อัมพาต 360 องศา: นอนรักษาในโรงพยาบาลนานเท่าใด

อัมพาต  360 องศา

การรักษาโรคอัมพาต แบ่งเป็น 4 ระยะคือ

  1. ระยะเฉียบพลัน คือในช่วง 4-5 ชั่วโมงแรก
  2. ระยะแรก คือในช่วง 3-7 วันแรก
  3. ระยะพักฟื้น คือในช่วง 7-21 วันแรก
  4. ระยะยาว คือภายหลัง 21 วันแรก

การดูแลรักษาในแต่ละครั้งก็มีการรักษาแตกต่างกัน มีวัตถุประสงค์และเป้าหมายแตกต่างกัน ผมขอเล่ารายละเอียด ดังนี้

  1. ระยะเฉียบพลันช่วง 4-5 ชั่วโมงแรก หรือ 270 นาทีชีวิต เป็นการรักษาในช่วงแรกสุดของการเกิดอาการอัมพาต มีวัตถุประสงค์คือ ให้เนื้อสมองฟื้นคืนสภาพให้มากที่สุด การรักษาประกอบด้วย การส่งตรวจเอกซ์เรย์คอมพิวเตอร์สมอง ถ้าพบว่าเป็นอัมพาตชนิดสมองขาดเลือดเฉียบพลัน ก็จะให้การรักษาด้วยยาละลายลิ่มเลือดและเคลื่อนย้ายผู้ป่วยเข้าสู่หอผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง
  2. ระยะแรกในช่วง 3-7 วันแรก ภายหลังจากพ้นช่วงระยะเฉียบพลันแล้ว ผู้ป่วยจำเป็นต้องรักษาในหอผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น สำลักอาหาร สมองบวม ฝึกการดูแลในระยะยาว
  3. ระยะฟักฟื้นในช่วง 3 สัปดาห์แรก กรณีผู้ป่วยที่ยังช่วงเหลือตนเองไม่ได้ จำเป็นต้องทำกายภาพบำบัดฟื้นฟูสมรรถภาพ ป้องกันภาวะแทรกซ้อน เช่น แผลกดทับ ไหล่ติด ติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ
  4. ระยะยาวคือ ภายหลัง 3 สัปดาห์แรกไปแล้ว เป็นการฟื้นฟูสมรรถภาพอย่างต่อเนื่อง และป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำของโรค

ผู้ป่วยและญาติส่วนใหญ่ยังมีความเข้าใจไม่ถูกต้องเกี่ยวกับการนอนรักษาในโรงพยาบาล เข้าใจว่าการนอนรักษาในโรงพยาบาลต้องนอนรักษาจนหายดี การนอนโรงพยาบาลควรนอนเท่าที่จำเป็นเท่านั้น เพราะการนอนในโรงพยาบาลนานๆ จะมีข้อเสีย เช่น ภาวะซึมเศร้า การติดเชื้อในโรงพยาบาล ข้อดีของการกลับบ้านคือ การปรับตัวจะเกิดได้อย่างรวดเร็ว ไม่เกิดการติดเชื้อในโรงพยาบาลการ สดชื่นกว่าอยู่ในโรงพยาบาล ผมเห็นหลายต่อหลายครอบครัวไม่ยอมรับผู้ป่วยอัมพาตกลับบ้าน ฝากให้โรงพยาบาลดูแล เหมือนฝากศูนย์เลี้ยงเด็กกลางวันดูแลผู้ป่วยต่อ ทั้งๆที่ผู้ป่วยเหล่านั้นก็คือ คุณพ่อ คุณแม่ของเรา โปรดเห็นใจท่านด้วยครับ ท่านอยากกลับบ้านครับ