อัลปราโซแลม – ยาเสียสาว (ตอนที่ 1)

นายแพทย์บุญชัย สมบูรณ์สุข เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้มีการแก้ไขกฎหมายโดยออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) จำนวน 2 ฉบับ คือ

  1. ประกาศ สธ. เรื่อง เปลี่ยนแปลงประเภทวัตถุออกฤทธิ์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2555 โดยมีสาระสำคัญ คือ การยกระดับการควบคุมอัลปราโซแลม (Alprazolam) จากวัตถุออกฤทธิ์ประเภท 4 ตาม พ.ร.บ.วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518 เป็นประเภท 2 ซึ่งห้ามผลิต ขาย นำเข้า ส่งออก ยกเว้น สธ. หรือผู้ได้รับมอบหมายจาก สธ. หากฝ่าฝืนมีโทษจำคุก 5 - 20 ปี และปรับตั้งแต่ 100,000 - 400,000 บาท สำหรับการมีไว้ในครอบครองจะต้องขอรับใบอนุญาตให้มีไว้ในครอบครองหรือใช้ประโยชน์ซึ่งวัตถุออกฤทธิ์ด้วย
  2. ประกาศ สธ. เรื่อง กำหนดชื่อและปริมาณวัตถุออกฤทธิ์ที่ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ผู้ประกอบโรคศิลปะแผนปัจจุบันชั้นหนึ่งในสาขาทันตกรรม หรือผู้ประกอบการบำบัดโรคสัตว์ชั้นหนึ่ง มีไว้ในครอบครองได้โดยไม่ต้องขออนุญาต พ.ศ. 2555 โดยมีสาระสำคัญคือ เป็นประกาศที่ตัดรายการอัลปราโซแลม ออก ทำให้ผู้ประกอบวิชาชีพทุกรายต้องขอรับใบอนุญาตให้มีไว้ในครอบครอง หรือใช้ประโยชน์ซึ่งวัตถุออกฤทธิ์ จึงจะมีอัลปราโซแลมไว้ในครอบครองได้

โดยประกาศทั้ง 2 ฉบับนี้ ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเล่ม 129 ตอนพิเศษ 191ง เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2555 ซึ่งจะมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2556 เป็นต้นไป

นพ. บุญชัย กล่าวด้วยว่า สาเหตุที่ต้องยกระดับอัลปราโซแลม ซึ่งเป็นวัตถุออกฤทธิ์ที่มีประโยชน์ช่วยบรรเทา หรือรักษาอาการวิตกกังวลและอาการตื่นตระหนก เป็นประเภท 2 นั้น เนื่องจากมีการนำไปใช้ในทางที่ผิดเป็นจำนวนมาก เช่น นำไปเสพร่วมกับยาน้ำแก้ไอ น้ำใบกระท่อมต้ม ฯลฯ หรือที่รู้จักกันในหมู่นักเสพว่า “สี่คูณร้อย”

นอกจากนี้ ยังนำไปใช้ก่ออาชญากรรม โดยการมอมยารูดทรัพย์ หรือล่วงละเมิดทางเพศนักท่องเที่ยวตามสถานเริงรมย์ต่างๆ ซึ่งในบางรายถึงกับเสียชีวิต ขณะเดียวกัน ก็มีคดีการจับกุมผู้กระทำความผิดที่เกี่ยวกับยาตัวนี้เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ แสดงให้เห็นว่าสถานการณ์มีความรุนแรงเพิ่มขึ้นมาก

อัลปราโซแลม จัดเป็นยาอยู่ในกลุ่มยานอนหลับ และยาคลายเครียด (Benzodiazepines) ใช้เพื่อช่วยลดอาการวิตกกังวล (Anxiety disorders) หรือโรคตื่นตระหนก (Panic disorder) และอาการคลื่นไส้ (Nausea) อันเนื่องมาจากการรักษาด้วยการให้คีโม (Chemotherapy) องค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา (Food and Drug Administration : FDA) แนะนำให้แพทย์ควรทำการประเมินผลการใช้ยานี้เป็นระยะๆ

อัลปราโซแลมอยู่ในรูปที่เป็นทั้งยาเม็ด (Tablet) ยาเม็ดชนิดออกฤทธิ์นาน (Extended-release tablet) ยาเม็ดชนิดแตกตัวเร็วในช่องปาก (Orally disintegrating tablet) ยาน้ำชนิดเข้มข้น (Concentrated solution) โดยยาเม็ด ยาเม็ดชนิดออกฤทธิ์นาน ยาเม็ดชนิดแตกตัวเร็วในช่องปาก มักใช้วันละ 2 - 4 ครั้งต่อวัน ในขณะที่ยาน้ำชนิดเข้มข้นมักใช้วันละครั้งตอนเช้า

แหล่งข้อมูล

  1. อย.ย้ำคืน “ยาเสียสาว” 17 มิ.ย.นี้ พร้อมสั่งห้ามผลิต-ขาย-นำเข้า-ส่งออกhttp://manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9560000015686 [2013, March 18].
  2. Alprazolam. http://www.nlm.nih.gov/medlineplus/druginfo/meds/a684001.html. [2013, March 18].
  3. Alprazolam. http://en.wikipedia.org/wiki/Alprazolam [2013, March 18].