหารมื้อเช้าที่ให้พลังงานสูง ซึ่งคนส่วนใหญ่ร้อยละ 70 กินอาหารเช้าที่มีพลังงานต่ำ มีเพียงร้อยละ 3 ที่ข้ามการกินอาการมื้อเช้าทั้งหมดหรือกินน้อยมาก โดยคนกลุ่มนี้มีแนวโน้มที่จะกินอย่างไม่ถูกสุขลักษณะมากขึ้น ทำให้เสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจและโรคหลอดเลือดสูง

      ทั้งนี้ผู้ที่ได้รับแคลอรีประจำวันน้อยกว่าร้อยละ 5 ของแคลอรีที่ควรได้ในตอนเช้า โดยเฉลี่ยแล้วจะมีปริมาณไขมันสะสมเพิ่มขึ้นในหลอดเลือดแดงเป็น 2 เท่าเมื่อเทียบกับผู้ที่กินอาหารเช้าที่ให้พลังงานสูง โดยยังไม่นับรวมกับปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ เช่น การสูบบุหรี่มีคอเลสเตอรอลสูง และการไม่ออกกำลังกาย

      ด้านองค์การอนามัยโลกเปิดเผยว่า การค้นพบนี้จะเป็นเครื่องมือสำคัญในการต่อสู้กับโรคหัวใจและโรคทางหลอดเลือด ซึ่งเป็นโรคอันดับ 1 ของโลกที่คร่าชีวิตคนนับสิบๆ ล้านคน ดังนั้น อาหารมื้อเช้าจึงเป็นมื้อที่สำคัญที่สุดในชีวิตประจำวันของทุกคน

      ส่วนกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุขของไทย ได้มีการรณรงค์ให้คนไทยเห็นถึงความสำคัญของอาหารเช้าโดยมีสโลแกนว่า “อาหารเช้ามื้อสำคัญ เพิ่มพลัง สุขภาพดี ห่างโรค” โดยระบุว่า เวลาที่เหมาะสมสำหรับอาหารเช้า คือ เวลา 7.00-9.00 น.เพราะเป็นเวลาที่กระเพาะอาหารเริ่มทำงาน โดยการกินอาหารเช้าจะช่วย

- บำรุงสมอง มีความจำดี มีสมาธิ

- ลดการเกิดโรคเส้นเลือดในสมองและโรคเบาหวาน

- ช่วยควบคุมน้ำหนัก

- ทำให้ร่างกายสดชื่น

      นอกจากนี้ กรมอนามัยยังได้แนะนำว่า ผู้ปกครองควรให้ความสำคัญกับเด็กโดยเฉพาะในช่วงเปิดเทอม เพราะจากตัวเลขพบว่า เด็กอายุ 6-11 ปี ไม่กินอาหารเช้าร้อยละ 30 (โดยเฉพาะเด็กผู้หญิง) และเด็กอายุ 12-14 ปี ไม่กินอาหารเช้าร้อยละ 52

      อาหารเช้า (Breakfast) เป็นอาหารมื้อสำคัญของวัน เพราะเป็นการเริ่มกระบวนการเมตาบอลิซึม (Metabolism) ซึ่งเป็นกระบวนการทางเคมีที่ช่วยให้ร่างกายทำงานได้ตามปกติหรือสามารถรักษาภาวะต่างๆ ภายในร่างกายให้คงที่ ช่วยให้ร่างกายเผาผลาญแคลอรี่ได้ตลอดวัน ทั้งยังให้พลังงานที่จำเป็นกับร่างกายเพื่อช่วยให้มีสมาธิกับงานหรือการเรียน

แหล่งข้อมูล:

  1. งดมื้อเช้าอาจเสี่ยงเป็นโรคหลอดเลือดแดงแข็ง. https://www.thairath.co.th/content/1100105 [2018, February 25].
  2. อาหารเช้ามื้อสำคัญ..เพิ่มพลัง สุขภาพดี ห่างโรค. https://www.moph.go.th/index.php/news/read/113 [2018, February 25].
  3. Breakfast: Is It the Most Important Meal? https://www.webmd.com/food-recipes/most-important-meal#1 [2018, February 25].