อัลเดสลูคิน (Aldesleukin)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาอัลเดสลูคิน (Aldesleukin หรือ Interleukin 2 ย่อว่า IL-2) เป็นยาที่ใช้บำบัดรักษาโรคมะเร็งผิวหนัง และโรคมะเร็งไต โดยมะเร็งดังกล่าวต้องอยู่ในระยะที่แพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่นๆของร่างกาย(ระยะที่ 4) ตัวยานี้จะช่วยเสริมฤทธิ์กับภูมิต้านทาน/ภูมิคุ้มกัน(ภูมิคุ้มกันต้านทานโรค)ของร่างกายในการต่อต้านการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งดังกล่าว ผู้ป่วยมะเร็งฯที่จะสามารถรับการรักษาด้วยยาอัลเดสลูคินได้ จะต้องมีสภาพของหัวใจ และปอด ทำงานได้แข็งแรงในเกณฑ์ปกติ และไม่อยู่ในภาวะติดเชื้อ

ยาอัลเดสลูคิน สามารถก่อให้เกิดภาวะ Capillary leak syndrome ซึ่งจะมีอาการพลาสมา และเม็ดเลือดรั่วออกจากหลอดเลือดและซึมไปตามโพรงช่องว่างของร่างกายรวมถึงในกล้ามเนื้อลาย เป็นเหตุให้เกิดอาการบวมตามร่างกาย วิงเวียนศีรษะอย่างรุนแรง เป็นลม หัวใจเต้นผิดปกติ แน่นหน้าอก อึดอัดหายใจไม่ออก/หายใจลำบาก อารมณ์แปรปรวน ปวดท้องอย่างรุนแรง อุจจาระจะพบว่ามีสีดำ(มีเลือดออกในทางเดินอาหาร)

ดังนั้นก่อนการใช้ยาอัลเดสลูคิน แพทย์จะสัมภาษณ์สอบถามผู้ป่วยว่ามีสภาพร่างกายเหมาะสมต่อการใช้ยาอัลเดสลูคินหรือไม่ เงื่อนไขทางสุขภาพของผู้ป่วยที่เหมาะสมจะใช้ยานี้หรือไม่นั้น ยังมีกรณีอื่นๆที่ต้องพิจารณาเพิ่มเติมดังนี้ เช่น

  • ต้องไม่เคยมีประวัติแพ้ยาชนิดนี้มาก่อน
  • ต้องไม่อยู่ในภาวะที่ได้รับการปลูกถ่ายอวัยวะจากผู้อื่น
  • ต้องไม่ใช่ผู้ที่มีภาวะไตล้มเหลว มีประวัติเป็นโรคลมชัก และ/หรือ เป็นโรคแผลในกระเพาะอาหารและลำไส้ที่มีภาวะเลือดออกที่ต้องได้รับการรักษาด้วยการผ่าตัด
  • สตรีตั้งครรภ์ และสตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร จะต้องให้แพทย์เป็นผู้พิจารณาความ เหมาะสมของการใช้ยานี้กับผู้ป่วยกลุ่มนี้เป็นกรณีไป เพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ผู้ป่วยมากกว่าโทษ

รูปแบบยาแผนปัจจุบันของยาอัลเดสลูคิน จะเป็นยาฉีด และมีใช้เฉพาะภายในสถานพยาบาลเท่านั้น กรณีที่ได้รับยานี้ โดยฉีดเข้าทางหลอดเลือดดำ ร่างกายจะต้องใช้เวลาประมาณ 85 นาทีเพื่อกำจัดยานี้ออกจากกระแสเลือด แต่หากผู้ป่วยได้รับยานี้โดยการฉีดเข้าผิวหนัง จะต้องใช้เวลาประมาณ 5.3 ชั่วโมงในการกำจัดยานี้ออกจากร่างกาย

ระหว่างที่ให้ยาอัลเดสลูคิน ผู้ป่วยจะต้องเฝ้าระวังเรื่องสัญญาณชีพต่างๆของร่างกายร่วมด้วย เช่น ความดันโลหิต และแพทย์จะมีการตรวจการทำงานของหัวใจเป็นระยะๆ เช่น การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ(ECG)

นอกจากนี้ ยังมีอาการข้างเคียง(ผลข้างเคียง)ที่อาจพบได้จากการใช้ยาอัลเดสลูคิน เช่น มีอาการวิตกกังวล วิงเวียน ไอ เกิดการติดเชื้อ เบื่ออาหาร อาการปวดตามร่างกาย

อนึ่ง หากผู้ป่วยมีคำถามเพิ่มเติมของการใช้ยาอัลเดสลูคิน สามารถสอบถามได้จากแพทย์ผู้ที่ทำการักษา หรือเภสัชกรในสถานพยาบาลนั้นๆ

อัลเดสลูคินมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?

อัลเดสลูคิน

ยาอัลเดสลูคินมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้เพื่อ รักษามะเร็งผิวหนัง และมะเร็งไต ในระยะลุกลามแพร่กระจายไปยังอวัยวะต่างๆ กล่าวคือ เป็นโรคมะเร็งในระยะที่ 4

อัลเดสลูคินมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยาอัลเดสลูคินเป็นยาที่เกิดจากการดัดแปลงโครงสร้างของสารโปรตีนที่ชื่อว่า Interleukin-2 โดยใช้เทคนิคชั้นสูงที่เรียกว่า Recombination DNA technology ทำให้ยานี้มีกลไกการออกฤทธิ์ที่สนับสนุนการแบ่งเซลล์และเพิ่มปริมาณของเซลล์ร่างกายชนิด T cells และ B cells ซึ่งทำหน้าที่เป็นภูมิต้านทานของร่างกายที่จะช่วยกำจัดและ/หรือชะลอการเจริญเติบโตของเซลล์ มะเร็งผิวหนัง และมะเร็งไต ในโรคระยะที่4 จากกลไกเหล่านี้ จึงส่งผลให้เกิดฤทธิ์ต่อต้านเซลล์มะเร็งดังกล่าวตามสรรพคุณ

อัลเดสลูคินมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาอัลเดสลูคินมีรูปแบบการจัดจำหน่ายเป็น ยาฉีดขนาด 18 ล้านยูนิตสากล/ขวด

อัลเดสลูคินมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?

ยาอัลเดสลูคินมีขนาดการบริหารยา/ใช้ยา เช่น

  • ผู้ใหญ่: หยดยาเข้าหลอดเลือดดำขนาด 18 ล้านยูนิตสากล(IU, International unit)ต่อพื้นที่ 1 ตารางเมตรของผิวหนังทั่วร่างกาย(Body surface area ย่อว่า BSA)ภายใน 24 ชั่วโมงติดต่อกัน 5 วัน นับเป็นรอบที่ 1 เว้นพักการให้ยาอีก 2-6 วัน แล้วให้ยารอบที่ 2 อีก 5 วัน
  • เด็ก: ยังไม่มีข้อมูลทางคลินิกที่ชัดเจน ในการใช้ยานี้กับผู้ป่วยเด็ก การใช้ยานี้ในเด็กจึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีๆไป

อนึ่ง: ก่อนได้รับยาในรอบที่ 2 อาจเว้นพักการให้ยาได้นานประมาณ 3 สัปดาห์ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษา และผู้ป่วยอาจได้รับยานี้ถึงประมาณ 4 รอบ ทั้งนี้ขึ้นอยู่ดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาที่จะประเมินรอยโรคผู้ป่วยจากการตอบสนองต่อยานี้

*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาอัลเดสลูคิน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆหรือไม่ อย่างเช่น โรคหัวใจ โรคปอด รวมถึงกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาอัลเดสลูคินอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้นหรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรี ควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนม หรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมมารับยาตามที่แพทย์นัดควรทำอย่างไร?

หากลืมมารับยาอัลเดสลูคินตามที่แพทย์นัด ให้รีบติดต่อกับแพทย์/พยาบาลที่หน่วยงานที่ให้การรักษาผู้ป่วย เพื่อขอคำแนะนำและเพื่อนัดหมายใหม่ในการมารับยานี้

อัลเดสลูคินมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาอัลเดสลูคินสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์(ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกาย ดังนี้ เช่น

  • ผลต่อระบบภูมิคุ้มกันต้านทานโรค: เช่น ร่างกายสร้างแอนตี้บอดี้/สารภูมิต้านทานต่อยานี้ขึ้นมา (Anti-aldesleukin antibodies) อาการ เช่น มีไข้ ปวดกล้ามเนื้อทั่วตัว
  • ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด: เช่น ความดันโลหิตต่ำ หัวใจ/ชีพจรเต้นเร็วหรือเต้นช้า เจ็บหน้าอก หลอดเลือดต่างๆเกิดการขยายตัว หัวใจล้มเหลว ค่า ECG เปลี่ยนไป
  • ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น ท้องเสียหรือท้องผูก อาเจียน คลื่นไส้ กระเพาะอาหารอักเสบ ปวดท้อง เลือดออกในทางเดินอาหาร
  • ผลต่อระบบทางเดินหายใจ: เช่น มีน้ำมูก, มีอาการทางปอดอย่างเช่น ปอดบวม หอบหืด และอาจหยุดหายใจได้
  • ผลต่อผิวหนัง: เช่น มีผื่นคัน ลมพิษ เหงื่อออกมาก
  • ผลต่อตับ: เช่น มีค่าบิลิรูบินในเลือดสูง ระดับเอนไซม์การทำงานของตับชนิด SGOT (Serum glutamic-oxaloacetic transaminase) ในเลือดเพิ่มสูงขึ้น
  • ผลต่อระบบเลือด: เช่น เกิดโลหิตจาง มีภาวะ Thrombocytopenia(เกล็ดเลือดต่ำ) Leukopenia(เม็ดเลือดขาวต่ำ) Eosinophilia(เม็ดเลือดขาวชนิด Eosinophil สูง)
  • ผลต่อสภาพจิตใจ: เช่น รู้สึกสับสน ซึมเศร้า วิตกกังวล นอนไม่หลับ คิดทำร้ายตัวเอง
  • ผลต่อระบบประสาท: เช่น ง่วงนอน วิงเวียน ปวดศีรษะ ความรู้สึกสัมผัสเพี้ยน เกิดอาการชัก เยื่อหุ้มสมองอักเสบ(Meningitis) สมองบวม
  • ผลต่อกล้ามเนื้อและข้อ: เช่น กล้ามเนื้ออ่อนแรง ข้ออักเสบ กล้ามเนื้อลายสลาย
  • ผลต่อตา: เช่น เยื่อตาอักเสบ

มีข้อควรระวังการใช้อัลเดสลูคินอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาอัลเดสลูคิน เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ที่มีอวัยวะปอดและหัวใจทำงานผิดปกติ
  • ห้ามใช้ยานี้กับสตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร เด็ก และผู้สูงอายุ โดยไม่มีคำสั่งแพทย์
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ที่มีภาวะติดเชื้อ
  • ระหว่างใช้ยานี้ ระวังการเกิดภาวะ Capillary leak syndrome
  • หลังจากได้รับยานี้แล้ว เมื่อเกิดอาการวิงเวียน ให้หลีกเลี่ยงการขับขี่ยวดยานพาหนะใดๆ และ/หรือการทำงานกับเครื่องจักร ด้วยจะเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย
  • มารับยานี้ตามที่ แพทย์ พยาบาล นัดทุกครั้ง
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาอัลเดสลูคินด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด อาหารเสริม และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกร ประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ

อัลเดสลูคินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาอัลเดสลูคินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาอัลเดสลูคินร่วมกับยากลุ่มเบต้า-บล็อกเกอร์(Beta blocker) หรือยาลดความดันโลหิตสูงชนิดอื่นๆ ด้วยจะก่อให้เกิดภาวะความดันโลหิตต่ำตามมา
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาอัลเดสลูคินร่วมกับยา Glucocorticoids ด้วยจะทำให้ประสิทธิภาพของยาอัลเดสลูคินลดน้อยลงไป
  • การใช้ยาอัลเดสลูคินร่วมกับยา Bupropion อาจกระตุ้นให้เกิดการชักได้ง่ายขึ้น หากไม่มีความจำเป็นใดๆ ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน

ควรเก็บรักษาอัลเดสลูคินอย่างไร?

ควรเก็บยาอัลเดสลูคินในอุณหภูมิ 2- 8 องศาเซลเซียส(Celsius) ไม่เก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อนและความชื้น และเก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง

อนึ่ง ตัวยานี้ที่เตรียมเป็นสารละลายแล้ว จะมีความคงตัวนานประมาณ 48 ชั่วโมง โดยต้องเก็บยานี้ใน ช่วงอุณหภูมิ 2- 8 องศาเซลเซียส และห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น เช่นกัน

อัลเดสลูคินมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาอัลเดสลูคิน ที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
PROLEUKIN (โพรลูคิน)Prometheus Laboratories Inc

บรรณานุกรม

  1. https://www.drugs.com/dosage/aldesleukin.html [2016,Sept24]
  2. https://en.wikipedia.org/wiki/Interleukin_2 [2016,Sept24]
  3. http://www.mims.com/thailand/drug/info/aldesleukin/?type=brief&mtype=generic [2016,Sept24]
  4. http://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/systemic-capillary-leak-syndrome/basics/definition/con-20036701 [2016,Sept24]
  5. http://www.accessdata.fda.gov/drugsatfda_docs/label/2012/103293s5130lbl.pdf [2016,Sept24]