อาการนั่งไม่ติดที่ (Akathisia)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ทำไมเราถึงเห็นบางคน ผลุดลุก ผลุดนั่ง นั่งไม่นิ่ง ขยับตัวเปลี่ยนท่าไปมา เขาเป็นอะไรเหรอ สมาธิสั้นหรือเปล่า ผมเฉลยให้ครับว่า ภาวะผิดปกติที่เราเห็นนั้น เรียกว่า “อาการนั่งไม่ติดที่ (Akathisia)” มารู้จักภาวะผิดปกตินี้กันให้ดี ดีกว่า

อาการนั่งไม่ติดที่คืออะไร?

อาการนั่งไม่ติดที่

อาการนั่งไม่ติดที่ มาจากคำว่า Akathisia ซึ่งเป็นภาษากรีกแปลว่า ไม่เคยนั่ง (Never sit down) ดังนั้น อาการนั่งไม่ติดที่ คือ ความรู้สึกที่ต้องมีการเคลื่อนไหว ไม่สามารถอยู่นิ่ง หรืออยู่กับที่ได้ ร่วมกับมีความกังวล แล้วไม่สามารถควบคุมให้อยู่นิ่งได้ จึงทำให้มีอาการเคลื่อนไหวผิดปกติออกมา

อาการนั่งไม่ติดมีลักษณะอย่างไร?

การเคลื่อนไหวผิดปกติแบบ อาการนั่งไม่ติด นั้นมีหลายลักษณะ ได้แก่

1. การเคลื่อนไหวของขา เท้าผิดปกติ ได้แก่ การขยับเท้าไปมา ไม่อยู่นิ่ง การซอยเท้าไปมา การไขว้เท้า ไขว้ขาไปมา ขยับเท้าไปมาก่อนที่จะลุกขึ้นยืน ไม่สามารถลุกขึ้นยืนได้เลยโดยไม่มีอาการดังกล่าว

2. การเคลื่อนไหวของลำตัว บิดตัวไปมา ไม่อยู่นิ่ง

3. การเคลื่อนไหวของ หัว ลำคอ ผงกหัว กระดกหัว บิด ขยับคอ ไม่อยู่นิ่ง

ทั้งนี้ อาการเคลื่อนไหวผิดปกติหลัก จะเกิดขึ้นที่ ขา เท้า ไม่ค่อยพบที่ ใบหน้า คอ ลำตัว กรณีที่พบที่ใบหน้า อาจเป็นผลข้างเคียงแบบอื่นๆของยารักษาทางจิตเวช เช่น Tardive dyskinesia และที่สำคัญคือ อาการนั่งไม่ติดที่นั้น ผู้ป่วยจะรู้สึกว่ามันต้องมีการเคลื่อนไหว แต่ถ้าเป็น Tardive dyskinesia นั้น ผู้ป่วยจะไม่มีความรู้สึกอยากเคลื่อนไหว หรือต้องเคลื่อนไหว และอาจไม่รู้ด้วยว่ามีการเคลื่อนไหวผิดปกติ

สาเหตุของอาการนั่งไม่ติดที่เกิดจากอะไร?

สาเหตุของอาการนั่งไม่ติดที่ ส่วนใหญ่เกิดจากผลข้างเคียง (อาการไม่พึงประสงค์จากยา)ของยาที่ใช้รักษาอาการด้านสุขภาพจิต เช่น ยารักษาโรคจิต ยาต้านเศร้า ยาแก้อาเจียน ยารักษาภาวะถอนยาเสพติดโคเคน(Cocaine) ยานอนหลับ ยารักษาอาการวิงเวียนศีรษะ ส่วนน้อย พบได้จาก อาจเป็นยารักษาหรือ อาจเป็นจากตัวโรคพาร์กินสัน อาจเป็นยารักษาหรืออาจเป็นจากตัวไข้สมองอักเสบ และบางครั้งพบเกิดในผู้ป่วยที่มีอุบัติเหตุที่ศีรษะซึ่งก็ยังไม่แน่ชัดเช่นกันว่า เกิดจากยาที่รักษาหรือเกิดจากอาการทางสมองเอง

กลไกการเกิดอาการนั่งไม่ติดที่เป็นอย่างไร?

อาการนั่งไม่ติดที่ มีกลไกเกิดจากการลดลงของสารสื่อประสาทในสมอง ที่ชื่อ โดปามีน(Dopamine) และการเพิ่มขึ้นของสารสื่อประสาทที่ชื่อซีโรโตนิน(Serotonin) ส่งผลให้เกิดความผิดปกติในการควบคุมการเคลื่อนไหว

อาการนั่งไม่ติดที่พบบ่อยหรือไม่?

อาการนั่งไม่ติดที่ พบได้บ่อย ประมาณร้อยละ 20-75 (20-75%)ของผู้ใช้ยาดังกล่าวข้างต้นในหัวข้อ “สาเหตฯ” โดยเฉพาะในช่วงสัปดาห์แรกๆของการใช้ยาเหล่านั้น แต่ในบางกรณีก็พบเกิดขึ้นเมื่อใช้ยาเหล่านั้นไปนานมากกว่า 6 เดือนแล้วก็ได้

ใครมีโอกาสปัจจัยเสี่ยงเกิดอาการนั่งไม่ติดที่ได้สูง?

ผู้ที่ใช้ยาดังกล่าวข้างต้นในหัวข้อ “สาเหตุฯ”ในขนาดยาที่สูง และ/หรือที่เพิ่มขนาดยานั้นๆอย่างรวดเร็ว และ/หรือผู้ที่ถอนยาดังกล่าว ยิ่งมีโรคสมองร่วมด้วย เช่น โรคหลอดเลือดสมอง หรือมีโรคอื่นๆร่วมด้วย เช่น โรคไต โรคตับ หรือในผู้สูงอายุ หรือในผู้ใช้ยารักษาทางจิตเวชที่เป็นยาในกลุ่มยารุ่นเก่าที่จะพบอาการนี้ได้บ่อยกว่าในการใช้ยารุ่นใหม่ๆ

แพทย์ให้การวินิจฉัยอาการนั่งไม่ติดที่ได้อย่างไร?

แพทย์ให้การวินิจฉัยอาการนั่งไม่ติดที่จากอาการเคลื่อนไหวผิดปกติที่แพทย์เห็น ร่วมกับมีประวัติการใช้ยาต่างๆดังกล่าวข้างต้นในหัวข้อ”สาเหตุฯ” หรือมีโรคทางสมอง เช่น โรคพาร์กินสัน หรือมีประวัติอุบัติเหตุที่ศีรษะ การตรวจร่างกาย การตรวจร่างกายทางระบบประสาท ทั้งนี้ไม่จำเป็นต้องมีการตรวจเลือด หรือตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ หรือเอมอาร์ไอ สมองเพิ่มเติม ยกเว้นกรณีที่แพทย์สงสัยว่าจะมีรอยโรคในสมองจากสาเหตุอื่น เช่น กรณีมีอาการผิดปกติทางระบบประสาทอย่างอื่นๆที่ไม่ใช่อาการนั่งไม่ติดที่ร่วมด้วย เช่นอาการจาก เนื้องอกสมอง หรือจากมีเลือดออกในกะโหลกศีรษะ แพทย์จึงจะส่งตรวจภาพสมองเพิ่มเติม

ผู้มีอาการนั่งไม่ติดที่เมื่อไหร่ที่ควรมาพบแพทย์?

ผู้ป่วยควรมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลเสมอ เมื่อมีอาการผิดปกติที่รบกวนการดำรงชีวิต หรือเมื่อสังเกตอาการแล้วพบว่าอาการนั้นมีความรุนแรงมากขึ้น ไม่มีแนวโน้มที่อาการจะเบาลงเลย โดยควรกลับไปพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลที่ให้การรักษาด้วยยาต่างๆ โดยเฉพาะยารักษาทางจิตเวช ที่สงสัยว่าจะเป็นต้นเหตุของการเกิดอาการผิดปกติดังกล่าว

แพทย์ให้การรักษาอาการนั่งไม่ติดที่อย่างไร?

การรักษาอาการนั่งไม่ติดที่ ที่สำคัญ คือ การหยุดหรือลดยาที่เป็นสาเหตุที่ผู้ป่วยได้รับ แต่ถ้าเกิดจากการถอนยา แพทย์จะค่อยๆเพิ่มขนาดยาที่เคยได้รับ อย่างไรก็ตาม ถ้าอาการนั่งไม่ติดที่ไม่ดีขึ้นและจำเป็นต้องใช้ยารักษาอาการทางจิตเวช แพทย์อาจพิจารณาเปลี่ยนยารักษาทางจิตเวชเป็นยารุ่นใหม่ เพราะจะมีผลข้างเคียงจากยาต่ำกว่ายารุ่นเก่า หรือใช้ยาในกลุ่มยาต้านโคลินเนอจิก (Anticholinergic drug) ในการรักษาอาการนั่งไม่ติดที่ได้ ทั้งนี้ขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์

การรักษาอาการนั่งไม่ติดที่ได้ผลดีหรือไม่?

ผลการรักษาอาการนั่งไม่ติดที่(การพยากรณ์โรค)ส่วนใหญ่รักษาได้ผลดี เมื่อลดยา หยุดยา หรือปรับเปลี่ยนยา ที่เป็นสาเหตุ อาการนี้ก็ดีขึ้น

ดูแลตนเองอย่างไร?

ผู้ป่วยอาการนั่งไม่ติดที่ควรดูแลตนเอง ที่สำคัญ ได้แก่

  • ปฏิบัติตาม แพทย์ พยาบาล แนะนำ
  • กินยาต่างๆที่แพทย์สั่ง ให้ถูกต้อง ครบถ้วน ไม่ปรับขนาดยา(ลด หรือเพิ่ม)เอง ไม่หยุดยาเอง
  • ไม่ซื้อยาต่างๆใช้เอง โดยไม่ปรึกษาแพทย์ เภสัชกรก่อน
  • ต้องแจ้ง แพทย์ พยาบาล เภสัชกร ทุกครั้งว่า ตนเองเป็นโรคอะไรอยู่ และกำลังใช้ยาอะไรอยู่
  • พบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามแพทย์นัด

ผู้ป่วยควรมาก่อนนัดเมื่อไหร่?

ผู้ป่วยอาการนั่งไม่ติดที่ ควรมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลก่อนนัด เมื่อ

  • อาการนั่งไม่ติดที่ หรือ อาการผิดปกติต่างๆที่รุนแรง มากขึ้น
  • มีอาการทางจิตมากขึ้น
  • มีไข้ขึ้นสูง ตัวแข็งเกร็ง หรือสงสัยมีผลข้างเคียงอื่นๆที่รุนแรงของยาต่างๆที่แพทย์สั่ง
  • แพ้ยา เช่น มีผื่นขึ้นทั้งตัว หายใจลำบาก อาการเช่นนี้ ต้องรีบมาโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน

ญาติควรมีส่วนในการดูแลผู้ป่วยอย่างไร?

การดูแลผู้ป่วยอาการนั่งไม่ติดที่ของญาติ ที่สำคัญคือ การให้กำลังใจผู้ป่วย เพราะผู้ป่วยมีอาการทางสุขภาพจิตอยู่แล้ว ร่วมกับการดูแลเรื่องการทานยาที่ใช้รักษาโรค/ที่แพทย์สั่งให้สม่ำเสมอ และหมั่นสังเกตอาการผิดปกติต่างๆที่อาจเป็นผลข้างเคียงของยาที่ผู้ป่วยรับประทาน เพื่อรีบนำผู้ป่วยพบแพทย์/มาโรงพยาบาลก่อนแพทย์นัด

ป้องกันอาการนั่งไม่ติดที่ได้อย่างไร?

อาการนั่งไม่ติดที่ สามารถป้องกันได้โดยการ หลีกเลี่ยงการใช้ยาในกลุ่มที่เป็นสาเหตุที่ได้กล่าวในหัวข้อ”สาเหตุฯ” แต่ถ้าจำเป็นต้องใช้ยาเหล่านั้น ผู้ป่วยต้องใช้ยาเหล่านั้นตามแพทย์สั่งเท่านั้น ห้ามซื้อยามาใช้เอง ห้ามปรับขนาดยาเอง รวมถึงห้ามหยุดยาเอง