อาหารที่ทำให้มีแก๊สมาก (Foods that cause excessive gas)

บทความที่เกี่ยวข้อง
อาหารที่ทำให้มีแก๊สมาก

การมีแก๊ส (Gas) ในกระเพาะอาหารและลำไส้เป็นเรื่องปกติที่ทุกคนต้องมีตั้งแต่เด็กไปจนถึงผู้สูงอายุ แต่การมีแก๊สมากเกินปกติมักก่อให้เกิดอาการท้องอืด แน่นท้อง ท้องเฟ้อ เรอ ผายลม ซึ่งสาเหตุสำคัญของการเกิดมีแก๊สมากผิดปกติเกิดจาก

  • การบริโภคอาหารแต่ละมื้อในปริมาณมากเกินไปจนน้ำย่อยไม่สามารถย่อยได้หมด
  • และจากประเภทของอาหาร ซึ่งประเภทของอาหารนี้อาจแตกต่างกันได้ในแต่ละคน ต้องใช้การสังเกตความสัมพันธ์ระหว่างประเภทอาหารกับอาการด้วยตนเอง

อย่างไรก็ตาม โดยทั่วไปอาหารที่มักทำให้มีแก๊สในกระเพาะอาหารและลำไส้มากผิดปกติ คือ อาหารประเภทที่ร่างกายไม่สามารถย่อยดูดซึมได้หมดในลำไส้เล็ก อาหารจึงผ่านเข้าสู่ลำไส้ใหญ่ซึ่งมีแบคทีเรียหลายชนิดที่จะย่อยอาหารที่เหลือเหล่านี้ด้วยกลไกของการหมักจึงส่งผลให้เกิดเป็นแก๊สขึ้น

ไขมันและโปรตีนสร้างแก๊สได้น้อย แต่จะค้างอยู่ในกระเพาะอาหารได้นาน จึงก่ออาการแน่น อึดอัดท้อง หรืออาหารไม่ย่อย (ธาตุพิการ) ได้

ประเภทอาหารที่ก่อให้เกิดมีแก๊สในกระเพาะอาหารและลำไส้ได้มากคือ อาหารคาร์โบ ไฮเดรต (แป้งและน้ำตาล) และใยอาหาร

  • น้ำตาล ชนิดที่ก่อแก๊สได้มากเช่น
    • น้ำตาล ราฟฟิโนส (Raffinose) ซึ่งพบมากในถั่วชนิดต่างๆรวมทั้งถั่วกินฝัก ผักกะหล่ำ บรอคโคลิ หน่อไม้ฝรั่ง และธัญพืชเต็มเมล็ด
    • น้ำตาลแลคโตส (Lactose) ซึ่งเป็นน้ำตาลในนม ดังนั้นในบางคนเมื่อดื่มนมจึงเกิดอาการท้องอืดแน่น เนื่องจากขาดหรือมีน้ำย่อยน้ำตาลชนิดนี้น้อย (ภาวะขาดหรือพร่องเอน ไซม์แลคเตส) ซึ่งมักพบในคนชาติเอเชีย
    • น้ำตาลฟลุคโตส (Fluctose) ซึ่งมีมากในผลไม้ หัวหอม ลูกแพร์ และข้าวสาลี นอกจากนั้นเรายังใช้เป็นส่วนผสมในน้ำผลไม้กระป๋อง/กล่องหรือในเครื่องดื่มต่างๆ
    • น้ำตาลซอร์บิโทล (Sorbitol) ซึ่งใช้เป็นสารให้ความหวานในอาหารและขนมต่างๆเช่น หมากฝรั่ง ลูกอม และผลไม้ ที่พบปริมาณมากคือ แอปเปิล ลูกพีช ลูกแพร์ และลูกพรุน
  • แป้ง ชนิดก่อแก๊สได้มากเช่น แป้งจากมันฝรั่ง ข้าวโพด ข้าวสาลี ยกเว้นข้าวซึ่งให้แป้งที่ก่อแก๊สได้น้อยมาก
  • ใยอาหาร อาหารที่มีใยอาหารคือ ผัก ผลไม้ และธัญพืชเต็มเมล็ด ซึ่งชนิดที่มีใยอาหาร สูงเช่น ถั่วต่างๆ ถั่วกินฝัก มันเทศ ธัญพืชเต็มเมล็ด ข้าวโอต หัวหอม กล้วย พรุน ผลเบอรรี (Berries) ผลนัท (Nut) ต่างๆโดยเฉพาะอัลมอนด์ แอบเปิล แพร์ อะโวคาโด และเปลือกผลไม้

บรรณานุกรม

  1. Gas in the digestive tract http://digestive.niddk.nih.gov/ddiseases/pubs/gas/ [2015,July18]
Updated 2015, July 25