ลมชัก: อาชีพปลอดภัยของผู้มีอาการชัก

อาชีพปลอดภัยของผู้มีอาการชัก

ผู้ที่มีอาการชักสามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่ระหว่างที่ยังทำการรักษาและอาจเกิดอาการชักได้นั้น การทำกิจกรรมต่าง ๆ รวมทั้งการประกอบอาชีพเป็นสิ่งที่ระมัดระวัง เพราะอาจก่อให้เกิดอันตรายได้ ถ้ามีอาการชักเกิดขึ้นขณะประกอบอาชีพนั้นอยู่ ดังนั้นอาชีพที่ปลอดภัย ต้องเป็นอาชีพที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับเครื่องจักรกล ไม่ใกล้เตาไฟ ไม่ใกล้แหล่งน้ำ หรืออยู่ในที่สูง รวมทั้งต้องไม่อดนอน ไม่เหนื่อยเกินไป มีความเครียดสูง หรือถ้าเกิดอาการชักแล้วจะต้องไม่ส่งผลเสียต่อคนอื่นๆ มาติดตามกันครับว่าชีพที่ปลอดภย ได้แก่อะไรบ้าง

อาชีพปลอดภัยแน่ๆ

  • เจ้าหหน้าที่ธุรการ ครู ทนาย ผู้พิพากษา นักวิจัย นักเขียน นักพูด พนักงานขาย โอเปอเรเตอร์ และอาชีพอื่นๆ ที่ทำงานในพื้นราบ ไม่ใช่ที่สูง
  • อาชีพเหล่านี้ไม่ได้มีความเสี่ยงใด ๆ ถ้าเกิดอาการชักขณะทำงาน และไม่ได้ทำให้คนอื่นๆ ได้รับอันตรายจากเหตุการที่เกิดขึ้น
  • การทำงานจะปลอดภัยที่สุด คือ ต้องทานยากันชักสม่ำเสมอ อย่าขาดยา ถ้าลืมทานยา ก็ต้องรีบทานยาให้ถูกต้องครบถ้วนให้เร็วที่สุด

อาชีพปลอดภัย

  • กลุ่มอาชีพเหล่านี้ อาจเกิดความเสี่ยงในการชักได้ง่ายขึ้น เพราะมีความเครียดและอาจต้องอดนอน เพราะมีการทำงานเป็นกะเวลา และอาจต้องทำงานในกะเวลาดึก แต่ถ้ามีการจัดตารางเวรที่ไม่อดนอนได้ก็ยิ่งดี
  • แพทย์ พยาบาล เภสัชกร นักกายภาพบำบัด เทคนิคการแพทย์ วิศวกร สถาปนิก นักกีฬาที่ไม่ผาดโผน ไม่มีการปะทะ
  • การดูแลตนเองที่ดี ก็เช่นเดียวกัน คือ ต้องทานยากันชักให้ครบ มีผลข้างเคียงของยากันชักน้อยที่สุดหรือไม่มีเลย ถ้ามีอาการเตือนให้รีบหยุดพักกิจกรรมทันที อย่าฝืนทำต่อ

อาชีพที่ต้องระวัง

  • กลุ่มอาชีพเหล่านี้มีโอกาสเกิดอาการชักและเกิดอุบัติเหตุได้สูง เพราะกิจกรรมที่ทำนั้นอยู่ในส่วนที่เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย เช่น เตาไฟ เป็นต้น
  • พ่อครัว แม่ครัวทำอาหาร ช่างไม้ ช่างก่อสร้าง อาชีพที่ต้องอดนอนเป็นประจำ
  • กรณีที่มีอาการชักขณะทำงาน จะต้องระวังการเกิดอุบัติเหตุจากการทำงานนั้นๆ ไว้ให้มาก เช่น ไฟไหม้ น้ำร้อนลวก กรณีเป็นพ่อครัว แม่ครัวประกอบอาหาร หรือตกจากที่สูงระหว่างการทำงานเป็นช่างก่อสร้าง ดังนั้น ถ้าทำงานดังกล่าว ก็ต้องระวังการทำงานในที่สูง ควรมีเครื่องป้องกัน ไม่ขึ้นไปในที่สูงมาก ถ้ามีอาการเตือนให้รีบหยุดงานทันที

อาชีพที่ไม่ควรทำ

  • อาชีพที่ต้องห้ามเลย คือ กลุ่มอาชีพที่ก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้มีอาการชัก และคนที่เกี่ยวข้องมาก หรือถ้าเกิดอันตรายต่อตนเองก็เป็นอันตรายที่รุนแรง หรือการทำงานนั้นๆ เป็นตัวกระตุ้นที่ทำให้เกิดอาการชักได้ง่ายมาก
  • พนักงานขับขี่รถ เรือ เครื่องบิน งานที่เกี่ยวข้องกับเครื่องจักรกล นักกีฬาผาดโผน กีฬาที่มีการปะทรุนแรง เช่น นักมวย จักรยานเสือภูเขา รักบี้ มวยปล้ำ งานปีนป่ายบนที่สูง เช่น พนักงานทำความสะอาดภายนอกอาคารสูง
  • กลุ่มอาชีพนี้ต้องห้ามจริงๆ เพราะอันตรายที่เกิดขึ้นจากการชักส่งผลเสียอย่างรุนแรง

การรู้จักประกอบอาชีพหรือทำกิจกรรมที่ปลอดภัยกับตนเอง และคนอื่นๆ เป็นสิ่งที่ต้องพิจารณาอย่างรอบครอบ ถ้าไม่มั่นใจควรปรึกษาแพทย์ทุกครั้ง